อีคอมเมิร์ซไทยใครว่าง่าย! JD Central ถอนทั้งยวง ปิดธุรกิจในไทย

อีคอมเมิร์ซไทยใครว่าง่าย! JD Central ถอนทั้งยวง ปิดธุรกิจในไทย

สมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยยังคงเดือดหนัก เมื่อ JD Central ประกาศปิดกิจการ ทุนใหญ่ JD.com จากจีนสู้เผาเงินไม่ไหว โบกมือลาประเทศไทย ส่งผลตลาดไทยเหลือรายใหญ่ 2 รายสู้กันดุ!! "ลาซาด้า ช้อปปี้"

สมรภูมิอีคอมเมิร์ซใครว่าง่าย !!! JD CENTRAL แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เกิดจากการผนึกกำลังกันของบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group) และเจดีดอทคอม (JD.com) ประกาศหยุดให้บริการโดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566

ย้ำอีคอมเมิร์ซไทย ไม่ง่าย!!!

อีคอมเมิร์ซในไทย น่านน้ำนี้ยังเป็น สีเลือด!!! เมื่อทุนใหญ่ระดับ JD.com จากจีน ยังเอาไม่อยู่ ต้องยกธงขาว ก่อนหน้านี้ JD CENTRAL อยู่ในกลุ่มเซ็นทรัล ค้าปลีกรายใหญ่ของไทย แต่อาจเป็นด้วย "วัฒนธรรม" รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจที่มีความต่างกัน จึงต้องโบกมือลา

JD.com เข้ามาในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทย ก็หลังจากคู่แข่งยักษ์ ได้ช่วงชิงพื้นที่การตลาดไปมากโขแล้ว จึงไม่ง่ายที่จะตอบโต้ แข่งขันสู้

"ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าออนไลน์ กล่าวว่า JD Central ก่อนหน้านี้ ครองอันดับ 3 ในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย มีงบกำไรขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 1,200 กว่าล้านบาท ซึ่งมีข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้มีการถอนตัวออกจาก JD.com และในฟากของ JD ในประเทศไทย ก็จะมีการถอนตัวจากตลาดประเทศไทยและอินโดนีเซีย เพราะเมื่อมองตัวเลข การขาดทุนสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท

เป็นบทพิสูจน์ ว่า อีคอมเมิร์ซไทย ถ้าเล่นไม่ใหญ่ ทุนไม่หนาจริง อยู่ยาก สายป่านต้องยาว  ต้องกล้าเผชิญการ "ขาดทุน" เหมือน ที่ลาซาด้า และ ช้อปปี้ ยอมกรีดเลือดตัวเองเกือบจะหมดตัวไปก่อนหน้านี้

แต่ก็ใช่ว่า ผู้เล่นหลักที่เหลืออยู่ จะไชโยโห่ร้อง เพราะสถานการณ์ก็ไม่ได้ "เป็นใจ" สักเท่าไหร่ แม้พฤติกรรมการชอปออนไลน์ จะอยู่ใน DNA ของคนไทยไปแล้วก็ตาม

ดูได้จาก เสน่ห์ของ มหกรรม 11.11 ที่ค่อยๆ คลายมนต์ขลังลง สถานการณ์ค่อนข้างซบเซาในช่วงที่ผ่านมา บรรดา e-marketplace ใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายของได้น้อยลงกว่าเดิมมาก เป็นสัญญาณให้เห็นว่าฝั่งของ e-marketplace ที่เคยเป็นสงครามของการใช้เงินมาถล่มกันก็เริ่มลดน้อยลงอย่างชัดเจนแล้ว

สิ่งที่น่ากังวลตามมา e-marketplace ไทย กลายเป็นสมรภูมิการเเข่งขันของต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมี e-marketplace ของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในปี 64 มีมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้ "ภาวุธ" สรุปเทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เป็นกรณีศึกษาที่จะเห็นเทรนด์เหล่านี้มากขึ้นในปีนี้ 

1. มูลค่าการค้าออนไลน์ขยับขึ้นอีกครั้งตอบรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

2. สงคราม e-marketplace กำลังจะจบลง

3. สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ

4. On-Demand Commerce สงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น

5. การบุกของ DFS (Digital Financial Service)

6. สงคราม Short Video Commerce

7. โฆษณาออนไลน์ที่มีทางเลือกมากขึ้น

8. การตลาดผ่านการบอกต่อ

9. “MarErce” เมื่อ มาร์เทค (MarTech) ผสานเข้ากับ อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)

10. การแข่งขัน e-Commerce ในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่

11. การขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย

12 .D2C (Direct to Consumer) จะฆ่าตัวกลางทางการค้า

อ่านข่าวประกอบที่ https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1042504