‘เอปสัน’ ชู 5Ss ปั้นยอดขายปี 65 โตมากกว่า 10%

‘เอปสัน’ ชู 5Ss ปั้นยอดขายปี 65 โตมากกว่า 10%

เอปสัน ประเทศไทย ชูจุดแข็ง 5Ss สร้างการเติบโตมากกว่า 10% มุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนภายในองค์กร ตอบโจทย์ตลาดคอนซุมเมอร์-บีทูบี เผย ปี 64 ยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทและโปรเจคเตอร์

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดไอทีไทยยังอยู่ท่ามกลางหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวค่อนข้างมาก ทั้งสถานการณ์โควิดที่ยังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลก และโรงงานชิปเซมิคอนดักเตอร์ไม่สามารถผลิตป้อนได้ทันตามการเติบโตของดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้น

บวกกับภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งยังเกิดสงครามที่ยูเครน ซึ่งกระทบกระเทือนเศรษฐกิจไทย ทำให้ค่าน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงจีดีพีของประเทศอาจจะมีการปรับลดลง

ปัจจัยเหล่านี้รบกวนระบบซัพพลายเชนทั่วโลก ทำให้กระบวนการผลิตสินค้าหลายรายการชะลอตัว ต้นทุนจากการผลิตและขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะปรับลดการใช้จ่ายและการลงทุนใหม่ ท่ามกลางภาวะการณ์เช่นนี้ เอปสันต้องยืดหยุ่นและรวดเร็วในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น พร้อมกับวางกลยุทธ์ที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดยังยืดเยื้อออกไปเป็นปีที่ 3 และอาจนานขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆ ยังต้องปรับตัวต่อไป เพื่อรับมือกับความท้าทายและรักษาระดับการเติบโต”

อย่างไรก็ดี ภาพรวมกำลังซื้อครึ่งปีแรก นับว่ามีทั้งปัจจัยบวกและลบ แม้ว่าราคานำ้มันอาจส่งผลต่อราคาสินค้าและกำลังซื้อ แต่ยังมีปัจจัยบวกที่หลายประเทศพยายามเปิดประเทศซึ่งจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นได้

สำหรับปี 2565 เอปสันได้กำหนดแผนกลยุทธ์ที่มุ่งผสานจุดแข็งทุกด้าน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้าฝ่ายุคโควิด พร้อมสร้างการเติบโตให้ได้มากกว่า 10% โดยจุดแข็งดังกล่าวรวมกันเป็นส่วนผสมของความสำเร็จ หรือ 5Ss ประกอบด้วย Smart technology, Simple start,S-curve trend, Service excellence และ Sustainable value

ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน หรือ TCO (Total Cost of Ownership) ให้กับลูกค้าได้มากกว่าเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์เดิมที่ใช้อยู่ เช่น เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่ใช้เทคโนโลยี Heat-Free, Epson Monna Lisa เครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัลแบบ direct-to-fabric, เลเซอร์โปรเจคเตอร์ระบบ 3LCD ที่ใช้งานได้นานถึง 20,000 ชั่วโมง ซึ่งในปี 2565 นี้ บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกกลุ่มมากกว่า 20 รุ่นตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ พยายามสร้างโมเดลธุรกิจที่ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเริ่มลงทุนได้ง่ายๆ (Simple Start) โดยที่ผ่านมา ได้ออกโมเดลเช่าเครื่องแบบใหม่ในชื่อ ‘Epson EasyCare 360 เหมา เหมา’ ช่วยให้การพิมพ์งานของลูกค้าเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องกังวลกับการคำนวณค่าใช้จ่ายในการพิมพ์สีหรือขาวดำ รวมถึงค่าบำรุงรักษาและค่าหมึก เพราะเพียงเหมาจ่ายราคาเดียว พิมพ์ได้มากสุด 120,000 แผ่น หรือนาน 24 เดือน ทั้งยังได้ on-site service และรับเครื่องที่ใช้อยู่ไปฟรีๆ หลังหมดสัญญา

หลังจากนี้ บริษัทเตรียมออกโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อาทิ บริการให้เช่าเครื่องโปรเจคเตอร์ ซึ่งเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการการบริการดูแลและบำรุงรักษา แต่ไม่ต้องการเก็บเครื่องเป็นทรัพย์สินของบริษัท และไม่ต้องการจ้างพนักงานประจำสำหรับดูแลซ่อมเครื่อง ขณะนี้เอปสันกำลังก้าวเข้าสู่ S-curve Trend ใหม่ เพื่อสานต่อการเติบโตทางธุรกิจ

ผู้บริหารเอปสันบอกว่า โลกธุรกิจในปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันหยุด เอปสันต้องคอยดิสรัปท์ตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ การให้บริการ โมเดลธุรกิจ แนวทางในการทำธุรกิจ ไปจนถึงจุดยืนของแบรนด์ เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีอยู่เหนือกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่น และเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า

ที่สำคัญเป้าหมายของเอปสันไม่ใช่แค่การสร้างหรือรักษาระดับการเติบโตของยอดขายและรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์ต่างๆ เท่านั้น แต่เป้าหมายที่สำคัญยิ่งกว่า คือการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนในองค์กรของลูกค้าและสังคมผ่านเทคโนโลยีและโครงการด้านความยั่งยืน”

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 มีการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น 9% จากการเติบโตของทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของ 2564 เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจ ทั้งการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นตามวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย

รวมทั้งได้รับแรงหนุนจากกระแส Digital Transformation  การที่สถาบันศึกษากลับมาเปิดทำการเป็นปกติในบางช่วง รวมไปถึงการออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการใช้เงินกู้ในโครงการต่างๆ

อีกทั้งภาคการผลิตในไทยยังเริ่มหันมาใช้ระบบซัพพลายเชนภายในประเทศเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้มีการลงทุนด้านไอทีในประเทศเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมาเอปสัน ดำเนินกลยุทธ์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขยายทีมขายและทีมบริการลูกค้า B2B ในกรุงเทพและต่างจังหวัด และทีมพิเศษที่เน้นเจาะลูกค้าองค์กรญี่ปุ่น โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทระบบแท็งค์ เอปสันยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดได้ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 46% ในด้านมูลค่า และ 43% ในด้านจำนวนเครื่องที่ขายได้ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 18%

นอกจากนี้ ในกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสารอิงค์เจ็ทระบบหมึกความจุสูง ยังขายเครื่องได้เพิ่มขึ้น 30% เครื่องพิมพ์ฉลากเติบโตมากที่สุดที่ 63%, เครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณาเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเติบโต 21%

สำหรับยอดขายของผลิตภัณฑ์โปรเจคเตอร์ ส่วนของโปรเจคเตอร์ธุรกิจฟื้นตัวกลับมาโตที่ 11%, ผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์แขนกล มียอดขายเติบโตขึ้นมากกว่า 60% ลูกค้าหลักยังอยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์