อิทธิพล ‘มัลติคลาวด์’ พลิกโฉมองค์กรยุคดิจิทัล

อิทธิพล ‘มัลติคลาวด์’ พลิกโฉมองค์กรยุคดิจิทัล

การใช้ “คลาวด์” เริ่มกลายเป็นสิ่งเดียวกับการสร้างความคล่องตัวและประสิทธิภาพทางธุรกิจสำหรับองค์กรยุคใหม่....

Keypoints :

  • โควิดเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้องค์กรต่างๆ หันมาสนใจและลงทุนเทคโนโลยีคลาวด์อย่างมหาศาล
  • ตัวขับเคลื่อนสองอันดับแรกต่อกลยุทธ์มัลติคลาวด์ในองค์กร คือ อธิปไตยทางข้อมูล และการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน

ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าจะได้เห็นเทรนด์การปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์เกิดขึ้นบ้างแล้วในอดีต

ทว่าองค์กรกว่า 90% ในเอเชียแปซิฟิกต่างเห็นพ้องว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้องค์กรต่างๆ หันมาสนใจและลงทุนกับเทคโนโลยีคลาวด์อย่างมหาศาล  อิทธิพล ‘มัลติคลาวด์’ พลิกโฉมองค์กรยุคดิจิทัล เมื่อองค์กรต่างๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของการทำงานและการร่วมมือระหว่างพันธมิตรและคู่ค้าธุรกิจทางไกล พวกเขาจึงเลือกใช้ระบบมัลติคลาวด์ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและการปรับขนาดการใช้งานให้ตอบรับกับสภาพความเป็นจริงใหม่นี้

ตอบโจทย์ ‘ความฉับไวทางธุรกิจ’

451 Research องค์กรวิจัยภายใต้ S&P Global Market Intelligence ซึ่งดำเนินงานโดยออราเคิล ชี้ว่า ลูกค้าวิสาหกิจต่างต้องการผู้ให้บริการแบบ “มัลติคลาวด์” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการระดับองค์กร ซึ่งทำให้มัลติคลาวด์คือสภาพความเป็นจริงของเทคโนโลยีระดับองค์กรของวันนี้

ออราเคิลระบุว่า แนวคิดการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จได้หมดไปจากการมาถึงของระบบคลาวด์ และมัลติคลาวด์คือสภาพการณ์ของเทคโนโลยีระดับวิสาหกิจในปัจจุบัน

เพราะองค์กรต่าง ๆ ต้องการส่วนผสมที่ลงตัวของโซลูชันและความสามารถที่หลากหลายในการทำงานให้มีประสิทธิภาพโดยวันนี้คือยุคของมัลติคลาวด์ 

องค์กรวิสาหกิจต่างๆ เลือกโมเดลนี้เพราะเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจหลายประเภทและตอบโจทย์ความต้องการในการดำเนินงานด้านต่างๆ ทั้งความยืดหยุ่นฉับไวทางธุรกิจหรือการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีที่สุดอยู่เสมอ

‘มัลติคลาวด์’ คือ คำตอบ

จากการสำรวจพบว่า 97% ขององค์กรวิสาหกิจในเอเชียแปซิฟิกที่ทำการสำรวจ กำลังใช้หรือวางแผนที่จะใช้ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์อย่างน้อย 2 ราย และ 35% กำลังใช้งาน 4 รายขึ้นไป

ขณะที่ 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกรายงานว่า พวกเขากำลังใช้หรือวางแผนที่จะใช้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันระบบคลาวด์อย่างน้อย 2 ราย (Software-as-a-Service) โดยมากกว่า 48% ใช้แอปพลิเคชันระบบคลาวด์จากผู้ให้บริการ 5 รายขึ้นไป

กลยุทธ์มัลติคลาวด์นี้ช่วยให้แผนกไอทีสามารถตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีในรูปแบบเฉพาะสำหรับทีมงานในแผนกต่าง ๆ ขององค์กรได้

‘อธิปไตยข้อมูล’ ขับเคลื่อน

ข้อมูลระบุว่า ตัวขับเคลื่อนสองอันดับแรกต่อกลยุทธ์มัลติคลาวด์ในองค์กร ได้แก่ อธิปไตยทางข้อมูล (44%) และการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน (40%)

ขณะที่ ตัวขับเคลื่อนอื่นๆ ของกลยุทธ์มัลติคลาวด์ ได้แก่ ความคล่องตัวทางธุรกิจและนวัตกรรม (32%) บริการและแอปพลิเคชันคลาวด์ที่ดีที่สุด (27%) และความวิตกกังวลในการล็อกอินของผู้ให้บริการคลาวด์ (26%)

ที่ผ่านมา กลยุทธ์มัลติคลาวด์ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมสถานที่และวิธีการจัดเก็บ และใช้ข้อมูลของตนได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจต่าง ๆ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายของการดำเนินการบนคลาวด์ได้ ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการที่พวกเขาใช้จากผู้ให้บริการต่าง ๆ

ทางเลือก ‘ไอทียุคใหม่’

ออราเคิลเผยว่า องค์กรวิสาหกิจกำลังวางแผนกลยุทธ์มัลติคลาวด์เชิงรุกเพื่ออนาคต โดยความซ้ำซ้อนของข้อมูล (56%) เป็นยูสเคสในอนาคตที่ถูกคาดการณ์ไว้มากที่สุด ตามด้วยการเคลื่อนย้ายข้อมูล (52%) และการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนในคลาวด์สาธารณะ (45%)

โดยแผนกไอทียังวางแผนที่จะใช้กลยุทธ์มัลติคลาวด์เพื่อลดความเสี่ยงของฝ่ายไอทีในภาพรวม (41%) และการขยายขอบเขตหรือการนำเสนอบริการทั่วโลก (44%)

สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าแผนกไอทีกำลังวางแผนกลยุทธ์มัลติคลาวด์แสดงให้เห็นว่า พวกเขามองว่ามัลติคลาวด์เป็นวิธีการตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีที่ดีกว่า ไม่ใช่เป็นแค่แนวทางการรับมือกับวิกฤติการณ์เท่านั้น

ส่วนของลูกค้าในประเทศไทย ขณะนี้กำลังเริ่มต้นใช้งานผู้ให้บริการคลาวด์รายใหม่เพื่อเร่งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลให้ทันการณ์

พวกเขาต้องการย้ายภาระงานหลักในปัจจุบันเข้าสู่ระบบคลาวด์ให้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนหรือความเสี่ยงที่จะต้องทำข้อมูลซ้ำ หลังจากนั้นจึงจะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยแมชีนเลิร์นนิงและเอไอ