ภูเขาไฟใต้น้ำในตองกา ปะทุขึ้น ส่งคลื่นกระแทกและ "สึนามิ" ไปค่อนโลก

ภูเขาไฟใต้น้ำในตองกา ปะทุขึ้น ส่งคลื่นกระแทกและ "สึนามิ" ไปค่อนโลก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ "NARIT" ตรวจวัดคลื่นกระแทกจากภูเขาไฟใต้น้ำในตองกา ที่ระเบิดขึ้นกลางมหาสมุทรแปซิฟิก เฝ้าระวัง "สึนามิ" คาดอาจมีการระเบิดตามมาอีก

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ภูเขาไฟใต้มหาสมุทรแปซิฟิก Hunga-Tonga-Hunga-Ha’apai หรือภูเขาไฟตองกา เกิดการปะทุขึ้น ส่งคลื่นกระแทกและสึนามิไปค่อนโลก สามารถตรวจวัดได้จากสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าของ NARIT เฝ้าระวัง "สึนามิ" คาดอาจมีการระเบิดตามมาอีก

ภูเขาไฟใต้น้ำในตองกา ปะทุขึ้น ส่งคลื่นกระแทกและ \"สึนามิ\" ไปค่อนโลก

บริเวณรอยแยกของแผ่นผืนทวีปนั้นจะเป็นบริเวณที่แมกมาร้อนใต้เปลือกโลกมักจะสามารถแทรกตัวขึ้นมาได้ ทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ เช่น น้ำพุร้อน หากแมกมาสามารถแทรกขึ้นมาบนผิวโลกได้จะเรียกว่า “ลาวา” บางครั้งแมกมาและแก๊สใต้เปลือกโลกอาจจะถูกแรงดันมหาศาลผลักดันให้ขึ้นมายังด้านบนพร้อมๆ กัน เกิดการปะทุอย่างรุนแรง ส่งเขม่า ฝุ่นควัน และคลื่นกระแทกไปทั่ว และหากการปะทุนี้เกิดขึ้นใต้น้ำ อาจส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ตามมาในภายหลัง

การปะทุของภูเขาไฟนั้นไม่เพียงแต่จะปล่อยลาวาออกมา แต่ยังอาจจะปล่อยแก๊สและไอน้ำจำนวนมากที่ถูกกักเก็บเอาไว้ภายใต้เปลือกโลกขึ้นมาพร้อมๆ กัน เมื่อแก๊สปริมาณมากนี้ถูกปลดปล่อยออกมาพร้อมๆ กัน อาจจะส่งออกมาเป็นคลื่นกระแทก แผ่ออกไปเป็นบริเวณกว้างทั่วโลก

หลังจากที่ภูเขาไฟตองกาที่อยู่ห่างประเทศไทยไปกว่าหมื่นกิโลเมตร เกิดการปะทุขึ้น ภายในเวลาต่อมาไม่นาน คลื่นมวลอากาศนี้จึงเดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งสามารถตรวจวัดได้โดยสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าของ NARIT ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วคลื่นกระแทกนั้นเดินทางด้วยความเร็วเสียง (ประมาณ 340 เมตรต่อวินาที) แต่ละพื้นที่บนโลกจึงพบคลื่นกระแทกนี้ในเวลาที่แตกต่างกัน

จากเครื่องตรวจวัดความกดอากาศที่สถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าของ NARIT นั้น (http://weather.narit.or.th/) เราจะพบว่าสถานีแรกที่พบคลื่นกระแทกนี้คือ

  • หอดูดาวทางไกลอัตโนมัติ Springbrook ที่ประเทศออสเตรเลีย ในเวลา 18:42 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 15:42 น. ตามเวลาประเทศไทย)
  • ตามมาด้วยหอดูดาวภูมิภาค สงขลา อีกประมาณ 4 ชั่วโมงต่อมา ณ เวลา 19:50 น.
  • หอดูดาวภูมิภาคนครราชสีมา 19:59 น.
  • หอดูดาวภูมิภาค ฉะเชิงเทรา 20:01 น. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร 20:25 น.
  • หอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ 20:28 น.
  • หอดูดาวทางไกลอัตโนมัติ Gao Mei Gu ที่ประเทศจีน 21:42 น. ตามเวลาท้องถิ่น (20:42น. ตามเวลาประเทศไทย)

หากพิจารณาแล้ว เราจะพบว่าเวลาที่แตกต่างกันนี้สอดคล้องกันโดยตรงกับระยะห่างจากจุดศูนย์กลางการระเบิดที่ตองกา ซึ่งต่อให้เราไม่ได้ทราบอยู่แล้วว่ามีภูเขาไฟระเบิดเกิดขึ้นที่บริเวณใด เราก็จะสามารถใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าเหล่านี้ในการหาแหล่งกำเนิดคลื่นกระแทกจากการเทียบระยะเวลาที่ตรวจวัดได้จากแต่ละสถานที่

นี่เป็นอีกหนึ่งผลพลอยได้ที่ได้รับ ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าที่มีความละเอียดแม่นยำ ที่ NARIT กำลังพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดยั้ง เนื่องจากในการใช้งานหอดูดาวในทางดาราศาสตร์นั้น การได้การรายงานสภาพอากาศที่มีความแม่นยำนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการวางแผนสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยม และอาจจะส่งผลพลอยได้ในทางด้านอื่น เช่นกรณีนี้ หรืออาจจะสามารถช่วยตรวจวัดคลื่นกระแทกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเหนือน่านฟ้าประเทศไทย เช่น อุกกาบาตขนาดใหญ่ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้า

ภูเขาไฟใต้น้ำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นกลไกหนึ่งของการกำเนิดเกาะใหม่กลางมหาสมุทร แท้จริงแล้วเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนมากนั้นมีต้นกำเนิดมาจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ ที่ค่อยๆ ส่งลาวาขึ้นมายังผิวน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหมู่เกาะไปในที่สุด เช่น หมู่เกาะฮาวายที่โด่งดัง ซึ่งลาวาที่ออกมาจากภูเขาไฟนี้ ก็ค่อยๆ ทับถมกัน และเราอาจกำลังเป็นสักขีพยานของการกำเนิดหมู่เกาะแห่งใหม่ล่าสุดกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ “ดัง” จนได้ยินมาถึงที่ประเทศไทยนี้ ก็เป็นไปได้

 

 

ข้อมูลและเรียบเรียง: ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