‘เอบีม’ แนะกลยุทธ์ดิจิทัล พลิกโฉม 'บัญชี-การเงิน'

‘เอบีม’ แนะกลยุทธ์ดิจิทัล พลิกโฉม 'บัญชี-การเงิน'

ในโลกธุรกิจการบริหารความเสี่ยงทางการเงินเป็นเรื่องที่องค์กรต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจ

โทชิฮิเดะ โอตานิ ผู้อำนวยการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า องค์กรจำเป็นต้องตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านต่างๆ หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ไปจนถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ถูกเพิ่มไปบนหน้ารายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจ อาทิ เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และธรรมมาภิบาล (ESG) ซึ่งการกำหนดกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงแบบครอบคลุมมีความสำคัญเป็นอย่างมากและถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) แม้ว่าองค์กรจะอยู่ในภาวะปกติก็ตาม

ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะทางการเงินขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจ แต่ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คำถามคือเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เรียลไทม์ และนำไปปฏิบัติได้จริงเมื่อถึงเวลา

ปรับกลยุทธ์ หาคำตอบที่แท้จริง

เขากล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทได้นำเทคโนโลยีมาใช้กับส่วนงานบัญชีและการเงินมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ แต่นั่นยังไม่ใช่คำตอบของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินการอย่างแท้จริง และจำเป็นต้องคิดหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้เทคโนโลยีนี้ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องชัดเจน

อย่างไรก็ดี การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ถูกต้องสมบูรณ์ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า เอบีม คอนซัลติ้ง จึงได้ระบุประเด็นสำคัญสามประการเพื่อใช้สำหรับการพิจารณาในปี 2565 และปีต่อๆ ไปไว้ดังนี้

ประการแรก เปลี่ยนจากแรงงานมนุษย์มาเป็นระบบดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ เป็น Routine : การระบุว่างานใดมีขั้นตอนการทำงานที่ต้องทำซ้ำเป็นประจำ และสามารถช่วยจัดการและวิเคราะห์โดยเอไอ จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลให้เห็นผลอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ทีมบัญชีและการเงินขององค์กรมีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อจัดการงานอื่นๆ แทนได้

“การนำเทคโนโลยีและกระบวนการด้านบัญชีมาใช้แบบผสมผสานกันนั้นมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของบัญชีภายในองค์กรอย่างรวดเร็ว”

ถึงเวลาออกจากกรอบเดิมๆ

ประเด็นที่สอง ผสานรวมโซลูชั่นด้านดิจิทัล เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้มากขึ้น : ไม่ใช่ว่าทีมผู้บริหารทุกทีมจะมีพื้นฐานด้านการเงิน แต่พวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจถึงผลประกอบการทางการเงิน เพื่อให้สามารถวางแผนและตัดสินใจได้ดีขึ้น ซึ่งทีมบัญชีและการเงินสามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลที่จำเป็น สำหรับการแชร์ข้อมูลทางการเงินแบบเรียลไทม์ไปยังแผนกอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ถึงเวลาแล้วที่จะเลิกใช้ตาราง กราฟ และสเปรดชีตแบบเดิมๆ เพราะการแสดงข้อมูลแบบภาพเป็นวิธีการนำเสนอข้อมูลที่ดีกว่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้นำธุรกิจจากทุกๆ แผนกมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลการดำเนินงานทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการผลิต การตลาด ไอที หรือแม้แต่ซีอีโอ เองก็ตาม”

สุดท้าย การวัดผลในสิ่งที่อาจจับต้องไม่ได้ : ปัจจุบัน มีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ลงทุน และมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาล (ESG) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อาจจับต้องผลลัพธ์ทางการเงินได้ค่อนข้างยาก และสิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับซีเอฟโอ

“การปรับปรุงหน้าที่ด้านบัญชีและการเงินเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญในการวางแผนเพื่อสร้างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และสิ่งสำคัญเวลาที่ต้องทำการตัดสินใจเมื่อทำการปรับโครงสร้างหรือออกแบบฟังก์ชันงานบัญชีและการเงินใหม่ด้วยโซลูชันดิจิทัลที่เหมาะสม วิธีที่ดีที่สุดคือการคิดทบทวนเพื่อออกแบบกระบวนการทางธุรกิจใหม่หรือก็คือการทำ Business Process Reengineering (BPR) เพื่อระบุจุดที่เป็นปัญหา สิ่งที่ทำให้กระบวนการทำงานติดขัด และคุณค่าหรือสิ่งที่องค์กรต้องการส่งมอบให้ลูกค้า (Value Proposition )”

พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นคือ ต้องมั่นใจได้ว่า ซีเอฟโอของบริษัทมีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนบทบาทของพวกเขาจากการเป็นผู้จัดเตรียมรายงานทางการเงิน ให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ให้กับซีอีโอและผู้บริหาร ภายใต้ความเข้าใจที่ชัดเจนในกลยุทธ์และเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