เปิดวิชั่นแม่ทัพใหญ่ 'หัวเว่ย' ท้าทายสมรภูมิเดือด ‘ไอซีที-โทรคม’

เปิดวิชั่นแม่ทัพใหญ่ 'หัวเว่ย'  ท้าทายสมรภูมิเดือด ‘ไอซีที-โทรคม’

เปิดมุมมอง “เดวิด หลี่” แม่ทัพใหญ่ “หัวเว่ย ประเทศไทย” กับบทบาทผู้นำที่ต้องพาธุรกิจฝ่ากระแสความไม่แน่นอน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และความต้องการของตลาด “ไอซีที-โทรคมนาคม”

Keypoints :

  • ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพ สามารถเติบโตได้โดดเด่นในระดับภูมิภาค 
  • ให้ความสำคัญกับภาคเอกชน เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับภาครัฐในอนาคต 

ที่แม้โดยพื้นฐานจะไม่ต่างจากเดิม แต่ในรายละเอียดต้องมีการปรับเปลี่ยน ทั้งยังมีโจทย์ใหม่ๆ เข้ามาท้าทาย เพื่อการนำพาให้ธุรกิจเติบโตได้แบบยั่งยืนในระยะยาว...

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนด้านไอซีทีในประเทศไทยมีแนวโน้มฟื้นกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

หัวเว่ยได้เห็นดีมานด์ที่สูงมากในหลากหลายอุตสาหกรรม หลังวิกฤติโควิดเศรษฐกิจไทยนับว่ามีทิศทางที่ดี กิจกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในหลายมิติ ได้เห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ธุรกิจโรงแรม, สนามบิน, การขนส่ง, และร้านอาหารมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

“เรามีมุมมองว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพ สามารถเติบโตได้โดดเด่นในระดับภูมิภาค ติดระดับท็อปด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ไม่เพียงระดับภูมิภาค มีความก้าวหน้าเทียบชั้นระดับโลก ดังนั้นคาดว่าจะมีการพัฒนาทางเทคโนโลยี รวมถึง 5จี เพื่อรองรับบริการดิจิทัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเป็นประชาคมที่มีพลวัตรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ จำนวนมาก ทว่าภูมิภาคนี้ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก

ต่อคำถามที่ว่า “มีความกังวลกับการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่” ประธานหัวเว่ยบอกว่า แม้ว่าโครงการภาครัฐอาจจะมีการชะลอลงบ้าง ทว่าในภาพรวมน่าจะยังคงเติบโต หัวเว่ยเองไม่หยุดแสวงหาโอกาสความร่วมมือกับภาครัฐในอนาคต ให้ความสำคัญกับภาคเอกชนเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจในปีนี้ยังคงมีแนวโน้มที่ดีมาก

เพิ่มโฟกัส ‘ดิจิทัลพาวเวอร์-คลาวด์’

สำหรับหัวเว่ย ยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทย เพื่อพัฒนาคน อีโคซิสเต็มส์ ผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันจะมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในหลายภาคส่วน เพื่อคว้าโอกาสและประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

ปัจจุบัน ธุรกิจหลักในไทยมีอยู่ 5 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ เน็ตเวิร์ก เอนเตอร์ไพรซ์ คลาวด์ ดิจิทัลพาวเวอร์ และคอนซูเมอร์ หัวเว่ยมีมุมมองเชิงบวกและคาดหวังว่าจะได้เห็นการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องในตลาดประเทศไทย

ปีนี้ที่จะโฟกัสอย่างมากคือ ดิจิทัลพาวเวอร์ คลาวด์ และโซลูชันสำหรับองค์กรธุรกิจ แม้ว่าดิจิทัลพาวเวอร์จะเป็นเรื่องใหม่ แต่เชื่อว่ามีโอกาสการเติบโตที่สูงมาก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งหลังจากนี้ทางหัวเว่ยพร้อมเข้าไปสนับสนุน และจะมีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง

กลยุทธ์ด้านพลังงานสะอาดของหัวเว่ยจะเน้นกลุ่มที่อยู่อาศัยและองค์กรเชิงพาณิชย์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาข้อตกลงกับบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานรัฐบาล เพื่อพิจารณาการสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น โซลาร์ฟาร์ม

ปักธงลงทุนพัฒนา ‘คน’

ส่วนของตลาดเน็ตเวิร์ก ยังคงวางเป็นเสาหลัก แม้ว่าขณะนี้มีผู้เล่นในตลาดจะน้อยลงเหลือ 2 ราย ทว่ายังเป็นตลาดที่มีเถียรภาพซึ่งทางหัวเว่ยจะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพโครงข่ายให้ดีขึ้นต่อเนื่อง

จุดแข็งของหัวเว่ย คือ การมีธุรกิจที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทำตลาดโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มีความแข็งแรงด้านเทคโนโลยี รวมถึงทีมงานและการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจตลาดท้องถิ่น ทั้งโดยภาพรวมและลูกค้ารายอุตสาหกรรม

“เรามีกลยุทธ์การบริหารแบบท้องถิ่นและพยายามเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ทเนอร์ มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้เข้าใจธุรกิจแนวดิ่งแต่ละประเภท มากกว่านั้นมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทั้ง พาร์ทเนอร์ ลูกค้า ธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงสตาร์ตอัป เน้นการสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการใช้งานจริง”

สำหรับสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด หลังเข้ารับตำแหน่งในไทยเมื่อราวสองเดือนที่ผ่านมามองว่า “การขาดแคลนบุคลากร” โดยเฉพาะวิศวกรและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพ

หัวเว่ยจึงได้ทุ่มทรัพยากรทั้งกำลังคนและเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลในการยกระดับบุคลากรไอซีที ให้ความสำคัญกับการสร้างงาน พัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาสำหรับวิศวกรไทย, สตาร์ทอัป, และพาร์ทเนอร์

“ดิจิทัลไลเซชันเป็นวาระระดับโลก ทว่ามีข้อจำกัดด้านบุคคลากร สำหรับหัวเว่ยการทำงานไม่เพียงโฟกัสเชิงเทคนิคแต่ให้ความสำคัญในเชิงธุรกิจ โดยปีนี้จะใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาคน ทั้งโลคอลสตาร์ตอัปและโลคอลพาร์ทเนอร์”

โตแกร่ง สวนกระแสวิกฤติ

อีริค สวี ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย เผยว่า ภาพรวมผลประกอบการหัวเว่ยประจำปี 2565 ยังมั่นคง สามารถก้าวผ่านความท้าทาย และมีพัฒนาการอย่างยั่งยืน โดยสามารถทำรายได้สูงถึง 642.3 พันล้านหยวน คิดเป็นผลกำไร 35.6 พันล้านหยวน

ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีหลายปัจจัยไม่แน่นอน หัวเว่ยยังคงสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำทุกอย่างภายใต้ขอบเขตการดำเนินงานเพื่อรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการให้บริการลูกค้า พร้อมกันนี้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างการเติบโต สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ รักษาความอยู่รอดและวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคต

ที่มีผ่าน มีการปรับพอร์ทโฟลิโอเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล พยายามสร้างความยืดหยุ่น รวมถึงสร้างจุดต่างด้วยการซีเนอร์ยีความแข็งแรงของพอร์ทโฟลิโอที่มี เพื่อนำเสนอบริการโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด

ด้านหัวเว่ย ประเทศไทย หลี่เผยว่า มีผลประกอบการที่น่าพอใจและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจพลังงานสะอาด, คลาวด์, และกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ คาดว่าหน่วยธุรกิจทั้งสามนี้จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

ส่วนของผลกระทบและแผนสำรองหากเกิดสงครามการค้าในระดับโลก หัวเว่ยมีมุมมองว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่สงบสุขและเศรษฐกิจยังมีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ประเทศไทยเองก็เปิดกว้างและส่งเสริมอิสรภาพในการทำธุรกิจ องค์กรสามารถเลือกทำธุรกิจตามปัจจัยหรือโอกาสที่เอื้ออำนวย

ในแง่ของห่วงโซ่อุปทาน ได้เพิ่มการลงทุนในโครงการสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจในช่วงสามปีที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของธุรกิจจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เชื่อว่าตลอดสามปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีระบบห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง