‘คมสันต์ ลี’ เทหมดหน้าตัก พา‘แฟลชกรุ๊ป’ฝ่าคลื่นมรสุม

‘คมสันต์ ลี’ เทหมดหน้าตัก  พา‘แฟลชกรุ๊ป’ฝ่าคลื่นมรสุม

แฟลชกรุ๊ปคาดว่าก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะระดมทุนอีกรอบ หากถึงตอนนั้นเชื่อว่า แฟลชฯจะมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 100,000 ล้านบาท

ในรอบปีที่ผ่านมาหลายคนหวั่นวิตกถึงสภาพเศรษฐกิจที่มีแต่ "ทรง" กับ "ทรุด" หากในกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังพอมีขาช้อปเข้ามาช่วยพยุงให้อุตสาหกรรมนี้พอมีที่ยืนอยู่บ้างสร้างเม็ดเงินได้เป็นกอบเป็นกำ แต่พลันที่วิกฤติโควิด-19 พุ่งทะยานเข้ามาทักทายโลก ไม่ว่ากลุ่มธุรกิจใดก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ในประเทศไทยตลาดอีคอมเมิร์ซจากผู้เล่นรายใหญ่ อย่างช้อปปี้ และ ลาซาด้า ประกาศผลประกอบการตัวแดงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พร้อมด้วยการประกาศปลดคน เพื่อรักษาต้นทุนให้อยู่ในระดับที่ประคองตัว ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่าง "ขนส่ง-โลจิสติกส์" ก็แทบจะกระอักด้วยอานิสงส์ด้านลบที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มธุรกิจแฟลช ภายใต้การนำของซีอีโอหนุ่มเมืองเหนืออย่าง "คมสันต์ ลี" แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวเด่นด้วยสไตล์การบริหารงานแบบคนรุ่นใหม่ นำหน้าด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ หากวิกฤติที่ผ่านมาก็นับว่าเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่สะเทือนธุรกิจของแฟลชฯ ไม่น้อยเช่นกัน แต่ในวิกฤติมักมีโอกาสอยู่ด้วยเสมอ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจแฟลช ได้รับการระดมทุนรอบล่าสุด มูลค่าถึง 15,000 ล้านบาท 

ผงาดสู่ยูนิคอร์น 7 หมื่นล.

คมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช เล่าว่า บริษัทเพิ่งได้รับการระดมทุนรอบล่าสุดเมื่อ เดือนธ.ค.2565 จำนวน 15,000 ล้านบาท หลังได้ปิดการระดมทุนไปแล้วกับ Buer Capital แล SCB 10X พร้อมด้วย eWTP -OR-เดอเบล- กรุงศรี ฟินโนเวตในซีรีย์ E มูลค่ารวมกว่า 4,700 ล้านบาท 

เท่ากับตอนนี้ แฟลช กรุ๊ป เข้าสู่ ซีรีย์ F แล้ว ด้วยมูลค่าบริษัทรวมที่ 70,000 ล้านบาท

เงินก้อนใหม่จำนวน 15,000 ล้านบาทนั้น จะแบ่งเป็นงบลงทุนปี 2566-2568 ซึ่งปีนี้เงินบางส่วน จะถูกนำไปเพื่อพัฒนาบุคลากรในกลุ่มธุรกิจแฟลช

ขณะที่ หากรวมตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา แฟลชฯ ประกาศขึ้นเป็นขนส่งเอกชนอันดับ 1 ด้วยตัวเลขจัดส่งพัสดุต่อวันสูงสุดร่วม 2.4 ล้านชิ้น ยอดส่งตลอดทั้งปี 700 ล้านชิ้น

“เงินที่ได้เข้ามาก็จะมาเพิ่มบุคลากรของแฟลชฯซึ่งปัจจุบันเราต้องการขยายตลาดในต่างประเทศให้มีคุณภาพมากขึ้นกว่านี้ เพื่อเตรียมการวางแผนเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯในอีก 3 ปีต่อจากนี้ และก่อนเข้าตลาดฯก็น่าจะมีการระดมทุนอีกรอบหนึ่ง ซึ่งหากถึงตอนนั้นเชื่อว่าแฟลชฯจะมีมูลค่าบริษัทสูงถึงแสนล้านบาท” 

เปลี่ยน“ผู้สร้าง”เป็น“ผู้ซ่อม”

คมสันต์ เล่าว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 และสารพัดปัจจัยลบทั้ง สงคราม ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 100% กดดันให้ผลประกอบการของแฟลช กรุ๊ปในปี 2565 น่าจะออกมาขาดทุนมากกว่า 20 ล้านบาท แม้ว่ารายได้รวมจะทำได้ใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ราว 17,600 ล้านบาท

ด้วยเหตุผลสำคัญ เพราะต้นทุนการบริหารงานเพิ่มขึ้น และตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดการณ์ไว้ เหตุผลหลังมีปัจจัยประกอบจากภาวะค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

