‘ดีเอชแอล’ เจาะ 6 เทรนด์ กำหนดอนาคตธุรกิจ ‘โลจิสติกส์’

‘ดีเอชแอล’ เจาะ 6 เทรนด์  กำหนดอนาคตธุรกิจ ‘โลจิสติกส์’

ท่ามกลางสถานการณ์อีคอมเมิร์ซทั่วโลกที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ลูกค้ามีความคาดหวังเพิ่มสูงขึ้น น่าจับตามองว่ามีนวัตกรรมใหม่อะไรบ้างที่น่าสนใจ และต่อไปนี้คือ 6 เทรนด์สำคัญที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2565

รายงาน “Global Connectedness Index ประจำปี 2565” โดย “ดีเอชแอล” เผยว่า ธุรกิจค้าขายสินค้าเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งช่วยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวได้ท่ามกลางปัญหาท้าทายที่เกี่ยวกับกำลังการผลิต และสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้า

เพิ่มพาร์ทเนอร์ ปิดจุดอ่อน

1. ซัพพลายเชนที่มีความคล่องตัวสูง และโซลูชั่นโลจิสติกส์ 5PL สำหรับอีคอมเมิร์ซ : การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลให้ซัพพลายเชนทั่วโลกหยุดชะงักและประสบปัญหาอย่างมากในการฟื้นฟูธุรกิจ ทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แรงงาน วัตถุดิบ การตรวจตราชายแดนที่เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ

ดังจะเห็นได้จากปัญหาการจัดส่งที่ล่าช้าและมีสินค้าจำนวนมากที่ตกค้างอยู่ตามท่าเรือและจุดขนถ่ายสินค้าทั่วโลก และคาดว่าปัญหาเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565

ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจึงต้องการระบบซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวสูง สามารถปรับเปลี่ยนตามสภาวะตลาดในแบบเรียลไทม์ ตรงจุดนี้เองที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซควรจะเอาต์ซอร์สงานโลจิสติกส์ให้แก่พาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่ห้า หรือ “Fifth-Party Logistics (5PL)” เพื่อรองรับระบบซัพพลายเชนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

'เอไอ’ กุญแจบริหารซัพพลายเชน

2. โลจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ : บริการโลจิสติกส์ที่มีความยืดหยุ่นสูงจะสามารถขยาย หรือปรับลดขนาดให้สอดคล้องกับความต้องการภายในซัพพลายเชน

โดยโลจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นจะเกิดขึ้นได้โดยอาศัย “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” และ “ระบบวิเคราะห์ข้อมูล” ที่สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน สามารถระบุได้ว่าจะต้องปรับเพิ่ม ขยาย หรือลดขนาดตรงจุดใดของซัพพลายเชน

3. ยานพาหนะไร้คนขับ : ปัญหาการขาดแคลนคนขับรถทวีความรุนแรงจนทำสถิติสูงสุดทั่วโลก และสถานการณ์นี้จะรุนแรงขึ้นในปี 2565

ปัจจุบัน มีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจยานพาหนะไร้คนขับให้เติบโต โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การลงทุนในบริษัทรถบรรทุกไร้คนขับมีมูลค่าสูงถึง 5.6 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับภาคธุรกิจนี้ในปี 2565

'อีคอมเมิร์ซ’ ยังโต อนาคต ‘บีทูบี’

4. อีคอมเมิร์ซที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว : การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงมีการคาดการณ์ว่าอีคอมเมิร์ซจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในปี 2565 แตะระดับ 5.4 ล้านล้านดอลลาร์ 

ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศจะมีมูลค่า 1,508.7 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 เพิ่มขึ้นจากระดับ 532.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 15.5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2570

ดีเอชแอลคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจบีทูบีอีคอมเมิร์ซว่า ภายในปี 2568 ราว 80% ของการซื้อขายแบบบีทูบีจะดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัล โดยกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลจะกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ครองสัดส่วนมากถึง 73%

'หุ่นยนต์’ ช่วยงานคลังสินค้า

5. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ : ภายในคลังสินค้า การใช้โซลูชั่นหุ่นยนต์อัตโนมัติจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจ ตลาดหุ่นยนต์ช่วยงานคลังสินค้าอัตโนมัติทั่วโลกจะเติบโตเกือบสองเท่าภายในปี 2568 จนแตะระดับ 27.2 พันล้านดอลลาร์

ซัพพลายเชนอีคอมเมิร์ซความเร็วถือเป็นเรื่องสำคัญ มีการคาดการณ์ว่าตลาดหุ่นยนต์โลจิสติกส์ทั่วโลกมีมูลค่า 11.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 และคาดว่าจะแตะระดับ 49.4 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570

6. ความยั่งยืน : คือคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับการคาดการณ์เทรนด์ด้านโลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้าในปี 2564 และคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในปี 2565 ด้วยเช่นกัน 

กล่าวคือ ผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้นว่าแบรนด์ต่างๆ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ไปจนถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และองค์กรธุรกิจก็เริ่มตระหนักถึงประโยชน์ทางการเงินที่ได้รับจากการลดการสิ้นเปลืองในส่วนต่างๆ ของซัพพลายเชน