‘ไอบีเอ็ม’ เปิดวิชั่นใหญ่ ปลุก ‘เทคโนโลยี’ หนุนความ ‘ยั่งยืน’

‘ไอบีเอ็ม’ เปิดวิชั่นใหญ่ ปลุก ‘เทคโนโลยี’ หนุนความ ‘ยั่งยืน’

วันนี้ความยั่งยืนก้าวขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในบอร์ดรูม หรือแผนกลยุทธ์ขององค์กร ขณะนี้ผู้บริโภคในหลายประเทศ มองความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นของคู่กัน และมองหาแบรนด์ที่แสดงจุดยืนรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว 

ขณะที่ COP27 หรือการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ UN กำลังดำเนินอยู่ (6-18 พ.ย.) ที่อียิปต์ และที่ผ่านมาสมัชชาระหว่างประเทศของ UN ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 45% ภายในปี 2573 (เทียบกับระดับก๊าซคาร์บอนในปี 2553) หากต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิภายในศตวรรษนี้ไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส 

คำถามคือ แล้วเราจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้จริงหรือไม่

รายงานล่าสุดโดย UN Climate Change บ่งชี้ว่า ความพยายามที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอหากต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยนับตั้งแต่ประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ มีเพียง 29 จาก 194 ประเทศที่ได้ประกาศยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และบางโครงการที่ได้ประกาศออกมาแล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าจะส่งผลลัพธ์ดังที่คาดไว้

“สวัสดิ์ อัศดารณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวในประเด็นนี้กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วันนี้หลายประเทศเริ่มมี หรือกำลังพัฒนาข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลขององค์กร เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นในปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปสั่งแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อังกฤษวางแผนลงทุน 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมการปั่นจักรยานและเดิน เกาหลีใต้ มีแผนจะเพิ่มเงินสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นสองเท่าเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบโซลาร์เซลล์ในบ้านและอาคารพาณิชย์ จีนมีแผนจะสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 78,000 แห่ง

ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) วางเป้าหมายให้ไทยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 567 แห่ง และเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge 13,251 เครื่องทั่วประเทศ ภายในปี 2573

ในมุมธุรกิจ แม้วันนี้ความยั่งยืนดูเหมือนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในบอร์ดรูม หรือแผนกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งโดยหลักก็เพราะขณะนี้ผู้บริโภคในหลายประเทศ มองความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นของคู่กัน และมองหาแบรนด์ที่แสดงจุดยืนรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว 

หากผลศึกษาโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) และ Oxford Economics ใน 32 ประเทศ บ่งชี้ว่า "มีการพูดคุยกันมากมาย แต่ไม่ค่อยได้ลงมือทำ แม้องค์กร 86% ได้วางกลยุทธ์ความยั่งยืนไว้แล้ว แต่มีเพียง 35% เท่านั้นที่ได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ และมีเพียง 27% ที่มองว่าความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบหลักเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของตน”

สวัสดิ์ ย้ำว่า “นี่คือความท้าทายด้านความยั่งยืนครั้งใหญ่ที่เรากำลังเผชิญ ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนความตั้งใจและคำมั่นสัญญาให้กลายเป็นการลงมือปฏิบัติจริง”

พันธกิจองค์กร

สำหรับหลายบริษัท ผลกระทบสภาพภูมิอากาศ อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรง “หลายองค์กรจึงกระจายเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การจัดหา ไปจนถึงการผลิต หรือการร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่รีไซเคิลง่ายและปล่อยคาร์บอนต่ำ เพื่อลดการปล่อยก๊าซในห่วงโซ่คุณค่าของตน” 

กล่าวได้ว่า ผลกระทบที่มากที่สุดน่าจะมาจากธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ เพราะเป็นผู้บริโภควัสดุบรรจุภัณฑ์อย่างพลาสติกและกระดาษอันดับต้นๆ อย่างไรก็ดี อย่างน้อยวันนี้เราเริ่มเห็นบริษัทค้าปลีกจำนวนมากนำกล่องพัสดุที่ใช้ซ้ำได้และวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการรีไซเคิลมาใช้

ผลศึกษาโดย IBV เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคครั้งใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับสองปีก่อน มีผู้บริโภคมากกว่าเดิม 22% ที่กล่าวว่าความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากต่อการตัดสินใจเลือกแบรนด์ เมื่อถูกถามถึงการท่องเที่ยวและการเดินทางส่วนบุคคล 40% ให้ความสำคัญต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าราคาและความสะดวกสบาย

สวัสดิ์ เล่าว่า “ผู้บริโภคที่สำรวจ 50% เชื่อว่าการที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศของตน อาจเป็นการสร้างความเสี่ยงด้านการเงินให้กับบริษัทเหล่านั้น โดย 92% ของผู้บริโภคกลุ่มนี้คาดว่าจะเลือกลงทุน หยุดลงทุน หรืออาจล็อบบี้ให้ผู้จัดการกองทุนเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนโดยอิงจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและ/หรือความรับผิดชอบทางสังคมในอีก 12 เดือนข้างหน้า”

10 แนวทางปลุกองค์กรสู่ความยั่งยืน

“คำถามคือ บริษัทจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างวาระความยั่งยืนในระยะยาว และจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนและการทำตามแนวคิด ESG ได้อย่างไร ต่อไปนี้คือแผนปฏิบัติการ 10 ข้อที่ IBV แนะนำ”

1. ผนวกรวมความยั่งยืนเข้ากับแกนหลักของธุรกิจ ด้วยการวางเป้าหมายความยั่งยืนในระยะยาวและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็มองหากรณีการใช้งานที่มีแนวโน้มจะพาองค์กรบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น 2. หยุดใช้ความยั่งยืนเป็นเครื่องมือเอาใจคนบางกลุ่ม แต่หันมาแสวงหาโอกาสพัฒนากระบวนการทางธุรกิจ ดำเนินการในซัพพลายเชน และแนวทางใหม่ๆ ในการเติบโต

3.ดึงผู้บริหารระดับสูงร่วมสร้างและผลักดันวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน พร้อมก่อตั้งทีมงานหลักในหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่ใช้ KPI ชุดเดียวกันในการวัดเป้าความสำเร็จ 4.ใช้โซลูชันที่เป็นแพลตฟอร์ม ลดผลกระทบจากดิสรัปชันที่อาจมีต่อธุรกิจ รวมถึงช่วยระบุและลดผลอันอาจเกิดจากการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นการลงทุนที่น้อยกว่า เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วกว่า และถูกต้องแม่นยำมากกว่า

5. ใช้เทคโนโลยีคลาวด์ โรโบติกส์ และเอไอ ช่วยตรวจสอบและกำกับดูแล การนำเอไอมาใช้กับชุดข้อมูลจำนวนมากช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ดีขึ้น และสามารถให้คำแนะนำเพื่อช่วยให้องค์กรปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆ อย่างครบถ้วน 6.สำรวจหาแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานในแนวทางที่ยั่งยืนขึ้น นำเวิร์คโฟลว์อัจฉริยะมาใช้กับเวิร์คโฟลว์ปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจ

7. ใช้ซอฟต์แวร์ช่วยจัดทำรายงาน ESG อย่างเช่น Envizi เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลไว้ในระบบเดียว และปรับปรุงการรายงาน ESG ให้ตรงตามข้อกำหนดด้านการรายงานทั้งในและนอกองค์กร  8.สร้างความร่วมมือกับคู่ค้าและอีโคซิสเต็ม ใช้ประโยชน์จาก บล็อกเชน ไอโอที และเอไอ ช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กร รัฐบาล สมาคมการค้า และภาคธุรกิจได้ 9. เพิ่มความโปร่งใสเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค เช่น การปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญลักษณ์รับรองสีเขียว หรือการเพิ่มฉลากการใช้พลังงานสีเขียว 5 ดาวบนผลิตภัณฑ์

และ 10. เร่งผลักดันนวัตกรรมด้วยการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้พลังงานทดแทน วัสดุรีไซเคิล และวัสดุทางเลือกอื่นๆ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์