เอ็มดีใหม่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย 'สวัสดิ์ อัศดารณ' ดันดีล 'ARV ผนึก ไอบีเอ็ม'

เอ็มดีใหม่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย 'สวัสดิ์ อัศดารณ' ดันดีล 'ARV ผนึก ไอบีเอ็ม'

"สวัสดิ์ อัศดารณ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย คนใหม่!!! ดันดีลร่วมระหว่าง บริษัทเอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (เออาร์วี) เครือ ปตท.สผ. และไอบีเอ็ม เปิดแพลตฟอร์ม National Digital Corporate Identity (NCID) ผ่านบล็อกเชนครั้งแรกในอาเซียน 

เอ็มดีคนใหม่ "สวัสดิ์ อัศดารณ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ลูกหม้อมือฉมัง ดันดีลร่วมระหว่าง บริษัทเอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (เออาร์วี) บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ในเครือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และไอบีเอ็ม เปิดแพลตฟอร์ม National Digital Corporate Identity (NCID) หรือระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านบล็อกเชน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไอบีเอ็ม ประเทศไทย อยู่ระหว่างการปรับองคาพยพครั้งสำคัญ โดยคุณปฐมา จันทรักษ์ อดีตเอ็มดีไอบีเอ็ม ประเทศไทย จะหมดสัญญากับไอบีเอ็มราวปลายเดือน ก.พ.นี้ 

สำหรับ แพลตฟอร์มพิสูจน์และยืนยันตัวตน ที่ไอบีเอ็ม ทำร่วมกับ เออาร์วี จะช่วยให้องค์กรและธนาคารไทยดำเนินกระบวนการ KYC ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น จากรูปแบบการดำเนินการในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมาก ส่งผลให้ใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่าหนึ่งเดือน เมื่อนำระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบเข้ามาช่วย ทำให้ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งจะลดความยุ่งยากในการดำเนินการ และเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจระหว่างนิติบุคคลและธนาคารพาณิชย์ได้มากขึ้น 

แพลตฟอร์ม NCID เป็นระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลระบบแรกในอาเซียน (ASEAN) โดยใช้มาตรฐาน Self-Sovereign Identity บนบล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain) และการเข้ารหัสกุญแจที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบบ NCID ถูกพัฒนาขึ้นบน IBM Cloud และ Red Hat OpenShift ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัย FIPS 140-2 ระดับ 4 ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดในอุตสาหกรรม ผสานหลักการ Keep-Your-Own-Key ที่รองรับการพัฒนาต่อยอดและขยายการใช้งานในอนาคต 
    

“วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแล ธนาคารคู่ค้า ตลอดจน  ปตท.สผ. ที่ได้ร่วมมือกันในการศึกษาและแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของกระบวนการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนนิติบุคคลในการทำธุรกรรม หรือ onboard process ด้วยเทคโนโลยี Web3" นายสินธู ศตวิริยะ Head of Ventures บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าว

พร้อมทั้งระบุว่า "จากการร่วมมือกับไอบีเอ็ม เราได้สร้างแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยซึ่งจะช่วยทำลายข้อจำกัดและสร้างโอกาสมากมายจากธุรกรรมดิจิทัลระหว่างนิติบุคคลและธนาคารพาณิชย์ เราเชื่อว่าแพลตฟอร์มและระบบที่รองรับนี้จะช่วยให้นิติบุคคลในประเทศไทยสามารถเข้าถึงธุรกรรมการเงินดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของระบบนิเวศทางธุรกิจและภาคการเงินในอนาคตอันใกล้ ทั้งยังสอดคล้องกับภารกิจ Smart Financial Infrastructure ที่นำร่องโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน”
    
 

“ไอบีเอ็มภูมิใจที่ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูง ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานไฮบริดคลาวด์ เข้าช่วยเออาร์วีในการสร้างและนำระบบ Digital ID นี้ สู่การใช้งานจริงในที่สุด” นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner ของไอบีเอ็ม คอนซัลติง กล่าว

ทั้งระบุว่า “แพลตฟอร์ม Digital ID บนบล็อกเชนนี้ จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่เพียงแต่ระบบจะช่วยลดเวลาในการดำเนินงานลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังนำไปสู่การสร้างมาตรฐานกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนสำหรับธนาคารต่างๆ ในประเทศไทย และสนับสนุนการมุ่งหน้าสู่ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลครบวงจรในประเทศของเรา”

ทั้งนี้ จะมีการเริ่มใช้งานระบบ NCID จริงเป็นครั้งแรกในอาเซียน บน Joint Sandbox ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงต้นปี 2565 นี้ และจะเริ่มใช้งานเป็นที่แรกโดย ปตท.สผ. และธนาคารคู่ค้า ในกระบวนการ KYC เพื่อการดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริหารเงินและบัญชีธนาคาร

ในฐานะผู้ที่มีส่วนสำคัญในการริเริ่มและสร้างแพลตฟอร์ม ปตท.สผ. จะร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และธนาคารคู่ค้ากว่า 11 แห่ง เพื่อนำร่องใช้งานแพลตฟอร์มนี้ผ่านทาง เออาร์วี

บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จํากัด (เออาร์วี) เป็นบริษัทในเครือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดโอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภาคธุรกิจรายย่อยและภาคอุตสาหกรรม ด้วยนวัตกรรม การวิจัยพัฒนารวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับระบบนิเวศในพื้นที่ปฏิบัติการ