กฎหมายเพื่อผู้บริโภคในโลกธุรกิจแพลตฟอร์ม | ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

กฎหมายเพื่อผู้บริโภคในโลกธุรกิจแพลตฟอร์ม | ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

การมีวันสำคัญอย่างวันคุ้มครองผู้บริโภค ตอกย้ำให้เราตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อขายสินค้าและบริการ

ทุกปีมี “วันคุ้มครองผู้บริโภค” สองวันคือ วันคุ้มครองผู้บริโภคสากล (15 มี.ค.) และวันคุ้มครองผู้บริโภคของไทย (30 เม.ย.) เท่ากับว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทย์ร่วมที่ทั่วโลกและไทยต่างให้ความสำคัญ

ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเจอโจทย์เดียวกัน คือความท้าทายในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ กฎระเบียบในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาไปพร้อมกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce)

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตต่อเนื่อง และมาพร้อมกับกรณีฉ้อโกง ฉกฉวยโอกาส ไปจนถึงการปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์จำนวนมาก

การร้องเรียนเกิดขึ้นต่อเนื่องและกฎหมายไทยยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคจากความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากการทำผิดของร้านค้าและผู้ใช้บริการ

อาทิ ได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณาและสินค้าชำรุด หรือการเผยแพร่ข่าวปลอมในโซเชียลมีเดีย และความเสี่ยงที่เกิดจากการกระทำของแพลตฟอร์ม 

เช่น การออกแบบอินเตอร์เฟสที่ชี้นำให้ซื้อสินค้าราคาแพงขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรืออัลกอริทึมแนะนำสินค้าที่ไม่ต้องการ (Dark pattern) รวมถึงการที่แพลตฟอร์มไม่มีการตรวจสอบสินค้าบนแพลตฟอร์ม

หรือแพลตฟอร์มมีการโฆษณาสินค้าแบบเจาะกลุ่มที่สร้างความเสี่ยงแก่เด็กหรือผู้บริโภคในกลุ่มเสี่ยง

แม้ประเทศไทยจะมีการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แต่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจการผลิตและขายสินค้าที่วางขายร้านทั่วไป ทำให้ไม่มีความชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจแพลตฟอร์มตัวกลาง

กฎหมายเพื่อผู้บริโภคในโลกธุรกิจแพลตฟอร์ม | ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

ขณะที่การคุ้มครองผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ช่วยลดการเอาเปรียบของร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ 

โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มียอดรายได้ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ให้บริการตลาดแบบตรงและต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎหมายขายตรง

จากช่องว่างดังกล่าว จึงมีการประกาศบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2565 ซึ่งกำหนดแนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มทั่วไป (horizontal approach)

โดยมีการนิยามธุรกิจแพลตฟอร์มชัดเจน กำหนดให้บริษัทแพลตฟอร์มที่ประกอบธุรกิจในประเทศหรือนอกประเทศก็ตาม แต่ถ้ามียอดรายได้ต่อปีในไทยเกิน 50 ล้านบาท หรือมียอดผู้ใช้บริการในไทยต่อเดือนเกิน 5,000 รายต้องจดทะเบียน

กฎหมายฉบับใหม่นี้ช่วยลดข้อจำกัดของกฎหมายเดิม อาทิ ธุรกิจโซเชียลมีเดียและคอมเมิร์ซที่ถูกตีความว่าไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายขายตรงฯ เพราะไม่ได้สร้างรายได้หลักจากการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม

แต่หากมียอดรายได้ทางอื่นหรือผู้ใช้บริการถึงเกณฑ์ ก็จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของร่างกฎหมายนี้ และต้องปฏิบัติตามหน้าที่และข้อกำหนดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้หลักการคุ้มครองผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มที่ดี ควรต้อง 

1) กำหนดความรับผิดของแพลตฟอร์มในการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำให้แพลตฟอร์มคำนึงผลกระทบเชิงลบของสังคมโดยรวม (social cost)

เพราะแพลตฟอร์มมักดำเนินการป้องกันเฉพาะความเสียหายที่กระทบต่อบริษัท (private cost) แต่ขาดแรงจูงใจในการป้องกันการกระทำผิดที่กระทบต่อสังคม 

กฎหมายเพื่อผู้บริโภคในโลกธุรกิจแพลตฟอร์ม | ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

