กสทช.รับ'12ต.ค.'ดีลทรูดีแทคไม่จบ อ้างพบ'ข้อมูลใหม่'ต้องศึกษาเพิ่ม

กสทช.รับ'12ต.ค.'ดีลทรูดีแทคไม่จบ  อ้างพบ'ข้อมูลใหม่'ต้องศึกษาเพิ่ม

บอร์ดกสทช. 2 ใน 5 คน ยอมรับดีลควบรวมทรู-ดีแทคไม่จบวันที่ 12 ต.ค.นี้ ระบุมีกรณีศึกษาของต่างประเทศที่น่าสนใจเข้ามาใหม่ จำเป็นต้องนำมาศึกษาเพิ่ม และประธานบอร์ด "สรณ" เพิ่งบินกลับมาจากต่างประเทศ ยอมรับหาก “เอกชน” ไม่พอใจที่ดีลลากยาวก็ต้องทำใจ

นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันพรุ่งนี้ (12 ต.ค.) ได้บรรจุเรื่องการขอรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ไว้ในวาระการประชุมแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการลงมติเลยหรือไม่  

เนื่องจากบอร์ดต้องมาคุยรายละเอียดในขั้นตอนต่างๆรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และประกาศต่างๆ ของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะประโยชน์ต่อสาธารณะและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมที่มองข้ามไม่ได้ 

พบกรณีศึกษาจากต่างประเทศเพิ่ม

นอกจากนี้ ล่าสุดมีผลศึกษาจากต่างประเทศที่เพิ่งจัดทำเสร็จและน่าสนใจจึงต้องศึกษาเพิ่ม รวมกับการรับฟังความคิดเห็นต่างๆก็ต้องเอามาประกอบกันทั้งหมดในการพิจารณาด้วย

“เป็นเรื่องปกติที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ต้องดูตามเนื้อผ้า เพราะมีรายงานการศึกษาต่างๆ ของทั้งคณะอนุฯและที่ปรึกษาทั้งใน และต่างประเทศที่ได้ว่าจ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการการประชุมบอร์ดในวันพุธที่ 12 ต.ค.นี้ เรื่องควบรวมทรู-ดีแทค คงจะจบยากอาจยังไม่มีการลงมติ”
 

เช่นเดียวกับ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช. กล่าวว่า การประชุมบอร์ดกสทช.วันดังกล่าวยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสามารถลงมติเรื่องควบรวมได้หรือไม่ ซึ่งความล่าช้าเรื่องการตัดสินใจของบอร์ดแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

และบอร์ดเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่จะให้ตัดสินใจเลย ใครจะกล้าทำ การเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่เกือบทั้งหมดของบอร์ดทำให้ไม่มีความรู้เรื่องนี้มากนัก ที่สำคัญต้องยอมรับว่าประกาศหลักเกณฑ์ หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ได้เขียนชัดเจน ต้องมีการตีความเอามาประกอบด้วย

“หากบริษัทที่ต้องการควบรวมต้องการเร่งให้พิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ที่บริษัทจะอ้างกฎหมายในบ้างข้อว่ามีเงื่อนไขของเวลาเข้ามากำหนด ซึ่งบอร์ด กสทช.ได้พิจารณาแล้วอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการพิจารณาต้องดูข้อมูลและข้อกฎหมายให้ชัดว่าการตัดสินจะเป็นอย่างไร รวมถึงอำนาจในการตัดสินของกสทช.ด้วย”

ดังนั้น ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ต.ค.นี้ หากบอร์ดมีความเข้าใจในทุกประเด็นปัญหาร่วมกันอย่างชัดเจน มาตรการเยียวยา 14 ข้อ ที่สำนักงานกสทช.เสนอ สามารถตอบคำถามในทุกประเด็น และเป็นมาตรการที่แท้จริงได้

แหล่งข่าวจากบอร์ดกสทช.เสริมว่า บอร์ดไม่ได้ประชุมร่วมกันกว่า 3 ครั้ง อีกทั้งตัวประธานบอร์ดกสทช.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ก็เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเอง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะมาพิจารณาลงมติ เนื่องจากต้องมีการพิจารณาถึงอำนาจของบอร์ดกสทช.ก่อนว่ามีอำนาจหรือไม่ หรือทำหน้าที่เพียงแค่รับทราบตามที่สำนักงานเสนอเท่านั้น
 

สภาผู้บริโภควอนยึดอุดมการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (10 ต.ค.) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ยื่นหนังสือต่อกสทช.เพื่อขอให้บอร์ดใช้หลักอุดมการณ์และยืนหยัดข้างผู้บริโภคและประชาชน เนื่องจากกรณีที่ทรูและดีแทคนั้น มีเจตนาจะทำการควบรวมบริษัทในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งท่านในฐานะคณะกรรมการองค์กรอิสระที่ดูแลกำกับกิจการโทรคมนาคมจะต้องใช้อำนาจพิจารณาการควบรวมครั้งนี้ เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นบริษัทในกิจการโทรคมนาคม ที่หลังจากการควบรวมจะมีการเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 10% ในบริษัทลูก คือบริษัท ทรูมูฟเอช จำกัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด

ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อันขัดต่อตามบัญญัติมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ยิ่งไปกว่านั้น ยังขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562-2566 ที่มีผลผูกพันต่อ กสทช.ในทางปกครองนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม “ตามกฎหมายของปี 2549 กำหนดว่า การเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดเพื่อให้มีสิทธิ์กำหนดนโยบาย ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก่อนเท่านั้น จะกระทำก่อนไม่ได้”

เชื่อควบรวมกระทบสังคมทุกมิติ

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในฐานะเป็นตัวแทนผู้บริโภค ที่มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมดังกล่าว จะเกิดผลกระทบต่อสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านการศึกษา และหากบอร์ดกสทช.อนุญาตให้เกิดการควบรวมจะทำให้เกิดการผูกขาด และลดการแข่งขันในตลาดค่ายมือถือและตลาดอินเตอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความรู้ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ ของ กสทช. พบว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นอันตรายต่อการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่แสดงค่า HHI ที่เป็นดัชนีวัดการกระจุกตัวของตลาด ที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 2500 แต่หากเกิดการควบรวม ดัชนีนี้จะทะยานสูงถึง 5007 ที่ส่งสัญญาณอันตรายต่อตลาดนี้ที่นำทรัพยากรคลื่นความถี่ของประชาชนมาบริหาร โดยมีการคาดการณ์ว่า ราคาค่บริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มจะสูงขึ้นจาก 2.07% ในระดับเริ่มต้นของการแข่งขันหลังควบรวม และจะทะยานถึง 244.5% และทำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกในการใช้บริการ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในยุคดิจิทัล รวมถึงความมั่นคงในการบริการโครงข่ายสาธารณะเพราะการมีผู้ประกอบการน้อยรายย่อมเสี่ยงมากกว่าการมีผู้ประกอบการมากราย

“ในวันที่ 12 ต.ค. หากมีการลงมติให้ควบรวมได้ ทางสอบ. ก็มีแนวนโยบายอยู่แล้วว่าเรื่องนี้คงไปจบที่ศาลปกครอง ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็คงมีการฟ้องร้องตามหลักนิติธรรมปกติ แต่ขอให้ กสทช. มั่นใจว่า ถ้าลงมติ เพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว ถูกเอกชนฟ้อง ทาง สอบ. ก็พร้อมสนับสนุนในขั้นตอนของศาล แต่หากผลลงมติดูแล้วเอื้อเอกชนมากกว่าสาธารณะ ทาง สอบ. ก็ต้องฟ้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกัน” นางสาวสุภิญญา กล่าว