‘ชไนเดอร์’ ดึงพลัง 'เอไอ' ปฏิรูปสู่โฉมใหม่ ‘โลกพลังงาน’

‘ชไนเดอร์’ ดึงพลัง 'เอไอ' ปฏิรูปสู่โฉมใหม่ ‘โลกพลังงาน’

การเปลี่ยนระบบไฟฟ้าให้เป็นดิจิทัล เป็นการแก้ปัญหาความท้าทายของระบบไฟฟ้าในอดีต ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะการดาวน์ไทม์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว

ยุคที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด “ดิจิทัล” ถูกนำมาใช้ในการทรานส์ฟอร์มและยกระดับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ค้าปลีกไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม

หนึ่งในการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจ เช่น “การบริการจัดการพลังงาน” ซึ่งทุกวันนี้โจทย์ของการทำงานนอกจากประสิทธิภาพและความคุ้มค่าแล้ว “ความยั่งยืน” เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงและนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การเติบโต

วราชัย จตุรสถาพร รองประธาน ธุรกิจ Field Services ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ชไนเดอร์ กล่าวว่า ดิจิทัลเป็นเหมือนโลกใหม่ที่ช่วยปฏิวัติโลกเก่าให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืน อีกทั้งการควบคุมด้วยดิจิทัลยังช่วยทำให้มองเห็นสถาปัตยกรรมระบบต่างๆ ในภาพรวม

อย่างไรก็ดี การทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียว สามารถทำเท่าที่จำเป็นเพื่อที่ธุรกิจจะสามารถวัดความคุ้มค่าต่อการลงทุน หรือ ROI (Return on Investment) ได้

ดึง ‘เอไอ - ไอโอที’ เสริมศักยภาพ

ในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ด้านการจัดการพลังงานและระบบออโตเมชัน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มุ่งคิดค้นนวัตกรรมในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลในทุกแง่มุมและทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลูกค้าลดความยุ่งยาก และลดเวลาในการทำงานซ้ำซ้อน สามารถนำเวลาที่มีค่าไปโฟกัสเรื่องที่สำคัญกว่าแทน

ล่าสุด เดินหน้าช่วยภาคธุรกิจปฏิรูปและยกระดับงานบริการภาคสนามระบบไฟฟ้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการเปิดตัว “ดิจิทัล เซอร์วิส” บริการเชิงรุก วิเคราะห์ คาดการณ์ ลดดาวน์ไทม์ เน้นประสิทธิภาพและความยั่งยืน โดยมาพร้อมขุมพลังจาก “ไอโอที” และ “เอไอ” อัจฉริยะ ให้ประสิทธิภาพการดำเนินการที่เหนือชั้นยิ่งขึ้น ทั้งการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของระบบไฟฟ้าทั้งระบบ คาดการณ์แนวโน้มการเสื่อมสมรรถภาพของอุปกรณ์

นอกจากนี้ สามารถแจ้งเตือนความล้มเหลวของอุปกรณ์ล่วงหน้า ช่วยลดดาวน์ไทม์ ยืดอายุของอุปกรณ์ไฟฟ้า และแนะนำแผนการบำรุงรักษาได้อย่างเหมาะสม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แนวทางธุรกิจของ ชไนเดอร์ ทำตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นโกลบอลแพลตฟอร์ม ภายใต้เทคโนโลยี “EcoStruxure” ที่เป็นทั้งสถาปัตยกรรมและแพลตฟอร์ม ระบบเปิด

ด้วยความสามารถทางด้านไอโอทีและเอไอ ทำให้บริการดิจิทัลเซอร์วิสมีความครอบคลุมที่สุด สามารถช่วยธุรกิจสร้างความยืดหยุ่น และแก้ไขปัญหาของลูกค้า รวมถึงธุรกิจลูกค้าในอนาคตได้

“การเปลี่ยนระบบไฟฟ้าให้เป็นดิจิทัล เป็นการแก้ปัญหาความท้าทายของระบบไฟฟ้าในอดีต ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะการดาวน์ไทม์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากการเสื่อมของอุปกรณ์ที่มีอยู่ หรือจากปัจจัยสภาวะแวดล้อมต่างๆ”

นอกจากนี้ เมื่อเปลี่ยนเป็นดิจิทัลแล้ว ยังทำให้สามารถเข้าถึงและมองเห็นภาพรวมทั้งหมดของระบบไฟฟ้า รวมถึงประสิทธิภาพในแบบเรียลไทม์และย้อนหลังได้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มของระบบได้อย่างมั่นใจ

ตลาดแข่งขันสูง หวังโตเท่าตัว

ชไนเดอร์เผยว่า นอกเหนือจากบริการภาคสนามแบบปกติ ทางชไนเดอร์ยังมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลในเรื่องของการวิเคราะห์ ที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

รวมไปถึงเรื่องของความปลอดภัย ทั้งในส่วนของสินทรัพย์ต่างๆ และบุคคล ช่วยปรับเปลี่ยนจากการบำรุงรักษาตามเวลาที่กำหนด หรือแบบไทม์เบส ซึ่งต้องชัตดาวน์ระบบทั้งหมดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ มาเป็นคอนดิชั่นเบส ทำให้เกิดการลดต้นทุนด้านการซ่อมบำรุง และต้นทุนการสูญเสียในการหยุดสายการผลิตต่างๆ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงาน รวมถึงสร้างความยั่งยืน

“ดิจิทัลเซอร์วิสของชไนเดอร์เป็นมิติใหม่แห่งการบริการด้านการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ไม่ใช่เพียงแค่บริการภาคสนามเพียงอย่างเดียว ยังมีการผนวกบริการดิจิทัลบนแพลตฟอร์มระดับโลก พร้อมนำพลังของเทคโนโลยีไอโอทีและเอไอมาช่วยในการวิเคราะห์เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

วราชัยประเมินว่า ตลาดดิจิทัลเซอร์วิสในอุตสาหกรรมบริการระบบไฟฟ้ามีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ทว่าจากการทำตลาดในไทยมากว่า 4 ปีได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น และชไนเดอร์กลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ที่ลูกค้านึกถึงเมื่อต้องการลงทุน ช่วงสองปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถเติบโตได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนของปี 2566 นี้หวังว่าจะสามารถเติบโตได้เป็นเท่าตัว