2) กำหนดหน้าที่และข้อปฏิบัติที่ดีของแพลตฟอร์ม (obligation) เพื่อช่วยรับประกันแพลตฟอร์มให้มีมาตรการปกป้องผู้บริโภคขั้นต่ำ หากไม่ทำตามข้อปฏิบัติเหล่านี้ก็จะถูกลงโทษแม้ไม่มีผู้ฟ้องร้องก็ตาม

ทางด้านสหภาพยุโรปเองตระหนักประเด็นเหล่านี้ จึงกำลังพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย Digital Service Act (DSA) ซึ่งเป็นการปรับปรุงข้อวิจารณ์ต่อ e-Commerce Directive 2000 ให้ทันสมัย

ขณะเดียวกันประเทศไทย มีคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสนับสนุนสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ก็ได้มีการจัดทำ “ร่าง” พ.ร.บ.ว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่มีหลักการ และเนื้อหาคล้ายกับกฎหมาย DSA ของสหภาพยุโรป 

เนื้อหาบางส่วนคล้ายกับพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 แต่ร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์มฯ มีข้อกำหนดหน้าที่และข้อปฏิบัติที่ครอบคลุมมากกว่า 

เช่น หน้าที่การตรวจสอบกิจกรรมการกระทำผิดบนแพลตฟอร์ม การปฏิบัติงานร่วมกับผู้แจ้งเบาะแส เป็นต้น รวมทั้งยังมีรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในการคุ้มครองผู้บริโภคของกฎหมายปัจจุบันในประเด็นต่างๆ ได้ เช่น 

1) ช่วยลดความคลุมเครือและช่องโหว่ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและขายตรงฯ โดยมีคำนิยามของธุรกิจแพลตฟอร์มในฐานะสื่อกลางอย่างชัดเจน

2) กำหนดหน้าที่และข้อปฏิบัติในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสมขึ้นกว่ากฎหมายปัจจุบัน โดยครอบคลุมพฤติกรรมเสี่ยงรูปแบบใหม่ของแพลตฟอร์มตลอดวงจรการซื้อ-ขายและคืนสินค้า

3) กำหนดเงื่อนไขกรอบการพ้นความรับผิดของแพลตฟอร์มโดยทั่วไป โดยมีเงื่อนไขที่จูงใจให้แพลตฟอร์มเข้ามามีส่วนร่วมเฝ้าระวังแบบเชิงรุก เพื่อปิดกั้นการกระทำผิดกฎหมายจากร้านค้าหรือผู้ขาย-ผู้ซื้อ

รวมถึงมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แพลตฟอร์มสร้างระบบการยืนยันตัวตน ทำให้การติดตาม ไกล่เกลี่ยและชดเชยผู้บริโภคทำได้ง่ายขึ้น ส่วนแพลตฟอร์มที่ไม่ทราบตัวตนร้านค้าอาจถูกฟ้องร้องในฐานะผู้กระทำผิดร่วมและสู้คดีตามกระบวนการ

4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการและภาคประชาสังคมเพื่อป้องกันการกระทำผิด โดยกำหนดให้ผู้ใช้สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดของร้านค้าต่อแพลตฟอร์ม และแพลตฟอร์มต้องเร่งดำเนินการ

กฎหมายเพื่อผู้บริโภคในโลกธุรกิจแพลตฟอร์ม | ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

5) สร้างการกำกับดูแลแพลตฟอร์มที่บูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ที่ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม เพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมายแต่ละด้านให้สอดคล้องกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายจะมีแนวโน้มทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ แต่เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมและตอบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด

จึงควรมีการเร่งดำเนินการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์มฯ ให้มีผลออกมาบังคับใช้

 รวมทั้งควรปรับแก้กฎหมายอื่นให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในบริบทแพลตฟอร์มและนิยามของแพลตฟอร์มในฐานะธุรกิจตัวกลาง เพื่อลดความคลุมเครือของกฎหมายเดิม

เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะหากรอช้าโอกาสที่ประชาชนและธุรกิจจะสูญเสียรายได้หรือได้รับผลกระทบย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย.

กฎหมายเพื่อผู้บริโภคในโลกธุรกิจแพลตฟอร์ม | ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ

ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ 

นักวิจัยอาวุโส

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

[email protected]