‘JD.com' ลาไทย 5ปี ขาดทุนยับ - จับตาเหลือ 2 ค่าย 'ลาซาด้า ช้อปปี้' หวั่นผูกขาด

‘JD.com' ลาไทย 5ปี ขาดทุนยับ - จับตาเหลือ 2 ค่าย 'ลาซาด้า ช้อปปี้' หวั่นผูกขาด

ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน JD.com ถอนลงทุนไทย ประกาศยุติ JD CENTRAL แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มีผล 3 มี.ค.นี้ ย้อนดูงบการเงิน 5 ปีย้อนหลัง ขาดทุนกว่า 5 พันล้าน ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล ลาออกจากการเป็นกรรมการแล้ว จับตากลุ่มอีมาร์เก็ตเพลส แข่งดุเหลือ 2 ราย ลาซาด้า ช้อปปี้ ‘หวั่นผูกขาด’

สมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยหมดยุคเผาเงินอย่างแท้จริง JD CENTRAL แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่เกิดจากการผนึกกำลังของบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group) และเจดีดอทคอม (JD.com) ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีนประกาศหยุดให้บริการโดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566

การออกแถลงการณ์ของ JD CENTRAL โดยบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ระบุว่า มีความจำเป็นต้องยุติการให้บริการในประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของบริษัท JD.com เพื่อมุ่งเน้นในการขยายและพัฒนาธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนข้ามพรมแดนผ่านการกระจายสินค้าและการขนส่งเป็นหลัก ถือเป็นการถอนธุรกิจออกจากไทย หลังดำเนินการมาได้ 5 ปีเศษ

JD CENTRAL เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล กับ JD.com และ JD Finance ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ และฟินเทคอันดับ 2 ของจีน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 4,959,271,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อรุกตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองไทย ก่อนที่จะรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในปี 2564

แต่สุดท้ายไปต่อไม่ไหว JD CENTRAL ที่อยู่ภายใต้ร่มธุรกิจใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล มีวัฒนธรรมในการทำงานที่แตกต่างกันสุดขั้ว และ เครือเซ็นทรัล คงไม่คุ้นกับธุรกิจที่ขาดทุนต่อเนื่อง ขณะที่ JD.com เปิดตัวเข้ามาในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ที่แข่งขันกันสูง ท่ามกลางผู้เล่นหลักอย่าง ลาซาด้า และ ช้อปปี้ ที่ช่วงชิงพื้นที่การตลาดไปมากโขแล้ว การแข่งขันจึงไม่ง่าย

ย้อนหลัง 5 ปี มีแต่ขาดทุน

ย้อนกลับไป จะเห็นว่าผลประกอบการของ JD CENTRAL แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังเผชิญขาดทุน ข้อมูลจาก https://data.creden.co/  ระบุว่า 

มี รายได้รวม ปี 2560 มีรายได้รวม 522 ล้านบาท 

ปี 2561 รายได้รวม 458 ล้านบาท 

ปี 2562 รายได้รวม 1,284 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม 3,491 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้รวม 7,443 ล้านบาท

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ

ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 3 ล้านบาท

ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 944 ล้านบาท 

ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 1,342 ล้านบาท 

ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,375 ล้านบาท

ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 1,930 ล้านบาท

สินทรัพย์รวม

ปี 2560 จำนวน 827 ล้านบาท

ปี 2561 จำนวน 1,636 ล้านบาท

ปี 2562 จำนวน 1,526 ล้านบาท

ปี 2563 จำนวน 1,905  ล้านบาท

ปี 2564 จำนวน 2,162 ล้านบาท

ขณะที่ มีหนี้สินรวมปี 2560 จำนวน 3,841,648 ล้านบาท, ปี 2561 จำนวน 939 ล้านบาท, ปี 2562 จำนวน 1,085 ล้านบาท, ปี 2563 จำนวน 1,430 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 2,799 ล้าน บาท

กรรมการประกอบด้วย นายขจรศักดิ์ จันทรัตติยากานต์ นายหยาง ฉีคุน นายจักรกรินทร์ เกิดสมุทร นายทาน ควอง ฮุนนายจาง ลี่ ขณะที่นายญนน์ โภคทรัพย์ และนายไท จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มเซ็นทรัล ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการเมื่อปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2566)

‘JD.com\' ลาไทย 5ปี ขาดทุนยับ - จับตาเหลือ 2 ค่าย \'ลาซาด้า ช้อปปี้\' หวั่นผูกขาด

จับตาผู้เล่นที่เหลือท่ามกลางวิกฤติศก.

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ อดีตนายกสมาคมอีคอมเมิร์ซประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า JD Central ก่อนหน้านี้ คือ ผู้เล่นเบอร์ 3 ในตลาด ซึ่งมีข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้ถอนตัวออกจาก JD.com และในฟากของ JD ในประเทศไทย ก็จะถอนตัวจากตลาดประเทศไทยและอินโดนีเซีย เพราะขาดทุนสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ต้องจับตาดู ผู้เล่นหลัก 2 รายที่เหลืออยู่ ทั้งลาซาด้า และช้อปปี้ ที่ยังเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ลดลง วิเคราะห์ได้จาก มหกรรมวันดับเบิลเดย์ เช่น 11.11 ที่สถานการณ์ค่อนข้างซบเซา บรรดาอี-มาร์เก็ตเพลส ใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายของได้น้อยลงกว่าเดิมมาก เป็นสัญญาณให้เห็นว่าฝั่งของอี-มาร์เก็ตเพลสที่เคยเป็นสงครามของการใช้เงินมาถล่มกันก็เริ่มลดน้อยลงอย่างชัดเจนแล้ว

เขากล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลตามมา อี-มาร์เก็ตเพลสของไทย กลายเป็นสมรภูมิการเเข่งขันของต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีอี-มาร์เก็ตเพลสของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในปี 64 มีมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาท

สำหรับเทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยปีนี้ มีหลายเทรนด์ที่น่าสนใจ และจะเป็นอีกหลายกรณีศึกษา ประกอบด้วย

1.มูลค่าการค้าออนไลน์ขยับขึ้นอีกครั้งตอบรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2. สงครามe-marketplaceกำลังจะจบลง

3. สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ 4. On-Demand Commerceสงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น

5. การบุกของDFS (Digital Financial Service) 6. สงครามShort Video Commerce 7. โฆษณาออนไลน์ที่มีทางเลือกมากขึ้น 8. การตลาดผ่านการบอกต่อ 9. “MarErce”เมื่อมาร์เทค(MarTech)ผสานเข้ากับอีคอมเมิร์ซ(e-Commerce) 10. การแข่งขันe-Commerceในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ 11. การขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย 12 .D2C (Direct to Consumer)จะฆ่าตัวกลางทางการค้า

อย่างไรก็ตาม นายภาวุธ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าจากการยุติของ JD Central ทำให้ผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซในกลุ่มอี-มาร์เก็ตเพลส เหลือเพียง 2 รายหลัก คือ ลาซาด้า และช้อปปี้ อาจมองเป็นการผู้ขาดตลาดก็ย่อมได้ เพราะทั้ง 2 รายกินส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งไปมากแล้ว