เปิดใจ 'พิรงรอง รามสูต' 8 เดือน กสทช.เสียงข้างน้อย สู้กับ 'มติ' ที่ไม่เห็นด้วย

เปิดใจ 'พิรงรอง รามสูต' 8 เดือน กสทช.เสียงข้างน้อย สู้กับ 'มติ' ที่ไม่เห็นด้วย

เปิดใจ “พิรงรอง รามสูต” หนึ่งในบอร์ด กสทช. ที่ทุกครั้งเมื่อต้องลงมติในประเด็นสำคัญๆ มักจะเป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งเธอ ยอมรับว่า ต้องปรับตัวเยอะ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับบอร์ดคนอื่นที่มีความเห็นค่อนข้างต่างกันโดยสิ้นเชิง!! หากต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มักถูกตั้งคำถามถึงบทบาทการกำกับดูแล และการต้องอนุมัติในเรื่องต่างๆ จนเกิดเป็นประเด็นให้ดราม่ากันแบบต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 2 เรื่องใหญ่ที่ต้องให้บอร์ด กสทช.ลงมติ และกลายเป็นประเด็นที่ค้านสายตาประชาชน ทั้งการอนุญาตให้ “ทรูและดีแทค” สามารถควบรวมกิจการกันได้ ด้วยเหตุผลว่า  เพราะกสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณา ทำได้เพียงรับทราบเท่านั้น

ต่อมา กสทช. มีมติอนุมัติให้เงินสนับสนุนการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จำนวน 600 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสดูการถ่ายทอดอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่จำนวน 600 ล้านบาทดูจะไม่มีความหมาย เพราะท้ายที่สุด กกท.กลับไปขายลิขสิทธิ์อีกทอดให้ “ทรู” ทำให้ผู้รับใบอนุญาตประเภทไอพีทีวีของกสทช.ไม่ได้ถ่ายทอดแม้แต่นัดเดียว

เปิดใจจุดยืนมติเสียงข้างน้อย

ทุกครั้งที่มีการลงมติในประเด็นสำคัญๆ มักจะมีเสียงข้างน้อยอยู่หนึ่งเสียงจาก “อาจารย์พิรงรอง รามสูต” กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ฯ ที่ประกาศตัวต่อสาธารณชนตลอดว่า "ไม่ยินยอม" ให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ควบรวมกิจการ เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จากการลดผู้เล่นในตลาด เข้าข่ายการผูกขาดในระยะยาว

ส่วนเรื่อง 600 ล้านบาท อาจารย์พิรงรอง ก็เสียงแข็งมาตลอดว่า "ไม่เห็นด้วย" ที่เอาเงินกองทุน กทปส.ไปสนับสนุนฟุตบอลโลก

อาจารย์ พิรงรอง เปิดใจถึงบทบาทการทำหน้าที่ กสทช. ที่ถูกตั้งความหวังจากสังคมไว้สูง

เธอ เล่าถึงความคืบหน้าการทวงเงินฟุตบอลโลก 600 ล้านบาทว่า หลังที่ กสทช.ส่งหนังสือไปยัง กกท. จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการตอบกลับจาก กกท. แต่บอร์ด กสทช.ได้ตั้งคณะทำงาน คำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งจะพิจารณาด้านความเสียหายต่อประชาชน ต่อผู้ประกอบการต่างๆ ส่วนจะอยู่ในมูลค่าประมาณเท่าไหร่ เบื้องต้นยังประมาณมูลค่าไม่ได้ เนื่องจากขั้นตอนการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา และมอบหมายงานโดยสำนักงาน กสทช. คาดว่า จะสามารถแต่งตั้งคณะทำงานได้หลังปี 2566

“เราต้องดูมูลค่าความเสียหาย และผลกระทบ จะเป็นมูลค่าประมาณเท่าไหร่ เพราะยอมรับว่าส่วนหนึ่ง กกท. ทำให้เกิดการรับชมผ่านทีวีภาคพื้นดินที่ประสบความสำเร็จ เราคงต้องแฟร์ว่าส่วนไหนที่ขาดหายไป” อาจารย์พิรงรอง กล่าว

โดนรับน้องตั้งแต่ค่าโทรวินาที

ด้านการทำงาน ในฐานะบอร์ด กสทช.ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา อาจารย์พิรงรอง เล่าว่า สิ่งแรกที่เหมือนโดนรับน้องในการลงมติ และไม่เข้าใจเลย คือ เรื่องการอุทธรณ์ค่าโทรเป็นวินาที ซึ่งศาลตัดสินให้ กสทช.แพ้ และให้กำกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คิดค่าโทรเป็นวินาที ไม่ให้เหมาเป็นนาที

เรื่องนี้ เธอมองว่า เป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชน และไม่ควรอุทธรณ์คำสั่งศาล แต่สุดท้ายต้องแพ้โหวต จากบอร์ด กสทช.คนอื่นมีมติให้อุทธรณ์ เพราะเห็นว่า เป็นหน้าที่ที่ กสทช.ต้องทำจนกว่าจะสิ้นสุดผลทางกฎหมาย แต่ขณะที่เรื่องอื่น ก็ไม่เห็นบอร์ด กสทช.ทำเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังเจอเรื่องใหญ่อีก 2 เรื่อง ที่ตัวเองเป็นความเห็นข้างน้อย คือ เรื่องการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคที่ไม่เห็นด้วย กับ เรื่องการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ควรให้ประชาชนได้รับชมบนทุกแพลตฟอร์มตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) และประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในรายการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (Must Have)

“การทำงานใน 8 เดือน ที่ผ่านมา เราต้องปรับตัวเยอะ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับบอร์ดคนอื่นที่มีความเห็นค่อนข้างต่างกันโดยสิ้นเชิง เราก็ต้องเคารพในสิทธิของกันและกัน เพราะทุกคนก็มีชุดความคิดของตัวเอง”

ปลุกทีวีดิจิทัลสร้างคอนเทนต์น้ำดี

อาจารย์พิรงรอง ยังได้ให้มุมมองถึง การมีช่องดิจิทัลที่หลากหลาย แต่อาจไม่นำมาสู่การพัฒนาคอนเทนต์ ซึ่ง กสทช.ก็มีแนวทางการดำเนินการ มีช่องทางเรื่องการส่งเสริมให้มีการผลิตรายการที่มีคุณภาพ และส่งผลประโยชน์ต่อสังคม ที่เป็นไปตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการสื่อ กิจการโทรทัศน์ ปี 2551 ที่ระบุว่าให้คณะกรรมการสามารถจัดทำเกณฑ์ในเรื่องนี้ได้

เป็นเรื่องที่ กสทช. กำลังดำเนินการอยู่ และคาดว่าในไตรมาส 1/2566 เตรียมจะเสร็จ และไตรมาส 2/2566 จะมีการทำประชาพิจารณ์ สุดท้ายอาจจะเป็นช่วงก่อนปลายปี 2566 ถึงจะมีการสนับสนุนตรงนี้ได้ และมีการจัดสรรเงินทุนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

เบื้องต้นมาตรา 52 ระบุว่า คณะกรรมการสามารถสนับสนุนการผลิตเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์และมีคุณภาพ กสทช.จึงต้องมีเกณฑ์ที่มอง 3 ส่วนหลักที่มีข้อมูลทางวิจัยรองรับ 1.เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน 2.เนื้อหาที่มีศักยภาพในแง่การที่จะผลิตร่วมกันกับผู้มีศักยภาพมากๆ ในต่างประเทศ และ 3.เนื้อหาสะท้อนความหลากหลายของสังคม ซึ่งแนวทางที่จะนำมาสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเกิดแรงจูงใจในการผลิตคือการสนับบสนุนด้านการเงินที่มีแพ็กเกจให้ ซึ่งมองการผลิตที่สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ รวมถึงให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเชิงธุรกิจได้ ระยะถัดไปอาจจะมีการเวิร์คช้อปเพื่อเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการต่อไป

อาจารย์พิรงรอง มองว่า ผู้ประกอบการไทย มีศักยภาพแต่ในแง่การผลิตเนื้อหา อาจมีเส้นเรื่องที่ยังไม่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงไม่ดึงดูดใจชาวต่างชาติ กสทช.จึงได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเกาหลี ซึ่งจำนวนงบประมาณค้างท่อปี 2565 จำนวน 200 ล้านบาท ซึ่งจะมีการขออนุมัติจากบอร์ด กสทช.ก่อน และนี่คือโอกาสที่ไทจจะสร้างชิ้นงานเป็นของตัวเอง รวมถึงสร้างศักยภาพเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ไทยให้แข็งแรงสู่สายตาระดับโลก

คุย“ดีอีเอส”เคลียร์ปัญหาโอทีที

สำหรับบริการโอเวอร์ เดอะ ท๊อป หรือ โอทีที คือ การให้บริการเนื้อหา เช่น ภาพยนต์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ กสทช.จะเดินหน้าเข้าพูดคุยกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) วันที่ 3 มกราคม 2566 ซึ่งขณะนี้มีคณะอนุกรรมการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร และกำลังสืบข้อมูลอยู่ โดยจะนำข้อมูลที่ได้เจรจากับผู้ประกอบการมาเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาพูดคุยในวันดังกล่าว

“สำหรับที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้ประกอบการโทรทัศน์ ที่ทำโอทีทีเกือบทุกเจ้า เพราะขอบเขตอานาจ กฎหมายขึ้นอยู่กับกระทรวงดีอีเอสทั้งหมด และ กสทช.ไม่ได้พยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่พยายามที่จะไม่เป็นการทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์แบกรับมากเกินไป และโอทีทีไม่ได้แบกรับอะไร ซึ่ง กสทช.จะหาจุดที่เป็นจุดตรงกลางมากกว่า”