‘บราเดอร์’ ชู กลยุทธ์ ‘CSB 2024’ ดันธุรกิจโต 14%

‘บราเดอร์’ ชู กลยุทธ์ ‘CSB 2024’ ดันธุรกิจโต 14%

บราเดอร์  ประกาศรุกตลาดไทยด้วยกลยุทธ์ CSB 2024 ตั้งเป้าปี 65 เติบโต 14% มุ่งนำเสนอสินค้าหลากหลาย พร้อมใช้เทคโนโลยียกระดับงานบริการ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า สังคม สิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืน

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ปัจจัยด้านการผลิตยังคงเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่บราเดอร์ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในปีนี้

โดยปฎิเสธไม่ได้ว่า 2 ปีที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกธุรกิจต้องกำหนดมาตรการการทำงานแบบเว้นระยะห่าง ส่งผลให้สายงานการผลิตต้องควบคุมจำนวนพนักงานภายในโรงงานตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้มีปริมาณการผลิตที่ลดลง

ประกอบกับสถานการณ์ด้านวัตถุดิบที่มีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการกระจายสินค้าเพื่อเติมเต็มความต้องการตลาดที่ยังเห็นสัญญาณการยังเติบโตอยู่ด้วยเช่นกัน  

สำหรับบราเดอร์ 3 ปีต่อจากนี้ จะเดินหมากธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ CSB 2024 (Challenge Strategy Brother 2024) ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2565-2567 ผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย Re-energizing Business การปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนากลยุทธ์สู่การเติบโตจากปัจจุบันสู่อนาคต, Sustainability การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคม (local community) และสิ่งแวดล้อม (environment)

โดยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม (Good Governance) และ Driving DX หรือการขับเคลื่อนด้าน Digital Transformation (DX) โดยการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ

ตลอดจนขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อให้พร้อมเติบโตคู่กับไปกับกระแสเทคโนโลยีที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบัน โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของบราเดอร์ทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายธีรวุธประเมินว่า ความท้าทายของการทำธุรกิจในปี 2565 คือความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ทั้งสถานการณ์โรคระบาดกลายพันธุ์ เรื่องสงครามระหว่างประเทศ การถีบตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจทั่วโลก

นอกจากนี้ การคาดการณ์ด้านดีมานด์ที่แท้จริงของตลาดก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของภาคธุรกิจเช่นกัน บราเดอร์เองต้องมีการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถส่งมอบสินค้าที่ตลาดต้องการได้ถูกช่วงเวลา เพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้าและสร้างการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ดี  ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของเครื่องพิมพ์ในปี 2564 ตามรายงานของ จีเอฟเค (GFK) ระบุว่า บราเดอร์ยังครองความเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ผู้นำของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างอัตราการเติบโตให้เกิดขึ้นใน 3 กลุ่มเครื่องพิมพ์จนสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย ประกอบด้วย  กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์อยู่ที่ 37.1%, กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์มัลติฟังก์ชัน 64.3%, กลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์มัลติฟังก์ชัน 47.9%

ทั้งยังครองอันดับ 2 ในกลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์อยู่ที่ 19.5% และจากปัจจัยด้านวัตถุดิบทำให้เครื่องพิม์อิงค์แทงค์ของบราเดอร์ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของตลาดอยู่ที่ 20% ส่วนของภาพรวมปีงบประมาณ 2565 ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 14%

นายณเอก สงศิริ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บราเดอร์ เผยว่า นอกจากจะมุ่งสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์แล้ว บริษัทยังได้พัฒนาแผนเพื่อสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจ non-print พร้อมกับพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการนำสินค้าที่มีมาสร้างเป็นโซลูชันเพื่อตอบความต้องการของตลาด

พร้อมเพิ่มการรับรู้ในส่วนออฟไลน์ให้มากขึ้นทั่วประเทศด้วยการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นถึงศักยภาพสินค้าจริงด้วยตนเอง  เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย

ด้วยการเติบโตของช่องทางขายแบบอีคอมเมิร์ซส่งผลอยากมากต่อประสิทธิภาพการขายในยุคปัจจุบัน บราเดอร์ จึงได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพในด้านดังกล่าวแก่ช่องทางการขายทั่วประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าส่งสินค้าใหม่ๆ ป้อนสู่ตลาดตลอดปี 2565

อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์เลเซอร์และสแกนเนอร์จะมุ่งเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจทจะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่, เครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัล GTX มุ่งทำตลาดสู่กลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ส่วนของเครื่องพิมพ์ฉลาก P-Touch จะมุ่งการนำเสนอแบบโซลูชันใหม่เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ

ด้านจักรเย็บผ้าจะเน้นกลุ่มจักรปัก พร้อมรองรับการกลับมาเปิดให้บริการของสถานบันเทิงและการปรับปรุงระบบเสียงของพื้นที่ประชุมด้วยกลุ่มธุรกิจเครื่องเสียง BMB

นางสาวรัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บราเดอร์ กล่าวถึงงานบริการหลังการขายว่า เตรียมเดินหน้าขยายเครือข่ายการให้บริการ เพิ่มเติมการให้บริการที่ทันสถานการณ์ ทันสมัย เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่รวดเร็วตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และ สร้างความผูกพันที่มีต่อแบรนด์

ควบคู่ไปกับต่อยอดบริการผ่านแชทบอท, Line OA รวมถึงบริการเสริมทั้งบริการการซ่อมและการพัฒนาปรับศูนย์บริการให้กลายเป็น customer experience โดยลูกค้าสามารถเข้ามาชมเครื่องพร้อมทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ได้ก่อนตัดสินใจซื้อ

ด้านนายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ กล่าวเสริมว่า บราเดอร์ได้ดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Sustainable Development Goals ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2563-2593 โดยมุ่งเน้นใน 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย เพิ่มการหมุนเวียนทรัพยากรสูงสุด ส่งเสริมสังคมที่ไร้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และผลลัพธ์สุทธิที่เป็นบวกในระบบนิเวศน์