ดัน ‘5จีสมาร์ทเฮลธ์’ นำร่องเชียงใหม่ ชูเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิต

ดัน ‘5จีสมาร์ทเฮลธ์’ นำร่องเชียงใหม่ ชูเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิต

‘ชัยวุฒิ’ คิกออฟลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยยี 5จี ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ ลุยนำร่องสมาร์ทเฮลธ์ครบวงจร

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5จี ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วน 5จี สมาร์ทเฮลธ์ งบประมาณสนับสนุน จำนวน 49,306,000 บาท จากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมภายใต้กรอบ นโนบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5จี ของประเทศไทย ในส่วนของการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5จี เพื่อให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลของประเทศที่ครอบคลุมในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ 

รวมทั้งเป็นการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดช่องว่างทางสังคม ช่วยให้เกิดความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบุคลากรทุกกลุ่ม และพัฒนากระบวนการทำงาน และการให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้ในวงการแพทย์มากขึ้น และกลยุทธ์ในการเป็น Digital Organization ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อตอบยุทธศาสตร์ของชาติในการใช้เทคโนโลยี 5จีมาพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และ เป็นตัวอย่างในการสร้างระบบสาธารณสุขด้านเทเลเมดิซีนแพลตฟอร์ต (telemedicine platform) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 2 องค์กรที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยของโลก มาประยุกต์และสร้างระบบสาธารณสุขแบบใหม่ จึงทำโครงการขนาดใหญ่ร่วมกัน 2 โครงการ กล่าวคือ

โครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5จีต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ และ โครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน
 

“เราร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงนำเทคโนโลยี 5จีมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงสามมิติด้วยรถพยาบาลอัจริยะ (AR technology with Smart ambulance) พร้อมบูรณาการแว่นตาอัจฉริยะ (AR consulting glasses) ผ่านเครือข่าย 5G ในการปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถ Smart ambulance แบบ real time ระหว่างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอ ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ร่วมโครงการ จำนวน 20 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่าน Web Application ได้อย่างครบวงจร”

เขา กล่าวว่า ขั้นตอนของประชาชนต่อจากนี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพียงเดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอที่ใกล้เคียงที่พัก หรือที่สะดวกในการเข้ารับบริการ อีกทั้งยังทำให้สามารถลดต้นทุนด้านการเดินทาง และลดเวลาแก่ผู้ป่วยได้ ที่สำคัญผู้ป่วยยังสามารถได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

 โดยผลลัพธ์ทั้ง 2 โครงการจะเป็นการสร้าง Telemedicine platform ที่บูรณาการระหว่าง ระบบการแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน และมีการนำ AR technology และ 5จี เทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์บนรถพยาบาลฉุกเฉินสามารถปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถพยาบาลฉุกเฉินขณะส่งตัวผู้ป่วย ร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง ที่ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่