ถอดบทเรียน ‘เอ็มเฟค’ ทางรอดองค์กรพิชิต 'ดิจิทัล ดิสรัปชั่น'

ถอดบทเรียน ‘เอ็มเฟค’ ทางรอดองค์กรพิชิต 'ดิจิทัล ดิสรัปชั่น'

ถอดบทเรียน ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น “เอ็มเฟค” “ศิริวัฒน์” เผย ทรานส์ฟอร์มคนหนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น "ความสมดุล" ปัจจัยสร้างความสำเร็จ แนะไม่ทรานส์ฟอร์มด้วยความโลภ หรือ ความกลัว ใช้คนให้ถูก หากใช้คนผิด จะผิดไปแล้ว 70%

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) จัดทำหลักสูตร Digital Transformation for CEO#3 รวมกูรูผู้คร่ำหวอดในวงการดิจิทัล-ธุรกิจ มาร่วมเปิดมุมมอง ถอดรหัสการทรานส์ฟอร์มธุรกิจพิชิตยุคแห่งดิจิทัลดิสรัปชั่น

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด หรือ เอ็มเฟค เปิดมุมมองในประเด็น “How?” ว่า ในการทรานส์ฟอร์มบริษัท “What?” ใครๆ ก็รู้ แต่ที่ยากคือ “How?” ที่ผ่านมามีน้อยบริษัทมากที่จะสามารถเดินไปได้ตามที่ซีอีโอบอก

ในโลกใบนี้มีความรู้อยู่สามแบบก็คือ ความรู้แท้ ความรู้เทียม และความรู้เท็จ เมื่อเวลาผ่านไปความรู้ที่เคยมีประโยชน์ก็อาจจะไม่มีแล้วก็ได้ มีหนังสือขายดีทฤษฎีมากมายบอกวิธีการเอาต่างๆ ไว้แต่ในความเป็นจริงอาจเอามาปรับใช้กับตัวเองไม่ได้ ด้วยแต่ละคน แต่ละบริษัทย่อมมีพื้นฐาน ทรัพยากร รวมถึงทักษะบุคลากรที่แตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ดี ที่สำคัญคือ “ความรู้แท้” ที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลา โดยที่มีอยู่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ซีรีส์คือ ความรู้ตะวันออก กับ ความรู้ตะวันตก ที่น่าสนใจคือความรู้ทางฝั่งตะวันออก ตำรา “เต้าเต๋อจิง” ที่สร้างความสำเร็จให้กับบุคคลระดับโลกมาแล้วจำนวนมาก

รักษา ‘Core Value’

หากมองในมุม “Engineering” แง่มุม “ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้แบบทันที ว่ากันว่า คนไม่ได้เก่ง ไม่ได้ยิ่งใหญ่ และ คนไม่ได้สร้างอะไร เพียงแต่ค้นพบสิ่งที่มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้ ดังนั้นคนไม่ได้สำคัญแต่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น

ตามหลักการของธรรมชาติ เมื่อจะทรานส์ฟอร์เมชั่นให้กลับไปมองถึงธรรมชาติ การสร้างความสมดุล ทุกอย่างในโลกใบนี้ถูกออกแบบมาว่า หากจะดีต้องมีความสมดุล

ศิริวัฒน์บอกว่า ศักยภาพของมนุษย์จะพัฒนาขึ้นได้ต้องไม่สบายจนเกินไป ต้องมีความเครียด หรือมีความลำบากบ้าง อย่างในสังคมจีน ที่เน้นสอนเรื่อง อ่อนน้อมถ่อมตน การประหยัด ขยันขันแข็ง และกตัญญูรู้คุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีมาตามธรรมชาติ ไม่เหมือนความถือตนที่มักมีอยู่ก่อนแล้ว ทำให้หยินหยางมีความสมดุล และส่ิงสำคัญอย่างมากคือการรักษา “Core Value” ของสังคมให้คงอยู่

นอกจากนี้ ต้องไม่ทรานส์ฟอร์มด้วย “ความโลภ” หรือ “ความกลัว” เพราะความโลภจะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ไม่สมเหตุสมผล ส่วนความกลัวทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่กล้าที่จะขยับหรือเปลี่ยนแปลง ต้องทรานส์ฟอร์มด้วยความสมเหตุสมผล

โฟกัสที่ “คน”

อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ “Power of Preparation” ต้องรู้จักมองเห็นความสวยงามของความช้า “The Beauty of Slow” เพราะ “Slow”  is the new Fast ทำให้ทราบว่าต้องจัดการ ต้องตัดอะไร เพื่อมองเป้าหมายระยะไกล พร้อมสร้างภูมิต้านทานที่จะทำให้บริษัทอยู่ในจุดที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา

สำคัญที่สุดให้โฟกัสที่ “คน” เพราะ “Human Transformation will Drive Digital Transformation” อย่าเร่ิมจากซื้อของ อย่าเร่ิมจากการถามที่ปรึกษา

ส่วนการทรานส์ฟอร์มคนนั้นต้องเร่ิมจากการคิดและการมีมายเซ็ตที่ถูกต้องโดยมีผู้นำองค์กรหรือซีอีโอเป็นผู้นำ หากใช้คนผิด จะผิดไปแล้ว 70% แม้ไอเดียจะดีแต่หากใช้คนไม่ถูกต้องงานอีก 95% ก็จะไม่สมบูรณ์

แน่นอนว่าหนึ่งในงานที่ยากคือ “การเอาคนออก” เพื่อทำให้องค์กรมีความคล่องตัว ต้นทุนเหมาะสม ภายใต้โจทย์ที่ว่าการทำงานต้อง “เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” ด้านคนที่ออกไปไม่มีความคิดที่ติดลบ ยังคงรักองค์กร หรือ รักมากกว่าเดิม เรื่องนี้ความสามารถใน “การสื่อสาร” เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก

นอกจากนี้ การเพิ่มเงินเดือนต้องสอดคล้องไปกับ Productivity จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเก็บคนที่มีประสิทธิภาพไว้ โดยรวมทุกปีต้องมี Output Quality และ Efficiency ที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มคน หรือ ลดคนให้น้อยลง กล่าวได้ว่าบุคลากรต้องมีศักยภาพเพิ่มขึ้น รวมถึง “Power of Positive People”