จากสถิติที่แฟลชกรุ๊ปเก็บข้อมูล พบว่า ช่วงปีที่ผ่านมา รายได้ต่อบิลต่อการทำทรานเซคชั่นของลูกค้าลดลงเกือบ 15%

ดังนั้น ปี 2566 ความท้าทายของบริษัท คือ การปรับโครงสร้างรูปแบบการทำงานภายในองค์กรให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมรสุมที่เจอในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่บริษัทที่ได้รับผลกระทบแต่ทุกบริษัทก็เจอ แฟลชฯ จึงเร่งหมุนเวียนเปลี่ยนทรัพยากรคนจาก ผู้สร้าง ให้เป็น ผู้ซ่อม กล่าวคือ เปลี่ยนผู้ที่บุกเบิกสร้างธุรกิจแฟลช ให้มาเป็นผู้ที่ต้องซ่อมแซมธุรกิจให้กลับมาลุกขึ้นพลิกฟื้นได้อีกครั้งจากวิกฤติที่เกิดขึ้น

“ต้นทุนน้ำมันจากเดิมอยู่ที่ 300-400 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้น 100% ต้นทุนเรื่องคนก็เพิ่มเข้ามา โดยเราปรับเปลี่ยนพนักงานปลดออกรับใหม่ราว 20% และในปีนี้ผมมีแผนเพิ่มพนักงานให้ได้เป็น 70,000 คนจากการให้บริการใน 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียจากปัจจุบันที่พนักงานอยู่ 50,000 คน และในปีนี้เตรียมแผนขยายไปอีก 1 ประเทศ กำลังเลือกระหว่างสิงคโปร์กีบเวียดนาม”

ปั้นแพลตฟอร์มกลางออนไลน์

ปัจจุบันแฟลช กรุ๊ป มีบริษัทในเครือ ได้แก่ แฟลช เอ็กซ์เพรส ปัจจุบันมีจุดให้บริการรับส่งพัสดุ สินค้า รวม 21,000 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีฮับที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าและพัสดุ จำนวน 40 แห่งทั่วประเทศ ,แฟลช โลจิสติกส์ ให้บริการรับส่งสินค้สงาขนาดใหญ่ (Bulky) , แฟลช ฟลูฟิลเมนต์ ให้บริการคลังสินค้าแบบครบวงจร ,แฟลช มันนี่ และ แฟลช เพย์ สำหรับบริการด้านการเงินเพื่อคู่ค้า

นอกจากนี้ แฟลชฯ ยังเริ่มทำตลาดกับ Tiktok ในการเซ็นสัญญาร่วมกับดารา นักแสดง และอินฟลูเอนเซอร์ ในการขายสินค้าออนไลน์และจัดส่งโดยแฟลชฯ อย่างครบวงจร ซึ่งในไทยเริ่มทำตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนในต่างประเทศกลยุทธ์นี้ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียมียอดส่งพัสดุวันละ 2 ล้านชิ้น รองลงมาคือ ไทย 700,000 ชิ้น และมาเลเซีย 400,000 ชิ้น

ขณะเดียวกัน แฟลชฯ กำลังปั้นธุรกิจที่เรียกว่า F-commerce บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับแม่ค้าออนไลน์เชื่อมระหว่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซกับโซเชียล มีเดีย โดยจะเปิดเป็นหลักสูตรขายสินค้าออนไลน์เพื่อสร้างแม่ค้าหน้าใหม่ผ่านการไลฟ์สด ในอนาคตจะสร้างตึกที่มีห้องไลฟ์สด 100 ห้อง สำหรับให้แม่ค้าออนไลน์ของ F-Commerce มาขายสินค้าผ่านช่องทางแฟลชฯ เพราะมองว่า เทรนด์การขายสินค้าออนไลน์ในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมและได้ผลตอบรับที่ดีอย่างมากในต่างประเทศ

"ปี 2566 เชื่อว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย หลายประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลบวกต่อตลาดในไทยที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคส่งสัญญาณบวกแล้ว ซึ่ง แฟลชฯ จะพัฒนาคุณภาพการขนส่งสินค้าให้มีปริมาณพัสดุที่ชำรุดและสูญหายให้น้อยลงจนถึงเป็นศูนย์ให้ได้ ทั้งต้องพัฒนางานด้านความเสถียรของการส่งสินค้าด้วย"

คมสันต์ เชื่อว่า ปีนี้ผู้เล่นที่เป็นคู่แข่งในตลาดน่าจะไม่มีรายใดใช้กลยุทธ์ด้านสงครามราคาแล้ว ดังนั้น การให้บริการที่มีคุณภาพกับลูกค้า จะเป็นหนทางที่ทำให้พลิกฟื้นขึ้นมาได้อย่างยั่งยืน