เกษียณก่อนสบายก่อนจริงหรือ?

เกษียณก่อนสบายก่อนจริงหรือ?

แนวคิดของคนทำงานรุ่นใหม่ดูจะให้ความสนใจเรื่อง “เกษียณก่อนกำหนด” หรือ “Early Retire” กันมากขึ้น

โดยมีเหตุผลหลักในเรื่องของการสร้างสมดุลชีวิตที่อยากไปใช้ชีวิตตามความฝัน มีความอิสระในการใช้ชีวิตไม่ถูกยึดติดกับงานประจำเหมือนที่เคยทำตอนอยู่ในวัยหนุ่มสาว

ความต้องการเกษียณก่อนกำหนดอาจสะท้อนถึงภาวะกดดันจากการทำงานในยุคปัจจุบันที่ต้องเจอกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจนคนทำงานต้องตื่นตัวกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าอาจก่อให้เกิดความเครียดสะสมสำหรับคนที่รู้สึกว่าเรียนรู้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การอยากเปลี่ยนไปใช้ชีวิตสบายๆ หลังเกษียณอายุไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากสะสมความมั่งคั่งได้มากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการได้แล้วหลายๆ ก็คงต้องการใช้ชีวิตสบายๆ แบบนั้น แต่ปัญหาคือ คนรุ่นใหม่ในวัย 40 ต้นๆ ที่เป็นกำลังสำคัญในองค์กรยุคปัจจุบันก็มีความต้องการเกษียณก่อนกำหนดด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ วิทยาการทางการแพทย์ยุคปัจจุบันก้าวหน้ากว่าในอดีตหลายเท่า เมื่อ 50 ปีที่แล้วอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 60 ปีเศษๆ (เมื่อปี 2015 เท่ากับ 60.73 ปี) นั่นหมายความว่าการเกษียณอายุในวัย 60 ก็แทบจะพอกับอายุขัยของคนส่วนใหญ่ หากเกษียณก่อนกำหนดในวัย 40 ก็ใช้ชีวิตอิสระต่ออีกราวๆ 20 ปี

แต่สำหรับทุกวันนี้อายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นมาจนเกือบถึง 80 ปี หากใครเลือกที่จะเกษียณอายุตั้งแต่วัย 40 นั่นเท่ากับเขาจะเหลือเวลาอีกครึ่งชีวิตที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเวลามากขนาดนั้นย่อมส่งผลกระทบ ต่อทั้งการวางแผนด้านการเงินหลังเกษียณและคุณภาพชีวิตที่ต้องใช้เงินสะสมเฉลี่ยในแต่ละปีให้น้อยลง

และที่สำคัญเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันจากเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย 5G-6G รวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และ Open AI อย่าง ChatGPT ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราอีกครั้ง

ราคาหุ้นกูเกิลที่ตกลงถึง 9% คิดเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์ จากผลกระทบของ Chat GPT ไม่ต่างอะไรกับในอดีตที่ Yahoo เสิร์ชเอนจิ้นอันดับหนึ่งของโลกมูลค่าหุ้นตกจาก 118 ดอลลาร์เหลือเพียง 8 ดอลลาร์ในยุคหลังปี 2000 เพราะถูกกูเกิลเข้ามาแทนที่

การกำเนิดใหม่ของเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นรวดเร็วและส่งผลรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า การเลือกที่จะไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยตัดขาดตัวเองจากโลกดิจิทัลในยุคปัจจุบัน จึงอาจทำให้เราถูกทิ้งไว้ข้างหลังจนก้าวตามโลกไม่ทัน

เพราะความรู้ที่เราได้มาจากการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย บวกกับประสบการณ์จากการทำงานอีก 20-30 ปี หากเราเลือกที่จะเกษียณก่อนกำหนดแล้วหยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เราอาจพบว่าประสบการณ์ที่เคยมีมานั้นเอามาใช้ประโยชน์ต่อแทบจะไม่ได้เลยเพราะโลกเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

สำหรับคนที่ตั้งใจที่จะเกษียณก่อนกำหนดจึงควรต้องทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง โดยเฉพาะคนที่พบว่างานที่ทำนั้นเป็นเพียงงานที่หาเลี้ยงชีพ ไม่ใช่งานที่ทำแล้วมีความสุขและแรงมีบันดาลใจที่สนับสนุนให้ทำสิ่งใหม่ๆ ในแต่ละวัน

เพราะการฝืนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ความรักความชอบของตัวเอง ก็ยากที่จะทำได้อย่างตั้งใจและไม่มีความเต็มใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่จะยกระดับให้ตัวเรามีความรู้เพิ่มพูนขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะมีแต่ความเบื่อหน่ายและท้อใจเพราะก้าวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ทัน

การปรับทัศนคติของตัวเองจึงเป็นด่านแรกที่ควรต้องทำก่อนคิดไปถึงการเกษียณก่อนกำหนด เพราะอีกครึ่งชีวิตที่เหลืออาจทำให้เรามีคุณค่ามากกว่าเดิม และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมก็อาจทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุขได้ในเวลาเดียวกัน