ดีลแสนล.ขยับ 'ทรู' กลืน 'ดีแทค' จับตาจ่อซื้อหุ้นเพิ่่ม หลัง เทเลนอร์ ทิ้งไทย

ดีลแสนล.ขยับ 'ทรู' กลืน 'ดีแทค' จับตาจ่อซื้อหุ้นเพิ่่ม หลัง เทเลนอร์ ทิ้งไทย

'ทรู' ส่อแววดอดซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัทใหม่ หลังทำดีลดิลิเจ้นท์กับ 'ดีแทค' เสร็จ วงใน จับตาฉากทัศน์สมรภูมิเปลี่ยน เหตุ 'เทเลนอร์ฯ' พร้อมลอยตัว ยกการบริหารงาน-ทำตลาด ออกโปรฯ ให้สิทธิ 'ทรู' ตัดสินใจ ด้าน 'หมอสรณ' เผยเตรียมทำการบ้านเรื่องนี้ รอวันเข้าประชุมบอร์ดกสทช.

ดีลการควบรวมกิจการของ “ทรู” และ “ดีแทค” เริ่มส่งสัญญาณเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ ระบุว่า ดีลนี้จะอยู่ในรูปแบบการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) เพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี เพื่อสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ หวังผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการ กล่าวว่า  ผลสรุปสุดท้าย อาจไม่ได้หมายถึงการควบรวมในสัดส่วน 50:50 เพราะมีหลายกระแสคาดการณ์ว่า การควบรวมครั้งนี้ ทรูน่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 60:40 และจะค่อยๆ ซื้อหุ้นเพิ่มภายหลังรอเวลาให้กระแสด้านลบจางหายไป

แหล่งข่าว วิเคราะห์ในประเด็นนี้ต่อว่า สิ่งที่ต้องจับตาดูจากนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่สถานะผู้ถือหุ้นของดีแทค คือ “เทเลนอร์ กรุ๊ป” จะยังคงลงทุนหรือทำตลาดให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยอย่างแข็งขันต่อไปอีกหรือไม่ เพราะหากดูจากผลประกอบการที่ปี 2564 อยู่ที่ 81,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% ส่วนกำไรสุทธิลดลงถึง 34.3% มาอยู่ที่ 3,356 ล้านบาท มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด 19.5 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 3.7% แต่เทียบไม่ได้กับในปี 2563 ที่ลูกค้าหายไปถึง 1.7 ล้านราย เมื่อบัญชีออกมาเป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ เทเลนอร์ฯ ตัดสินเข้าควบรวมกับกลุ่มทรูฯดังที่กล่าวข้างต้น
 

ปธ.บอร์ดกสทช.เร่งศึกษากฎหมาย

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ว่าที่ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ ยังรอให้มีการโปรดเกล้าฯ เพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะเข้าไปทำงานหรือประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ได้เมื่อไร นอกจากนี้ ในส่วนประเด็นการควบรวมกิจการของบริษัทโทรคมนาคมในตลาด คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) นั้น ตอนนี้ยังไม่ขอออกความเห็นใดๆ เพราะยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด และอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถให้ข่าวได้

“ผมก็อ่านหนังสือศึกษาข้อมูลด้วยตัวเองไปก่อน ทำการบ้านเรื่องนี้ไปพลางๆ ว่า จะต้องจัดการอะไร และยังไม่เคยไปสั่งให้ทางสำนักงาน กสทช.ทำเอกสารอะไรเพื่อรอเข้าประชุมบอร์ด”

นพ.สรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของตำแหน่งกรรมการกสทช.ที่ว่างอยู่ 2 สาขา คือ ด้านกิจการโทรคมนาคม และด้านกิจการกฎหมายนั้น ถ้าถามว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องสรรหามาให้ครบองค์ประชุม 7 คนหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ในส่วนของขั้นตอนนั้น การสรรหาอยู่ในความรับผิดชอบของวุฒิสภาที่เป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสรรหามาดำเนินการ
 

‘ย้ายค่ายเบอร์เดิม’ ยังเป็นประเด็น

สำหรับกรณีการย้ายค่ายเบอร์เดิม หรือ นัมเบอร์พอร์ทบิลิตี้นั้น ก่อนหน้านี้ หลังการประกาศควบรวมระหว่าง ทรู และ ดีแทค มีเสียงคัดค้านจากสังคม เพราะมองว่า จะเกิดการผูกขาดตลาด และผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบ จึงทยอยออกจากเครือข่ายเดิม โดยเฉพาะจากดีแทคออกไปอยู่ค่ายใหม่ มีประเด็นว่า เครือข่ายเดิมไม่ยอมส่งรหัส OTP มาให้ หรือกระทั่งอ้าง ติดสัญญาสารพัดจนลูกค้าไม่สามารถดำเนิินการได้ โดยเป็นประเด็นร้อนอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อกลางเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา สุดท้าย สำนักงานกสทช. ต้องออกมาปรามการกระทำดังกล่าว

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้ออกมากำชับให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ค่าย ดำเนินการโอนย้ายค่ายให้ผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหลักเกณฑ์การโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเคร่งครัด โดยผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสิทธิที่จะโอนย้ายค่ายไปใช้บริการค่ายที่ตนเองต้องการได้

ทั้งนี้ ผู้ที่ขอโอนย้ายนั้น ต้องเป็นเจ้าของเบอร์ที่ลงทะเบียนซิม ต้องไม่ติดค้างชำระค่าบริการ รวมทั้งต้องไม่ติดเงื่อนไขสัญญาพิเศษเดิมอยู่ ซึ่งโอเปอเรเตอร์จะต้องแจ้งสาเหตุที่ไม่สามารถโอนย้ายค่ายต่อผู้ที่ขอโอนย้ายอย่างชัดเจน และในส่วนที่โอเปอเรเตอร์แต่ละค่ายจะเสนอข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมเพื่อรักษาลูกค้านั้น ประชาชนจะต้องมีการยืนยันตอบรับข้อเสนอเพิ่มเติมนั้นก่อน

กสทช.แก้เก้อจับให้มานั่งไกล่เกลี่ย

ขณะที่ โอเปอเรเตอร์ไม่อาจใช้เงื่อนไขที่ว่า หากประชาชนไม่ปฏิเสธ หรือยกเลิกจะถือว่า ประชาชนรับสิทธิและนำมาใช้เป็นเหตุปฏิเสธการขอโอนย้ายค่ายของประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ซึ่งหากโอเปอเรเตอร์รายใดฝ่าฝืน สำนักงานฯ จะดำเนินการทางปกครองกับโอเปอเรเตอร์ค่ายนั้นทันที แต่ล่าสุดก็ยังพบการลีลาถ่วงเวลาไม่ยอมให้ลูกค้าออกจากระบบไปง่ายๆ

โดยล่าสุดยังคงมีการร้องเรียนเกิดขึ้นมา หลังลูกค้าผู้ใช้บริการพากันร้องเรียนไปยังสายด่วน กสทช.เพื่อให้เข้ามาจัดการกับเรื่องนี้แต่กลับถูกสำนักงาน กสทช.มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องเรียนเข้ามาดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับบริษัทแทน โดยอ้างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ กสทช.ท่ามกลางความงุนงงของผู้ใช้บริการ ที่เห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง เพราะการที่ผู้ให้บริการมือถือทั้งสองค่ายประวิงเวลาไม่ยอมอนุมัติให้ย้ายค่ายถือเป็นการดำเนินการที่ขัดประกาศ กสทช. ที่มีบทลงโทษที่ชัดเจนอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะให้ลูกค้าและบริษัทมาดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ย