สดช.ตั้งเป้าปี 70 ปั๊มรายได้ดิจิทัลให้เป็น 30% ของจีดีพี

สดช.ตั้งเป้าปี 70 ปั๊มรายได้ดิจิทัลให้เป็น 30% ของจีดีพี

ลดราคาบรอดแบนด์ให้เหลือ 1% ของรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว พัฒนาให้ควบคู่ไปกับการรู้เท่าทันการใช้อินเทอร์เน็ตให้อยู่ในระดับ 68-75% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตให้รู้ถึงภัยแอบแฝงในโลกออนไลน์ หลุดกับดักรายได้ประเทศปานกลางในปี 2580

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กล่าวในหัวข้อ “การกระจายอำนาจการปกครองยุคดิจิทัล” ว่า หลังจากที่มีการก่อตั้งสดช.ได้มีการร่วมกันพิจารณา (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 - 2580) ซึ่งปัจจุบันผ่านไปแล้ว 2 ระยะ แต่ในฉบับปรับปรุง ประกอบด้วย

1.บริบทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล 2. วิสัยทัศน์ และภูมิทัศน์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ 4. กลไกการขับเคลื่อนทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะนำ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ ฉบับปรับปรุงนี้ เสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดีอี) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ จากการรวบรวมผลการดำเนินงานใน 2 ระยะแรกที่ผ่านมา ด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา พบว่า โครงการเน็ตประชารัฐ หรือโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย ครบทั้ง 74,987 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งสถานศึกษา หมู่บ้าน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลลงทะเบียนใช้บริการ Free WiFi ภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ 10,487,510 คน
 

ทรานฟอร์ม-เท่าทัน-ทั่วถึง

ส่วนที่เหลือต่อจากนี้ สดช.กำลังอยู่ระหว่างการทบทวน และปรับปรุงนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) ในระยะ 3 ระหว่างปี 2566-2570 โดยอยู่ในขั้นตอนระดมสมองเพื่อจัดทำภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Future Scenario) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน

ทั้งนี้ แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ระยะ 3 ของประเทศ เป็นการวางยุทธศาสตร์เพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่าน (Transforming) จากระยะแรก เป็นการปูพรมวางโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ โครงการเน็ตประชารัฐดังที่กล่าวไปข้างต้น 

และระยะที่ 2 การมีส่วนร่วมและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทยทุกคน (Inclusion) ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เกิดอัตราเร่งที่เร็วขึ้นเน็ตไทยราคาที่สมเหตุสมผลไม่เกิน 2% ของรายได้ต่อครัวเรือน ขณะที่สัดส่วนประชาชนที่เข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 83.8% (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2564) และราคาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายเดือนด้วยความเร็วขั้นต่ำ อยู่ในระดับไม่เกิน 2% หรือไม่ต่ำเหลือเพียง 1% กว่าๆ ของรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว (ไม่ควรเกิน 385 บาท โดยค่าบริการเริ่มต้นเฉลี่ย 220 บาทต่อเดือน สำหรับอัตราความเร็ว 30/10 Mbps.

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2570 จะขยายรายได้ที่เกิดจากดิจิทัลให้เป็น 30% ของจีดีพีประเทศ จากปัจจุบันที่อยู่เพียง 12%

ดังนั้น ช่องว่างที่ขาดไป 18% นั้น สดช.ต้องมองถึงการเก็บข้อมูลการใช้จ่ายผ่านดัชนีดิจิทัลในมิติที่หลากหลายมากขึ้นมาก แต่จะต้องพัฒนาให้ควบคู่ไปกับการรู้เท่าทันการใช้อินเทอร์เน็ตให้อยู่ในระดับ 68-75% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตให้รู้ถึงภัยแอบแฝงในโลกออนไลน์

และขยับไปอีก 10 ปี ในปี 2580 จะผลักให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางด้วยดิจิทัล

5G-ดาวเทียมช่วยเปลี่ยนผ่าน

เลขาธิการสดช. กล่าวเสริมว่า แผนในระยะที่ 3 ยังจะมีการวางกรอบการส่งเสริมการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ที่ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่อาคารก่อสร้าง ที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 5G โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองต้องกำหนดสเปกของอาคาร 5G ให้ชัดเจน, การกำหนดจริยธรรมหุ่นยนต์หรือ AI Ethics เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งการศึกษาการนำดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit หรือ LEO Satellite) 

เพื่อนำมาให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลในต้นทุนที่ประหยัดกว่าการวางสายไฟเบอร์ออปติกหรือติดตั้งสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งสดช.คาดหวังว่าดาวเทียมวงโคจรต่ำจะช่วยขยายการให้บริการอินเตอร์เน็ตไปสู่ครัวเรือนชายขอบของไทยที่อินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงอีก 10-20% ที่เหลือได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของภาครัฐจะกระทบชิ่งไปยังประชาชนให้ต้องเปลี่ยนผ่านตามไปด้วย ภายใต้การให้บริการต่างๆของภาครัฐสู่ประชาชน ทั้งการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น แต่ต้องยอมรับความจริงว่าในทุกประเทศภาคเอกชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น ภายใต้ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน