เสียงจากเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ชี้แนะประเทศไทยก่อนเดินไปสู่ยุค 5.0

เสียงจากเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ชี้แนะประเทศไทยก่อนเดินไปสู่ยุค 5.0

เปิดใจ “ธนินท์ เจียรวนนท์” เส้นทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประเทศไทย บนความเชื่อมโยงของระบบการศึกษาไทย ให้สอดคล้องกับเทรนด์โลกดิจิทัล 5.0

ประสบการณ์กว่า 80 ปีของ ธนินท์ เจียรวนนท์ กลั่นกรองผ่านถ้อยคำ เป็นหมายเหตุประเทศไทย กะเทาะปัจจุบันและชี้อนาคต

ไม่ว่าจะโลกธุรกิจหรือโลกอุตสาหกรรมทุกอย่างล้วนเติบโตได้ด้วยความรู้ และการทำงานสอดคล้องกับนวัตกรรมการศึกษา

ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์เปิดเผยระหว่างการจัดงาน “Forum for World Education 2022” ที่สภาเพื่อการศึกษาระดับโลก(FWE) ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” และเป็นเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการศึกษาจากภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกว่า เทรนด์ของโลกจะเป็นอย่างนี้ต่อไป นั่นทำให้ตัวเขาเองก็เลือกที่จะสร้างสถาบันที่จะสร้างคนทำงาน โดยเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัย หรือที่เขายกตัวอย่างสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เป็นสถาบันสร้างผู้นำหรือ Start Up ที่มีคุณภาพ

แต่เมื่อมองในเชิงโครงสร้าง การศึกษาไทยก็ยังติดขัดอยู่ด้วยเหตุผลบางประการ

“จริงๆ คนไทยไม่ได้แพ้ใคร แต่การศึกษา ผมคิดว่าเรายังอยู่ในรูปแบบเก่า เรายังเปลี่ยนแปลงไม่ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เราต้องรู้ว่าโลกต้องการคนชนิดไหน ยุค 4.0 เราต้องสร้างนักศึกษาประเภทไหนให้เหมาะสม ผมว่าในการเรียนสายธุรกิจน่าจะเรียนไป ทำงานไป จะได้ความรู้เร็ว และความเข้าใจ

ผมอยากจะพูดเรื่องปริญญากับปัญญา ปริญญาใครๆ ก็เรียนได้ถ้าความจำดี ขยัน ก็เรียนได้แล้ว แต่ปัญญาไม่ใช่ ปัญญาไม่ได้ทุกคน มันมีเรื่องอีกเยอะ ต้องทุ่มเท ต้องลงลึก ต้องเรียนรู้ ต้องใจกว้าง ต้องมีความอดทน ต้องมีความพยายาม เพราะต้องทำของจริง ไม่ใช่เรียน ต้องไปเจออุปสรรค แล้วคุณแก้อย่างไร มันไม่ใช่เรียน แล้วปัญญาต้องเกิดจากการกระทำ ทำแล้วล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ก็เป็นปัญญาได้ สำเร็จก็เป็นปัญญา ปริญญาเราเรียนไป คะแนนสูงหรือคะแนนต่ำ สอบผ่านก็ถือว่าจบ แต่ปัญญาไม่ใช่ ต้องได้ความรู้จากการกระทำที่แท้จริง จะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ ก็เป็นบทเรียนที่เราไม่ทำผิดอีก ถ้าผ่านงานยิ่งเยอะเท่าไร ยิ่งล้มเหลวก็เป็นปัญญา สำเร็จก็เป็นปัญญา”

นอกจากตัวผู้เรียนรู้เองแล้ว ระบบการศึกษายังมีฟันเฟืองสำคัญอยู่คือ “ครู” และที่ผ่านมาครูที่ใครๆ ก็เปรียบเป็นเรือจ้าง ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนลง ทั้งด้วยความเหนื่อยยากในอาชีพ หรือปัญหาซ้ำซากที่เกิดกับวงการครู เช่น เรื่องหนี้สิน หรือสวัสดิการที่น้อยนิด เป็นต้น

เจ้าสัวธนินท์ พูดถึงเรื่องบุคลากรสำคัญนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า จำเป็นจะต้องผลักดันให้เกิดค่าตอบแทนสูงในวิชาชีพนี้ อย่างน้อยต้องสมน้ำสมเนื้อ

“เราต้องทำให้เขามีความสุข ให้เขาสอนโดยไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นหนี้ รายได้น้อยไป คือ เราต้องคัดคนที่เหมาะสม แล้วกล้าให้รายได้เขาอย่างพอใจอย่างยิ่ง แล้วไม่ใช่จะมาเป็นครูง่ายๆ ต้องเป็นคนเก่งจริงๆ ต้องรักการเป็นครู ต้องมีจิตใจที่อยากจะสอน อยากจะพัฒนาคน สอนคน มีความจริงใจ ต้องมีความสุข และมีรายได้ที่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน

แล้วถ้าครูยังมีหนี้สิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง แล้วครูจะไปสอนคนได้อย่างไร ตอนนี้ครูเรามีเหลือแล้วนะ เพราะเด็กเกิดน้อย บางโรงเรียนต้องปิดแล้วนะเพราะไม่มีคนไปเรียน เมื่อก่อนเราต้องสร้างโรงเรียนเพื่อให้ทันเด็กที่เกิดใหม่ ถ้าครูเก่งไม่พอ เอาครูที่เก่งที่สุดสอนบนออนไลน์เลยครับ แล้วก็ให้ครูที่อยู่ในห้องเรียน เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน แล้วต้องเอาใจใส่นักเรียน สนับสนุนนักเรียนที่อยู่ในห้อง ให้ครูที่เก่งที่สุดอัดเป็นวิดีโอ ถ้าไม่เข้าใจก็เปิดอีก เปิดจนเข้าใจ แต่อย่างไรนักเรียนต้องไม่อยู่บ้านนะ ต้องมาเจอกัน มาสังสรรค์กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ได้รู้จักกัน นี่คือได้เรียนรู้วิถีชีวิต”

นอกจากรัฐแล้ว ภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ธนินท์เล่าว่าซีพีพยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด จนถึงปัจจุบันมีพนักงาน 400,000 กว่าคน ทำให้เขาเล็งเห็นว่ายิ่งคนไทยมีการศึกษาดี เท่าทันเทคโนโลยี ก็จะเป็นผลดีต่อองค์กร

“ผมอยากให้เรียนรู้ว่าทั่วโลกสร้างคนรุ่นใหม่อย่างไร เราเอาข้อดีของหลายๆ ประเทศ แล้วมากำหนดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทย ผมอยากแนะนำว่ารัฐบาลอย่าไปคิดเอาเอง มีตัวอย่างในโลกนี้ และแต่ละประเทศมีทีเด็ดของประเทศตัวเอง เราก็เอามาเป็นทีเด็ดของประเทศไทย เหมือนทำธุรกิจ ผมยอมเรียนรู้จากประเทศที่เขาเหนือกว่า เราก็เอาความเก่งของแต่ละประเทศมาประยุกต์เป็นเทคโนโลยีของซีพี เอามาต่อยอดทำให้ดีกว่า”

หลังจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องบอบช้ำจากอุปสรรคปัญหาใหญ่ทั้งโรคระบาดไปจนถึงสถาวะเศรษฐกิจถดถอย ความหวังของทุกคนในปีหน้าจึงไม่พ้นให้อะไรต่อมิอะไรดีขึ้น แต่หลายความคิดเห็นกลับเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ อาจต้องมองข้ามไปยังปี 2567 กันเลย

ทว่าในทางตรงกันข้าม มุมมองจาก เจ้าสัวธนินท์ ถึงเรื่องเศรษฐกิจที่หลายคนแทบจะสิ้นหวัง กลับย้อนศร สวนทาง นัยหนึ่งนี่อาจจุดประกายความหวังให้หลายคนพร้อมเดินหน้าต่อ เพียงแต่ปัจจัยต่างๆ ทั้งจากรัฐ เอกชน ไปจนถึงเชิงโครงสร้างจะพร้อมรับโอกาสหรือพร้อมจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสหรือไม่

“ผมเคยพูดว่าถ้าโควิดหยุดเมื่อไร ทุกอย่างจะฟื้นอย่างเร็ว เหตุผลเพราะว่าอย่างไรสถานีรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ ไม่ได้ถูกทำลายเหมือนสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงน่าจะสู่สภาวะปกติในไม่ช้า แล้วยังเจอการเมืองที่เราคาดไม่ถึง เจอโลกร้อน น้ำท่วม ปัญหาร้อน ปัญหาหนาว เรื่องสงครามรบกัน เลยมาทับถมอยู่ แต่กลายเป็นว่าทำให้ทั่วโลกหันกลับมาสนใจอาเซียน และสนใจประเทศไทย น่าจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้ แต่ก็อยู่ที่รัฐบาลไทย ไม่ว่าจะชุดเดิมหรือชุดใหม่ โอกาสแบบนี้อาจจะพันปีเจอครั้ง ไม่ควรปล่อยผ่าน ฝนตกมีอะไรไปรองรับน้ำ หรือปล่อยน้ำไหลออกไปเฉยๆ...

ที่มีคนบอกว่าปีหน้าเป็นปีเผาจริง ผมว่าไม่ใช่ เผาจริงคือ ปีนี้ เพราะเราเริ่มเปิดประเทศ แล้วคนติดง่ายแต่ก็หายง่าย ไม่อันตรายมาก แต่จะดีแค่ไหน ดีมากหรือดีน้อย อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ทั่วโลกมาลงทุนที่ประเทศเรา”

เมื่อ “เจ้าสัวธนินท์” คาดการณ์ว่าปีหน้าจะเป็นปีทอง ก็ได้เวลาของคนทำธุรกิจ นักลงทุน หรือแม้แต่รัฐบาลเองที่เป็นหัวใจสำคัญที่อาจจะชี้ชะตาว่าปีหน้าจะรุ่งหรือร่วงกันทั้งกระดาน

เขากล่าวถึงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่าจะเป็นโครงการที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน เพราะรถไฟความเร็วสูงจึงสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเชื่อมโยงถึงลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางที่แท้จริง เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่กลุ่มซีพีถือหุ้นใหญ่ กำลังพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ นโยบายการให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดิน ที่มีการแสดงความเห็นในวงกว้างช่วงที่ผ่านมา ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สามารถเป็นพื้นที่ ที่แบ่งสรรให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อได้ โดยมีที่ดินมากเพียงพอ ซึ่งนำไปสู่การลงทุนในพื้นที่ รวมถึงการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์