'การ์ทเนอร์’ เผย 3 ปัจจัย ดันยอดใช้จ่ายซิเคียวริตี้

'การ์ทเนอร์’ เผย 3 ปัจจัย ดันยอดใช้จ่ายซิเคียวริตี้

การ์ทเนอร์ เผย 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ชี้ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ของการโจมตีที่เกิดขึ้นจากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น คลาวด์ เอไอ โอที ไอโอที การทำงานระยะไกล รวมถึงการเชื่อมต่อมาจากระบบภายนอก

การ์ทเนอร์ อิงค์ เปิด 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของปริมาณ “การใช้จ่ายด้านความปลอดภัย” ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของการทำงานแบบไฮบริดและการทำงานระยะไกล, การเปลี่ยนผ่านของเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) ไปเป็นเทคโนโลยีการเข้าถึงเครือข่าย Zero Trust Network Access (หรือ ZTNA) และ การเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการจัดส่งข้อมูลบนคลาวด์

เรอเจโร คอนตู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดเร่งกระบวนการของการทำงานแบบไฮบริดและการเปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์ ซึ่งสร้างความท้าทายด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริหารไอที (CISO) ในองค์กรแบบกระจายศูนย์ที่เพิ่มมากขึ้น

ผู้บริหารความปลอดภัยด้านสารสนเทศต้องให้ความสำคัญไปที่การขยายพื้นที่ของการโจมตีที่เกิดขึ้นจากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นต่างๆ ทั้งจากการปรับใช้ระะบบคลาวด์ การผสานรวมเอไอ โอที ไอโอที การทำงานระยะไกล รวมถึงจากระบบโครงสร้างพื้นฐานองค์กรหรือผู้ให้บริการอื่นๆ ภายนอก

สำหรับการใช้จ่ายด้านความปลอดภัยของข้อมูลและการจัดการความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ นั้นคาดว่าจะเติบโตขึ้น 11.3% หรือมีมูลค่ากว่า 1.883 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 โดยการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์จะเป็นหมวดหมู่ที่เติบโตสูงสุดในอีกสองปีข้างหน้า

การ์ทเนอร์คาดว่าตลาดการจัดการความเสี่ยงแบบบูรณาการ (Integrated Risk Management หรือ IRM) จะเติบโตระดับเลขสองหลักจนถึงปี 2567 จนกว่าการแข่งขันในตลาดจะมากขึ้นและมีโซลูชันที่ราคาต่ำกว่า

ขณะที่ บริการด้านความปลอดภัย (Security Services) ซึ่งประกอบด้วย บริการการให้คำปรึกษา การสนับสนุนด้านฮาร์ดแวร์ การนำไปใช้งาน และบริการจากภายนอก ถือเป็นหมวดการใช้จ่ายด้านความปลอดภัยที่ใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าเกือบ 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ และคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 7.65 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566

สำหรับประเทศไทย การใช้จ่ายด้านความปลอดภัยของข้อมูลและการบริหารความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ คาดว่าจะเติบโตขึ้น 11.8% หรือประมาณ 1.67 หมื่นล้านบาทในปี 2566

โดยบริการรักษาความปลอดภัย (Security Services) มียอดการใช้จ่ายมากที่สุดขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย ส่วนการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ (Cloud Security) และการจัดการความเสี่ยงแบบบูรณาการ (Integrated Risk Management หรือ IRM) จะเป็นกลุ่มตลาดที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในปีนี้และปีหน้า

จากนี้ “Remote Work ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการลงทุน” จากความต้องการเทคโนโลยีที่เอื้อกับสภาพแวดล้อมการทำงานระยะไกลและแบบไฮบริดที่มีความปลอดภัยจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากองค์กรธุรกิจมองหาการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานจากบ้านที่ปลอดภัย

อีกปัจจัย “ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Zero Trust Network Access” ZTNA เป็นกลุ่มความปลอดภัยเครือข่ายที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด 

โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโต 36% ในปีนี้และ 31% ในปี 2566 ได้ปัจจัยหนุนมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการป้องกันแบบ Zero Trust ให้กับผู้ปฏิบัติงานระยะไกลและองค์กรลดการพึ่งพาเครือข่าย VPN เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึง

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 เทคโนโลยี ZTNA จะให้บริการการเข้าถึงจากระยะไกลใหม่อย่างน้อย 70% มากกว่าบริการแบบ VPN ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 10%

สุดท้าย “เปลี่ยนไปใช้โมเดลการจัดส่งบนคลาวด์” ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบมัลติคลาวด์ องค์กรต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นตลอดจนความซับซ้อนของการดำเนินงาน 

รวมถึงการจัดการเทคโนโลยีที่หลากหลาย การ์ทเนอร์คาดว่าจากปัจจัยที่ว่านี้นำไปสู่การกระตุ้นให้การรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ (Cloud Security) และส่วนแบ่งการตลาดของโซลูชั่นคลาวด์เนทีฟที่เติบโตมากขึ้น

ในปี 2566 มูลค่าตลาดรวมของโบรกเกอร์ความปลอดภัยการเข้าถึงระบบคลาวด์ (Cloud Access Security Brokers หรือ CASB) และแพลตฟอร์มปกป้องโหลดงานบนคลาวด์ (Cloud Workload Protection Platform หรือ CWPP) จะเติบโต 26.8% คิดเป็น 6.7 พันล้านดอลลาร์