‘เอสทีทีฯ’ ชูวิชั่นดึง ‘ดิจิทัล’ เสริมแกร่ง 3 อุตฯ ฟื้นเศรษฐกิจปี 65

‘เอสทีทีฯ’ ชูวิชั่นดึง ‘ดิจิทัล’ เสริมแกร่ง 3 อุตฯ ฟื้นเศรษฐกิจปี 65

สถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นมาร่วมสองปีกว่า และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของธุรกิจทุกแขนง ดิจิทัล มีบทบาทพลิกฟื้นธุรกิจ ทั้งบล็อกเชน คลาวด์ บิ๊กดาต้า คริปโทเคอร์เรนซี โดยมีดาต้า เซ็นเตอร์ รองรับข้อมูลมหาศาล

“ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) แชร์วิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 65 โดยการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” มาเสริมแกร่งกับ 3 อุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

เขากล่าวว่า ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประสบความสำเร็จจัดงาน “Expo 2020 Dubai” ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศมากถึงเกือบ 8 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564) สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล หากเทียบระหว่างสถานที่ท่องเที่ยว ที่เป็นทะเลทรายและหมู่เกาะทางทะเลที่สวยงาม คนส่วนใหญ่คงเลือกไปเกาะมากกว่า 

 

ประเทศไทยมีจุดเด่นสำคัญคือ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่สมบูรณ์ และภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม อย่างโปรเจกต์ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์  ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ดีมาก ปัจจุบันได้ขยายไปถึง 4 จังหวัดแล้วคือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี แต่เมื่อมองกลับไปที่โจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เป็น High Spender เข้ามาในประเทศโดยกำหนด Minimum Spending เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่ควรพิจารณา

"เมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น พฤติกรรมผู้ใช้งานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตามไปด้วย ทำให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในปริมาณมาก และเครือข่าย 5จี เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือคริปโทเคอร์เรนซี สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งต้องวางกรอบการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์"


 

ปลุกซอฟต์พาวเวอร์ภาคเกษตรสู้

ส่วนกลุ่มเกษตรกรรม ภูมิประเทศของไทยเอื้อ และทำให้เราเป็นประเทศเกษตรกรรมชั้นยอด ไทยมีวัตถุดิบชั้นดีมากมายอยู่ในมืออยู่แล้ว อาหารของเราก็มีเอกลักษณ์ และมีรสชาติถูกปากคนทั่วโลก แต่ทำไมเกษตรกรของเรายังไม่หลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งนอกจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมศักยภาพภาคเกษตรกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำแล้ว ควรเน้นการสร้าง Story และพัฒนา Soft Power ของประเทศในด้านนี้ไปควบคู่ สร้างร้านมิชลินสตาร์ของคนไทยให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มมูลค่าอาหารไทยให้ทัดเทียมเมนูขึ้นชื่อของนานาชาติ ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ และควรนำมาพิจารณา 

“หากเราสามารถเปลี่ยนข้าวกะเพราเป็นจานละสามพันบาท และเจาะกลุ่มลูกค้า High-End ได้ก็จะสามารถช่วยกระตุ้นและฟื้นคืนเศรษฐกิจในระยะยาวได้”

หนุนดิจิทัล แวร์เฮ้าส์ 

ขณะที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญของภูมิภาค ไทยมีบริษัทชั้นนำมากมายเลือกมาลงทุน มีการสร้างโรงงานการผลิต หรือโกดังจัดเก็บสินค้ารูปแบบ Physical จำนวนมาก ซึ่งเติบโตควบคู่ไปพร้อมตลาดอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์นอกจากสินค้าที่เป็นตัวผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้แล้ว ยังมีดิจิทัล โปรดักส์ แอสเสท หรือออนไลน์ ทรานเซคชั่นที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล 

ดังนั้นภาคการผลิตในยุคปัจจุบันจึงต้องการ ดิจิทัล หรือ เวอรช่วล แวร์เฮ้าส์ ซึ่งก็คือ ดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อรองรับการเติบโตตามกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ ดังนั้นการมีดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มมากขึ้นในประเทศย่อมส่งผลดีต่อทั้งระบบนิเวศน์ดิจิทัลของไทยคือ ได้รับเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น กระตุ้นการจ้างงานเพิ่ม ที่สำคัญข้อมูลของคนไทยอยู่ในประเทศไทยนั่นเอง

เอสทีทีจีดีซี มุ่งโฟกัส 3 ด้าน 

“ศุภรัฒศ์” กล่าวย้ำว่า เทคโนโลยีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพลิกฟื้นธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเชน คลาวด์ บิ๊กดาต้า และคริปโทเคอร์เรนซี โดยมีดาต้า เซ็นเตอร์ เป็นศูนย์กลางรองรับข้อมูลมหาศาล “เอสทีที จีดีซี” ประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการไฮเปอร์สเกลดาต้า เซ็นเตอร์ระดับโลก ยังคงมุ่งโฟกัส สร้างรากฐานดิจิทัลครอบคลุมใน 3 ด้านหลัก

ประกอบด้วย 1.เร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อเป็นรากฐานการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ 2.กระตุ้นเม็ดเงินการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนด้วยการนำเสนอโซลูชั่นและปรับใช้เทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์อย่างเหมาะสม 3. พัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์สเกล ดาต้า เซ็นเตอร์ที่สามารถปรับใช้กับทุกธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศ รับเทรนด์ใช้งานดิจิทัลของคนไทย

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์