“อุตสาหกรรมดิจิทัล” ไทยเติบโต แต่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากร

“อุตสาหกรรมดิจิทัล” ไทยเติบโต แต่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากร

“สถาบันไอเอ็มซี” สำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัลประเทศไทยให้กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ ดีป้า (depa) เริ่มจากการสำรวจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และขยายมาเป็นอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

“สถาบันไอเอ็มซี” สำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัลประเทศไทยให้กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ ดีป้า (depa) ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี เริ่มจากการสำรวจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และขยายมาเป็นอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งสั่งซื้อสินค้า ดูหนังฟังเพลง และส่งอาหาร

วิธีสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทีมผู้สำรวจค้นหาข้อมูลรายได้บริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในหมวดธุรกิจภายใต้อุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงนำตัวเลขนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาคำนวณมูลค่าอุตสาหกรรม รวมถึงสำรวจข้อมูลจำนวนจ้างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมบริษัทต่างๆ เพื่อประมาณการจำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรม

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมทั้งสามที่ทีมไอเอ็มซีได้สำรวจแล้ว ดีป้ายังให้หน่วยงานอื่นสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ได้สำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งหากนำมูลค่าอุตสาหกรรมทั้ง 5 ด้านมารวมกัน จะพบว่า ช่วงปี 2564 อุตสาหกรรมดิจิทัลบ้านเรามีมูลค่าสูงถึง 1.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.33% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สะท้อนอัตราการเติบโตมาก และอาจสวนทางกับหลายๆ อุตสาหกรรมที่ชะลอตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด

ตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรมทำให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยมีการใช้ดิจิทัลกันอย่างมากและอุตสาหกรรมโตขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งการใช้ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ โทรคมนาคม อุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงสุดคือ บริการดิจิทัล เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 37.76% มีมูลค่า 346,693 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ ที่โตขึ้น 20.14% มีมูลค่า 386,892 ล้านบาท อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เติบโตขึ้น 13.04% มีมูลค่า 163,877 ล้านบาท และอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ เติบโตขึ้นน้อยที่สุดที่ 7% มีมูลค่า 42,065 ล้านบาท

นอกจากนี้ เราพบว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้คนใช้งานแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ (e-Retail) รับชมสื่อออนไลน์ และใช้บริการขนส่ง (e-Logistics) มากขึ้น ซึ่งตลาดที่เติบโตชัดเจนคือ e-Logistics เช่น บริการสั่งอาหาร ถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวมากกว่า 57% เช่นเดียวกับ e-Retail ที่เติบโต 44%

ตลาดฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ พบว่า นำเข้าคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยเพิ่มจาก 3.94 ล้านเครื่องในปี 2563 เป็น 5.89 ล้านเครื่องปี 2564 แม้แต่อุปกรณ์อย่างพรินเตอร์ที่เคยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนลดลง แต่ก็พบว่าปีที่แล้วมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าสู่สังคมดิจิทัลของไทย รวมถึงการล็อกดาวน์ และการทำงานจากระยะไกล (Work from Home)

ส่วนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ ซอฟต์แวร์ มูลค่า 66,093 ล้านบาท โตขึ้น 12.50% และบริการซอฟต์แวร์มีมูลค่า 97,784 ล้านบาท โตขึ้น 13.40% ในด้านซอฟต์แวร์มีมูลค่านำเข้าจากต่างประเทศสูง 40,153 ล้านบาท ทั้งพบว่า มูลค่าซอฟต์แวร์แบบคลาวด์ (Cloud) ที่ใช้งานผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์ได้ยืดหยุ่น เติบโตมากกว่าแบบ On-Premise ที่เป็นรูปแบบเดิมๆ สะท้อนว่าผู้คนเริ่มสามารถทำงานโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่อยู่ที่ใดก็ได้

หากพิจารณาจำนวนบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมทั้งสาม พบว่า มีถึง 525,278 คน แบ่งเป็นอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะจำนวน 311,051 คน ซอฟต์แวร์ 129,544 คน และ บริการดิจิทัล 84,683 คน แต่ตัวเลขบุคลากรส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไอที ดังเช่น ในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์จะเป็นพนักงานการขายหรือพนักงานผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลที่โตมาก ทำให้สร้างการจ้างงานให้กับคนในอาชีพอื่นจำนวนมาก เช่น พนักงานส่งของ หรือพนักงานออนไลน์เป็นจำนวนมาก

แม้ตัวเลขอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมโตค่อนข้างดีมาก แต่ถ้าพิจารณาถึงข้อมูลที่สำรวจจากรายได้ของบริษัทที่มีจำนวนสองหมื่นกว่าบริษัท แบ่งเป็น บริษัทด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 12,046 บริษัท ด้านฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ 9,658 บริษัท และด้านอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล 523 บริษัท จะพบว่า บริษัทในอุตสาหกรรมมากกว่า 90% จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีรายได้ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และมีการจ้างงานในบริษัทโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 10 คน

รายได้อุตสาหกรรมดิจิทัลส่วนใหญ่จึงมาจากจำนวนบริษัทที่มีขนาดใหญ่ไม่มาก มีบริษัทเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท และมีจำนวนพนักงานมากกว่า 100 คน

ปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลในบ้านเรา ไม่โตขึ้นไปได้มากกว่านี้ อยู่ที่บุคลากรด้านไอที ซึ่งยังมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนเก่งๆ ที่มีการแย่งตัวในบริษัทขนาดใหญ่ และเปลี่ยนงานบ่อย ทำให้บริษัทไม่โตและพัฒนาได้ต่อเนื่อง บริษัทขนาดเล็กก็หาบุคลากรที่มีความสามารถได้ยาก เมื่อขาดบุคลากรก็ต้องปิดตัวไป เห็นชัดว่า โอกาสอุตสาหกรรมดิจิทัลกำลังมีแต่ปัญหา ทุกคนเห็นคล้ายกัน คือเรายังขาดบุคลากร

โจทย์การเร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้ โดยเฉพาะคนที่ต้องมารองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง เอไอ บล็อกเชน บิ๊กดาต้า และเมตาเวิร์ส ยังจำเป็น ถ้าอยากเห็นอุตสาหกรรมดิจิทัลบ้านเราโตยิ่งขึ้น และลดพึ่งพานำเข้าเทคโนโลยี บริการจากต่างประเทศ และถ้าเรามีจำนวนบุคลากรที่มีคุณภาพมากพอ ไทยสามารถเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลได้