“ดีจีเอ”ปูพรม "เอไอ" บริการประชาชน คาดใน 5 ปีให้บริการได้ครบวงจร

“ดีจีเอ”ปูพรม "เอไอ" บริการประชาชน คาดใน 5 ปีให้บริการได้ครบวงจร

ขานรับนโยบายรัฐโฟกัสกระบวนการทำงานให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ตามความต้องการรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ของประชาชน ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย เชื่อในปี 2570 ปูพรม “เอไอ” เข้าถึงประชาชนให้เข้าถึงบริการรัฐง่ายขึ้น

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ ดีจีเอ กล่าวว่า ในฐานะที่ดีจีเอเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดีจีเอได้จัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ ในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ให้สามารถประยุกต์ใช้กับระบบการบริหารและการทำงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับประชาชน

โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการศึกษา ในการนำเอไอเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล วิเคราะห์ข้อมูล อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ เร็วกว่า และแม่นยำยิ่งขึ้น
 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าในการใช้เอไอเพื่อพัฒนาระบบแพลตฟอร์มหุ่นยนต์สนทนาอัตโนมัติ หรือ แชทบอท สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยถามตอบกึ่งอัตโนมัติแบบเรียนรู้เชิงบูรณาการระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความได้แบบเรียลไทม์มีการพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อการตรวจสอบ

ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำรวดเร็วอันนำไปสู่ระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม และต้นแบบนวัตกรรมที่หลากหลายตามความต้องการของหน่วยงานรัฐ สำหรับงานบริการประชาชนให้ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ มากขึ้น

“ความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ ในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการบริการประชาชน ขณะนี้ถือว่าหน่วยงานของไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเอา เอไอมาใช้พัฒนาบริการประชาชน ประกอบกับจำนวนเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญอยู่ในหน่วยงานตั้งศึกษา ตั้งงบประมาณ ดีจีเอตั้งหน่วยงานเป็นที่ปรึกษา เรายังมีนักเทคโนโลยีจำนวนน้อย เป็นช่องว่าง ในการพัฒนา เราจึงพยายามทำลายข้อจำกัด ด้วยการทำแพลตฟอร์มให้ทุกหน่วยงานเอาไปใช้”

ล่าสุดดีจีเอได้ พัฒนาระบบออโต้ แท็ก (Auto Tag) และโปรแกรมจำเสียงอัตโนมัติที่ใช้การประมวลผลของบิ๊ดาต้ากับแมชชีน เลิร์นนิงที่จะสามารถอำนวยความสะดวกในการจัดหมวดหมู่ ข้อความเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐแบบได้อย่างเรียลไทม์รวมทั้งการจัดทำหนังสือ Digital innovation in Local Government ที่เป็นเหมือนไกด์ไลน์ในการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล อีกด้วย

ดังนั้น ดีจีเอ คาดว่าภายใน 5 ปี จะสามารถบูรณาการข้อมูล พัฒนาเครื่องมือใหม่ๆเอามาให้บริการประชาชนได้ อำนวยความสะดวกประชาชนเข้าถึงบริการหน่วยงานรัฐง่ายขึ้น

เขา กล่าวว่า การดำเนินการจะเป็นไปภายใต้การเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์ปัจจุบัน ตามแนวทางการพัฒนา 4 ประการ คือ 1. การบูรณาการการทำงานและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเปิดทางสู่การใช้ประโยชน์จากบิ๊ก ดาต้า 2. ยกระดับทักษะด้านดิจิทัลและการพัฒนาทัศนคติของบุคลากรให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง 3. พัฒนาบริการออนไลน์ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะดิจิทัล และ 4. การตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและเคารพความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประชาชน

“้ดีจีเอดำเนินการตามกรอบ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ขึ้น โดยมุ่งหวังให้ภาคประชาชนภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาครัฐได้ประโยชน์จากการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลบรรลุผลลัพธ์ในปี 2570 ดังที่กล่าวข้างต้น”