"เทคคอมพานี" อนาคตธุรกิจไทย

"เทคคอมพานี" อนาคตธุรกิจไทย

ในปัจจุบันไทยไม่สามารถแข่งขันต้นทุนได้ในหลายอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีจะเป็นตัวสำคัญที่ยกระดับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

การกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะนำมาใช้ในปี 2566-2570 เป็นการปรับแนวทางของแผนพัฒนา จากเดิมที่ครอบคลุมหลายประเด็นมาเป็นการโฟกัสเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา 13 ประเด็น ซึ่งครอบคลุมการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่สำคัญของโลก การมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และการมีกำลังคนสมรรถนะสูงมุ่งเรียนรู้ต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

ในขณะที่ภาคเอกชนได้มองเป้าหมายของการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อเจอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ซึ่งทำให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และเป็นตัวเร่งของการทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่ทำให้เห็นบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ของไทยกำลังมุ่งเข้าสู่เทคคอมพานี หรือบริษัทที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเพื่อรักษาระดับการเติบโตของธุรกิจ

หลายบริษัทได้ประกาศเป้าหมายการเป็นเทคคอมพานี ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่การปรับตัวของบริษัทที่พร้อมรับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งหลายบริษัทยอมรับว่าการจะให้บริษัทเติบโตด้วยธุรกิจแบบเดิมเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงทำให้บริษัทหลายแห่งพยายามหาพันธมิตรทั้งในไทยและในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นพันธมิตรทั้งในรูปแบบบริษัทและรูปแบบสตาร์ทอัพที่มีความคล่องตัวในการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

สตาร์ทอัพในประเทศหลายแห่งก้าวขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์นเป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าหลังจากนี้จะมีสตาร์ทอัพไทยอีกหลายรายที่ก้าวขึ้นไปสู่ระดับดังกล่าว ซึ่งส่วนสำคัญที่จะก้าวขึ้นไปสู่ระดับดังกล่าวได้ล้วนมองตลาดนอกประเทศไทยด้วย ในขณะที่การส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศจากภาครัฐถูกกล่าวถึงน้อยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีความพยายามที่จะออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านสตาร์ทอัพเพิ่มมากขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษี แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนได้กำหนดถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเงื่อนไขดังกล่าวเกิดผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทยไม่มาก และภาคเอกชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตต้นทุนต่ำไปแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ในปัจจุบันไทยไม่สามารถแข่งขันต้นทุนได้ในหลายอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีจะเป็นตัวสำคัญที่ยกระดับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป