กสทช. ถกดีล ‘ทรู-ดีแทค’ พรุ่งนี้ - จับตา 'จ่อจดชื่อบริษัทใหม่'

กสทช. ถกดีล ‘ทรู-ดีแทค’ พรุ่งนี้ - จับตา 'จ่อจดชื่อบริษัทใหม่'

บอร์ดกสทช.ป้ายแดงเข้าทำงานวันแรกพรุ่งนี้ สั่งสำนักงานฯ แจงวาระประชุมค้างจากบอร์ดชุดเก่า คาดมี 3 เรื่องร้อนรอพิจารณา ร่างแผนยูโซ่จะสิ้นสุดลง พ.ค.นี้ แนวทางเปิดเสรีธุรกิจดาวเทียม ส่วนประเด็นควบทรู-ดีแทคเชื่อปล่อยเป็นอำนาจอนุฯกรรมการ และที่ปรึกษาอิสระ

แหล่งข่าวระดับสูง ไม่ยืนยันบริษัทใหม่ใช้ชื่อ “ทรู-ดี จำกัด” ตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ ขณะที่ ตรวจสอบรายชื่อจดทะเบียนตั้งบริษัท “ยังไม่ปรากฏชื่อ” ดังกล่าว 

พลันที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2564

ตามที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 12 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ได้มีมติให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวม 5 คน ได้แก่ 1. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง) 2. ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์) 

3. ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค) และดำรงตอหน่งประธานบอร์ด 4. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) 5. รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านอื่น ๆ) ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์

จับตาวาระร้อนประชุม 20 เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.) จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ร่วมกันนัดแรกอย่างเป็นทางการในเวลา 9.00 น. โดยได้มอบหมายให้สำนักงานกสทช.ไปสรุปแผนงานที่คงค้าง และวาระเร่งด่วนที่จำเป็น ต้องรายงานต่อบอร์ดให้รับทราบ เบื้องต้น คาดว่า วาระเร่งด่วนที่รอการอนุมัติจากบอร์ดกสทช.ชุดใหม่คือ 1. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565 – 2569)

และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ยังค้างอยู่ ซึ่งจากการประชุม กสทช. ครั้งที่ 21/2564 เมื่อวันพุธที่ 10 พ.ย. 2564 มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. นำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 – 2569 และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมฉบับที่ 2 ไปดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ไปเรียบร้อยแล้วตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และแผนงานปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในพ.ค.นี้

2.การวางแผนการประมูลคลื่นดาวเทียม ว่าจะเดินหน้าประมูลต่อหรือไม่อย่างไร เพราะทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จะปล่อยให้มีประมูลหากวงโคจรที่หลุดจากประเทศไทยโดยไม่มีการใช้งาน ขณะที่กสทช.เองต้องมีหน้าที่รักษาวงโคจรตามกฎหมาย

2.รวมถึงเรื่องแผนการประมูลคลื่น 3500 MHz แม้ว่าจะไม่เร่งด่วน แต่บอร์ดชุดใหม่ต้องมีแผนออกมา ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ในด้านโทรคมนาคมนี้เป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับ 6จี และคลื่นในย่านดังกล่าวยังสอดคล้องกับการทำอินเทอร์เน็ตดาวเทียมในระยะวงโคจรต่ำ (LEO) ด้วย

เชื่อโยนอนุฯควบรวมพิจารณา

3. เรื่องการกำกับดูแลเรื่องการควบรวมกิจการ หากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ศึกษาธุรกิจกันและเกิดการควบรวมตามที่ได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าจะดำเนินการเสร็จภายในเดือน มี.ค.2565 แม้ว่าในช่วงแรกกสทช.จะออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับดีลนี้ เพราะเป็นบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในใบอนุญาต แต่ก็มิอาจนิ่งเฉยได้และต้องดำเนินอย่างเคร่งครัดเพราะเมื่อบริษัทแม่ควบรวมกัน บริษัทลูกทั้ง บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น)และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) นั้นกสทช.จะกำกับอย่างไร

อย่างไรก็ดี ในประเด็นการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคนั้น ที่ผ่านมาบอร์ด กสทช.ชุดรักษาการได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯกสทช.เข้ามาเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้โดยตรงควบคู่ไปกับการตั้งที่ปรึกษาอิสระเพื่อมาพิจารณา ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า บอร์ดชุดใหม่จะให้อำนาจการตัดสินในเรื่องการควบรวมยังเป็นของอนุฯและที่ปรึกษาอิสระต่อไป

 “หลังจากรับฟังแผนงานตามที่สำนักงานฯเสนอแล้ว ในสัปดาห์หน้า จะมีการจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก เพื่อแถลงนโยบายและแผนการทำงานทั้งหมด” 

สะพัดชื่อบริษัทใหม่ ทรูควบดีแทค 

ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงในวงการโทรคมนาคม ให้ข้อมูลว่า จากที่มีกระแสข่าวการตั้งชื่อบริษัทใหม่ หลังกระบวนการขั้นตอนควบรวม “ทรู-ดีแทค” ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญของทั้งสองบริษัทฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 โหวตผ่านเรียบร้อยแล้ว โดยทั้ง 2 ค่ายเตรียมจดทะเบียนตั้งชื่อ บริษัท ทรู-ดี จำกัด (มหาชน) หรือชื่อทางการตลาดว่า “TRUE-D” นั้น ขณะนี้ ไม่ขอยืนยันว่าใช้ชื่อนี้หรือไม่ 

“ชื่อนี้เป็นเพียงการคุยเล่นกันในบริษัทเท่านั้น ไม่ยืนยันว่า ผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 บริษัท จะใช้ชื่อนี้เป็นชื่อบริษัทใหม่หรือไม่"  แหล่งข่าว กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ได้ตรวจสอบไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่พบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในชื่อดังกล่าวแต่อย่างไร