ดีป้าขยับหมุดหมายใหม่สู่ “ดิจิทัล อินฟินิตี้”

ดีป้าขยับหมุดหมายใหม่สู่ “ดิจิทัล อินฟินิตี้”

กางแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลระยะที่ 2 จะเน้นหนักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave Industy) และซอฟต์พาวเวอร์ ระบุ 6 ปีที่ผ่านมากลไกการทำงานเริ่มเข้าที่แล้วผ่านไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ หนุนสตาร์ทอัพช่วยเคลื่อนสมาร์ทซิตี้

การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นไมล์สโตนสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องการจะทำให้ได้และเกิดผลในเชิงรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ทัดเทียมในระดับเวทีโลก แต่ความท้าทายที่รออยู่คือการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วยความพร้อมทั้งหมดที่มี

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีป้า กับการทำงานในขวบปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “DIGITAL INFINITY - ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด” จะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) จะเน้นหนักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave Industy) และซอฟต์พาวเวอร์ 

ซึ่ง DIGITAL INFINITY จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากำลังคนดิจิทัล การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมไปถึง การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รองรับการเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ

โดยที่ผ่านมา ได้รับบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่มีทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยี AI, Blockchain รวมถึงการพัฒนา Data Science และ Data Engineer

“โครงสร้างพื้นฐานอย่างไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์จะเสร็จสมบูรณ์ใน 2 ปีต่อจากนี้ เราจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น และเราจะเน้นสร้างเครือข่ายพันธมิตรโดยเฉพาะกับสิงคโปร์ที่เป็นฮับด้านดิจิทัล พอให้เขายึดไทยเป็นฐานเปิดประตูสู่อาเซียน ในลักษณะการทำงานแบบเมืองพี่เมืองน้อง”

วางโรดแมปพัฒนาคนดิจิทัล

ดีป้าพยายามผลักดันให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่องด้านดิจิทัลผ่าน 8 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย อาทิ โครงการ HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY โครงการสร้างความตระหนัก พร้อมยกระดับทักษะและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ประชาชนไทย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ก่อนนำความรู้และทักษะที่ได้รับมาต่อยอดการเรียนรู้สู่อาชีพแห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเป้าหมายสำคัญ ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา นักศึกษาวัยหางาน และนักศึกษาจบใหม่ ตลอดจนผู้ที่สนใจทำงานในสายดิจิทัล

โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (Smart City Ambassadors GEN 2) โครงการยกระดับทักษะการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการจ้างงานคนรุ่นใหม่รักบ้านเกิดในฐานะนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ พร้อมด้วยบุคลากรหน่วยงานพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 12 เดือน

ผอ.ดีป้า ประเมินว่า โครงการทั้งหมดจะช่วยสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 3.2 แสนล้านบาท ขณะที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับทุกโครงการ และได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลมากกว่า 6.2 ล้านราย
 

จีบ“ญี่ปุ่น”ลงทุนไทยต่อเนื่อง

ผอ.ดีป้า ได้เดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับ Ministry of Internal Affairs and Communications (MIC) (กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น) เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยในทุกระยะการเติบโต 

พร้อมแนะนำโครงการ ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ อ. ศรีราชา จ.ชลบุรี ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นักลงทุน โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นจะได้รับ หากเข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยเป็นศูนย์นวัตกรรมต่างๆที่สำคัญคือการชักชวน MIC และนักลงทุนญี่ปุ่นให้ร่วมลงทุนในดิจิทัล สตาร์ทอัพ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้

รวมถึงความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต ผ่านโครงการผลักดันอุตสาหกรรมเกมไทยสู่ตลาดโลก (Thai Game Industry to Global) โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเกมของประเทศไทยให้แสดงศักยภาพและพัฒนาเกม เตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมเกมระดับสากล พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเกมไทยเจรจาการค้า จับคู่ธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติ และขยายเครือข่ายความร่วมมือแก่ผู้ประกอบการผ่าน 2 กิจกรรม ได้แก่ Game Online Academy และ Game Accelerator Program

เกษตรอัจฉริยะพลิกเศรษฐกิจ

ณัฐพล กล่าวว่า นอกจากนี้ ดีป้ายังเดินได้ดูนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ ที่ HarvestX Lab (Future Farming) ณ The University of Tokyo โดย HarvestX Lab เป็นสถานที่สำหรับวิจัยระบบหุ่นยนต์ปลูกสตรอว์เบอร์รีอัตโนมัติ โดยมีการนำข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีเอไอ มาพยากรณ์การเพาะปลูก และใช้หุ่นยนต์ในการผสมเกษร จนถึงขั้นตอนการเก็บผลผลิต ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็น 83.7% มากกว่าการผสมเกษรโดยธรรมชาติที่ได้ผลผลิตอยู่ที่ 16.6%

ซึ่งหลังนวัตกรรมดังกล่าว สามารถนำมาเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาคเอกชนของไทยในการนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการ และพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Data Economy

ผ่านโครงการตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) โครงการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้ประกอบการเจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าหาบเร่ แผงลอย รวมถึง SMEs ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ผ่านการทำสมาร์ทซิตี้ และเกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง) ควบคู่ไปด้วยกัน