จับตาเก้าอี้เลขาฯกสทช.คนใหม่ "สรณ" ปธ.บอร์ดดับเบิ้ลโหวตอีกแล้ว

จับตาเก้าอี้เลขาฯกสทช.คนใหม่ "สรณ" ปธ.บอร์ดดับเบิ้ลโหวตอีกแล้ว

ผลการประชุมบอร์ดกสทช.ระอุอีกครั้ง หลังหมอสรณชงวาระพิเศษเพื่อทราบ เรื่องการให้อำนาจประธานกสทช.เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการกสทช.แต่เพียงผู้เดียว ปรากฎว่ามติที่ประชุมเสมอกันที่ 3:3 สุดท้ายประธานดับเบิ้ลโหวตอีกครั้งพลิกแซง 4:3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 มี.ค.) การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้มีวาระการรับทราบการสรรหาตำแหน่งเลขาธิการกสทช.คนใหม่ แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อบยุติ เนื่องจากมีบอร์ดกสทช.มีคนที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้เป็นไปตามกระบวนการสรรหาปกติ

ทว่าประธานบอร์ด ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ใช้อำนาจประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่ม (ดับเบิ้ล โหวต) ทำให้คะแนนโหวตเป็น 4:3 ส่งผลให้ประธานบอร์ดกสทช.มีสิทธิเสนอชื่อ เลขาธิการกสทช.แต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องผ่านกระบวนการสรรหาแบบปกติ
 
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ อาศัยเรื่องการใช้อำนาจประธาน บอร์ดกสทช. เป็นผู้เลือกเลขาธิการ กสทช. แต่เพียงผู้เดียว โดย อ้างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61 ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช.
 
โดยบอร์ดกสทช.ที่เห็นด้วยนอกจากประธานกสทช.แล้ว ยังมีนายต่อพงศ์  เสลานนท์ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) และ พลตำรวจเอกณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. (ด้านกฎหมาย)  


 

ส่วนบอร์ด กสทช. อีก 3 คน ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้มี กระบวนการสรรหา เลขาธิการ กสทช. ประกอบด้วย พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. (ด้านกิจการกระจายเสียง),นางสาวพิรงรอง รามสูต กสทช. (ด้านกิจการโทรทัศน์) และ นายศุภัช  ศุภชลาศัย กสทช. (ด้านเศรษฐศาสตร์)

ทั้งนี้ นางสาวพิรงรอง โฟสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่าดิฉันขอตั้งคำถามและแสดงความกังวลต่อกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่จำกัดการมีส่วนร่วมของกรรมการ กสทช. ไว้ในประเด็นต่อไปนี้

1. การลดทอนความโปร่งใส ตรวจสอบได้ขององค์กรอิสระ ที่ดูแลกิจการอันเป็นพื้นฐานสำคัญของชาติ การที่ประธานเป็นผู้ส่งหนังสือเชิญทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติให้มาเป็นเลขาธิการ กสทช. นั้น อาจขัดกับหลักการธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กรเนื่องจากไม่ได้สะท้อนความโปร่งใสของกระบวนการคัดเลือกที่ควรจะเปิดกว้างและตรวจสอบได้

2. การขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 61 บัญญัติให้ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการกสทช. ไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการสรรหาที่เปิดกว้างให้ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าสมัครรับการสรรหา อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าการที่ประธาน กสทช. เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญซึ่งเป็นวิธีการคัดเลือกที่ไม่มีการแข่งขัน อาจเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอันขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 ที่ระบุว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

3. รายชื่อกสทช.ท่านที่ 7 ซึ่งเป็นท่านสุดท้าย ได้ผ่านกระบวนการสรรหาและได้ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ จึงไม่มีเหตุผลที่ประธานกสทช.ควรจะเร่งทำกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการฯ โดยไม่รอกรรมการท่านใหม่นี้ เพราะที่ผ่านมา ประธานก็ได้ปล่อยให้ว่างเว้นตำแหน่งนี้มายาวนาน แม้จะมีการทำหนังสือทักท้วงจากกรรมการอย่างน้อยสามคนตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ก็ไม่ได้ริเริ่มกระบวนการในขณะนั้นแต่อย่างใด

สำหรับ คุณสมบัติ เลขาธิการ กสทช. ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ได้กำหนดดังนี้
 
(ก.) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการ หรือพนักงานของหน่วยงานราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานอื่นของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ ก.พ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าหน่วยงานหรือรองผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงาน
 
(ข.) เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารไม่ต่ำกว่าระดับรองผู้บริหารสูงสุดในสายงานบริหารขององค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่มีรายได้ทั้งปีไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ต่อปี ในขณะดำรงตำแหน่ง โดยแสดงเอกสารงบการเงิน รายงานประจำปี แผนผังแสดงตำแหน่งของงาน ในปีที่ดำรงตำแหน่งมาแสดงในวันสมัคร
 
(ค.) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการ หรือพนักงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองศาสตราจารย์และดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารในระดับไม่ต่ำกว่ารองอธิการบดีหรือเทียบเท่า

ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งตาม (ก) (ข) และ (ค) จะต้องมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า1 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร
 
โดยรายงานข่าวแจ้งว่า รายชื่อที่มีการทาบทามได้แก่ นางสุรางคณา วายุภาพ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA และนายนิรุฒ มณีพันธ์ อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกด้วย และก่อนหน้านี้ยังมีรายชื่อ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ อดีตบอร์ดกสทช.ก็มีรายชื่อขอชิงเก้าอี้ในตำแหน่งดังกล่าวด้วย