ยก ซีพี ควบ เทเลนอร์ ดีลแสนล้านแห่งปี 64 ปลุกบิ๊กคอร์ป ปรับตัวสู่ เทค คอมพานี

ยก ซีพี ควบ เทเลนอร์ ดีลแสนล้านแห่งปี 64 ปลุกบิ๊กคอร์ป ปรับตัวสู่ เทค คอมพานี

"กรุงเทพธุรกิจ" เลือกอภิมหาดีล เครือซีพี’ ควบ ‘เทเลนอร์’ เป็นดีลธุรกิจแสนล้านแห่งปี 64 ปลุก ‘บิ๊กคอร์ปหนีคลื่นดิสรัป จับตาปี 65 ลงนามข้อตกลงทางธุรกิจสู่ ‘เทค คอมพานี’ คิดใหญ่สู่ระดับโลก จับตาจุดเปลี่ยนโทรคม เดิมพันความท้าทาย กฎหมาย แรงต้านผูกขาด และตลาดที่ใกล้อิ่มตัว

‘ซีพี’ ควบ ‘เทเลนอร์’ ดีลแสนล้านแห่งปี พลิกภูมิทัศน์ธุรกิจสู่โลกยุคใหม่ เขย่ากรอบคิด ‘บิ๊กคอร์ป' วิ่งหนีคลื่นดิสรัป 'ไม่ปรับ อยู่ยาก' ส่องความชัดเจนปี 65 เร่งลงนามข้อตกลงทางธุรกิจ ดึงจุดแข็งหลอมรวมสู่ ‘เทค คอมพานี’ 2.5 แสนล้าน คิดใหญ่มุ่งสู่ตลาดระดับโลก จับตาจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเมื่อเบอร์ 2 และเบอร์ 3 รวมกันหวังโค่นเบอร์ 1 ชิงมาร์เก็ตแชร์แสนล้าน เดิมพันความท้าทาย ข้อกฎหมาย แรงต้านผูกขาด และตลาดโทรคมไทยที่กำลังถึงจุดอิ่มตัว

ปี 2564 เกิดบิ๊กดีลในธุรกิจไทยมากมาย แต่ละดีลส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ ด้วยกรอบคิดใหม่ "กรุงเทพธุรกิจ" เลือกอภิมหาดีลส่งท้ายปีมูลค่านับแสนล้านบาท ระหว่าง 'ซีพี กรุ๊ป' และ 'เทเลนอร์' เป็นดีลธุรกิจแห่งปี 2564  

‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’หรือกลุ่มซีพี ผนึกกำลังร่วมกับ ‘เทเลเนอร์ กรุ๊ป’ จากนอร์เวย์ บรรลุข้อตกลงความร่วมมือแบบ Equal Partnerships เปิดทางการเข้าควบรวมกิจการของ 2 บริษัทลูก “ทรู-ดีแทค” ก้าวสู่ เทค คอมพานี เขย่าสมรภูมิโทรคมนาคมไทยชั่วข้ามคืน บิ๊กดีลนี้กลายเป็นที่จับตามองของวงการธุรกิจ เพราะการ “ขยับ”ตัวครั้งใหญ่ของบิ๊กคอร์ป ระดับนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา
 

ผนึกกำลังก้าวสู่ผู้เล่นระดับโลก

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการธุรกิจ วิเคราะห์ว่า อภิมหาดีลครั้งนี้ ทั้งสองบริษัท ซึ่งเป็น บิ๊กคอร์ป ระดับตัวท็อปของอุตสาหกรรมต่างกำลังวิ่งหนีคลื่นดิสรัปลูกใหญ่ ที่กำลังสั่นคลอนฉากทัศน์ของธุรกิจในแบบเดิม อาณาจักร 'ซีพี’ ที่มีธุรกิจโทรคมนาคมอย่าง “บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น” เป็นหัวเรือใหญ่ รั้งตำแหน่งเบอร์ 2 ของตลาด ไม่ได้มองแค่การเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโอเปอเรเตอร์แบบเดิมๆ อีกต่อไป เพราะโลกของการสื่อสารปัจจุบันวิ่งไปไกลกว่า “ซิมมือถือ” หรือ “คลื่นความถี่” ขณะที่ค่าใช้จ่ายในเรื่องของใบอนุญาต หรือไลเซ่นส์ในการได้มาซึ่งคลื่นก็มีราคาที่สูงเกินไป ไม่ได้ดึงดูด หรือจูงใจให้ทำธุรกิจในแบบเดิมๆ อีกแล้ว

‘เทค คอมพานี’ ที่เป็นบิ๊กเนมระดับโลก คือ ความท้าทายครั้งใหญ่ที่กำลังครองโลกสื่อสารแบบเบ็ดเสร็จ อินเทอร์เน็ตจากอวกาศ (ดาวเทียม) ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่นับรวมเทคโนโลยีอัจฉริยะอีกมากมาย ดังนั้น ‘การคิดใหญ่’ เพื่อผนวกกับบริษัทที่มีจุดแข็งเรื่องนวัตกรรมดิจิทัลระดับอินเตอร์อย่าง “เทเลนอร์” จึงเป็นการหนีคลื่นดิสรัปครั้งสำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่กลุ่ม ‘ซีพี’ คิดมาแค่ชั่วข้ามคืน แต่ผ่านการกลั่นกรอง และ ‘ซุ่ม’ เตรียมยุทธศาสตร์มาแล้วระยะหนึ่ง รวมไปถึงอาณาจักรของธุรกิจซีพี ก็ต้องการกำลังหลักจากเทคโนโลยียุคใหม่เข้าไปเป็นกลไกสำคัญผลักดันการเติบโตในโลกอนาคต

หากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และเห็นภาพได้ชัดก่อน คือ กลุ่มธุรกิจโทรคม ต้องยอมรับว่ากระแสข่าวขายกิจการของ “ดีแทค” จากเทเลนอร์ กรุ๊ป ที่ปัจจุบันหล่นไปอยู่อันดับ 3 ในตลาดโทรคมไทย “ไม่ใช่เรื่องใหม่” ข่าวลักษณะขายกิจการ เปิดทางควบรวมกิจการ หรือแม้แต่การทำ Join venture แพร่สะพัดออกมาเป็นระยะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะการประมูลคลื่นความถี่จาก “กสทช.” ซึ่งหากจำกันได้ ดีแทค เป็นรายเดียวที่ ไม่แข่งขันด้านราคา และยอมยกธงขาวก่อนใคร ทำให้ถึงวันนี้ “ดีแทค” กลายเป็นโอเปอเรเตอร์ที่ถือครองความถี่อยู่ที่ 330 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น

อุตฯโทรคมไทยพลิกผันชั่วข้ามคืน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย ช่วงเที่ยงมีข่าวมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ว่า เทเลนอร์ กำลังหารือกับ ซีพี เพื่อหาทางควบรวมกิจการโทรคมนาคมมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ในประเทศไทย

โดยจากนี้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จะดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งจนแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ เบื้องต้น คาดว่าการตั้งบริษัทใหม่จะได้เห็นความชัดเจนในกลางปี 2565 โดยคาดว่าบริษัทใหม่ที่หมายมั่นปั้นมือให้เป็น “เทค คอมพานี” จะมีมูลค่ามากถึง 2.5 แสนล้านบาท ดังนั้น อาจได้เห็นแลนด์สเคปของอุตสาหกรรมโทรคมเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2566

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 ข่าวลือกลายเป็นจริง เมื่อทั้งสองบริษัทร่อนสเตทเมนต์ และภาพการลงนามเซ็นสัญญาร่วมกันของสองบริษัทโดย “เทเลนอร์ กรุ๊ป” บริษัทแม่ ดีแทค และ ซีพี บริษัทแม่ของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เรื่องการเจรจาเข้าเป็นพันธมิตรในแบบ “พันธมิตรทางธุรกิจที่เท่าเทียมกัน” หรือ “Equal Partnerships” สอดคล้องกับกระแสข่าวที่มีก่อนหน้านี้

จับมือลุยตลาดอาเซียน

ขณะที่ การเจรจาร่วมเป็นพันธมิตรกันทั้งสองบริษัท แหล่งข่าวระดับสูงในวงการโทรคมวิเคราะห์ในอีกแง่มุมกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เพราะ “เทเลนอร์ฯ และซีพี” ต้องการให้ดีแทคและกลุ่มทรูฯ ผนึกกำลังลุยตลาดโทรคมในระดับอาเซียน อาจนำร่องที่ประเทศ เมียนมา และ เวียดนาม หลังจากที่เทเลนอร์ลดการลงทุนในเมียนมาไปก่อนหน้านี้ ส่วนตลาดในไทยยังคงมีผู้ให้บริการโครงข่าย (โอเปอเรเตอร์) เอกชนอยู่ 3 รายคงเดิม คือ เอไอเอส กลุ่มทรู และดีแทค

เพราะเทเลนอร์ ยังมองเห็นอัตราการเติบโตตลาดในไทย และดีแทค ยังคงเป็นบริษัทที่นำส่งกำไรให้กับเทเลนอร์ มากที่สุดบรรดาโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปที่การประมูลคลื่น 5จี ครั้งล่าสุดในตลาดโทรคมนาคมไทย ส่งผลให้ “เอไอเอส” ถือครองความถี่มากที่สุดด้วยจำนวน 1420 เมกะเฮิรตซ์ ​ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 43.7 ล้านเลขหมาย ส่วนกลุ่มทรูฯ อยู่ที่ 1020 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนลูกค้าปัจจุบันอยู่ที่ 31.7 ล้านราย

ส่วนดีแทค ขณะนั้นยังมีลูกค้าอยู่ในลำดับที่ 2 รองจากเอไอเอส แต่ด้วยความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายโครงข่ายไม่ชัดเจนทำให้ลูกค้าทยอยการยกเลิกบริการเป็นปรากฏการณ์เลือดไหลไม่หยุดเพราะมีความถี่อยู่ที่ 330 เมกะเฮิรตซ์จากที่กล่าวข้างต้น และมีลูกค้าใช้บริการอยู่เพียง 19.3 ล้านรายเท่านั้น

ขณะที่หากมองสัญญาณการลงทุนของ เทเลนอร์ ในประเทศไทย “เกลนน์ แมนเดลิด” ผู้อำนวยการสายงานสื่อสารองค์กร เทเลนอร์ เอเชีย ยืนยัน ว่า เทเลนอร์ฯ ยังมุ่งมั่นทำธุรกิจในไทย และกลยุทธ์ในตลาดเอเชียยังไม่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นระบุอ้อมๆ ว่า เทเลนอร์ฯ จะยังคงปักหลักเดินหน้าดำเนินกิจการในประเทศไทยต่อไป หลังเข้าลงทุนในหุ้นดีแทคมาร่วม 20 ปี ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันได้ลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากกว่า 150,000 ล้านบาท และในไทยยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้และผลกำไรหลักให้กับเทเลนอร์

โจทย์หินรอกสทช.ใหม่

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานกสทช.ระบุว่า หลังจากในช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่มีการควบรวมระหว่างทั้งสองบริษัท สำนักงานกสทช.ได้เรียกให้ผู้บริหารของสองบริษัทเข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับข่าวที่เกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น ประเด็นที่สำนักงาน กสทช.ต้องการรู้ คือ หากเป็นการควบรวมกิจการ หรือ การเทคโอเวอร์นั้น จะเป็นการรวมบริษัทเป็นบริษัทเดียว และตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ หรือรวมกันในเฉพาะบางธุรกิจ ซึ่งหากเรานับเอาแต่จำนวนลูกค้าคือ ดีแทคมีลูกค้า 19.3 ล้านราย กลุ่มทรูฯมี 31.7 ล้านราย รวมกันจะมีจำนวน 51 ล้านราย ในขณะที่เอไอเอสมีลูกค้า 43.7 ล้านราย

ดังนั้น หากดีลอยู่ในรูปแบบ “ควบรวม” จริงจะเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม (Significant Market Power) ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่ระบุไว้ และหากจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันจำเป็นต้องแจ้งสำนักงานกสทช.ก่อนล่วงหน้า 90 วัน แต่ในการยืนยันของสองบริษัทก็ระบุว่าเป็นการควบรวมกิจการของบริษัทแม่ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตโดยตรงจากากสทช.

อีกทั้ง หากดูจากที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าจะดำเนินการเสร็จภายในเดือน มี.ค.2565 แม้ว่าในช่วงแรกกสทช.จะออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับดีลนี้ เพราะเป็นบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในใบอนุญาต แต่ก็กสทช.ก็ไม่อาจปฎิเสธการกำกับดูแล และนิ่งเฉยได้และต้องดำเนินอย่างเคร่งครัดเพราะเมื่อบริษัทแม่ควบรวมกัน จึงต้องดูว่าจะกำกับอย่างไร

บทพิสูจน์ความท้าทาย

แหล่งข่าววงการโทรคม วิเคราะห์ด้วยว่า เกมแข่งขันนี้อาจไม่ง่าย และอาจไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่า ทรู และดีแทค ที่ผนึกกำลังร่วมกัน จะโค่นผู้นำอย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ “เอไอเอส” ที่มีสถานะการเงินเหนือกว่า และแข็งแกร่งลงได้ง่ายๆ ยังไม่นับฐานลูกค้าของเอไอเอส ที่ได้ชื่อว่ามี Royalty สูงมาก 

ขณะที่ ปลายทางอภิดีล ที่ระบุว่า ต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนถึง “นวัตกรรม” หรือ “เทคโนโลยีใหม่” ในระดับที่จะก้าวไปแข่งในระดับโลกได้ ที่สำคัญท่าทีของ “เทเลนอร์” ไม่ชัดเจนมากพอว่า ต้องการทำตลาดไทยต่อไป หรือจะมอบสินทรัพย์ (คลื่นความถี่ เสาสัญญาณ) ที่มีทั้งหมดให้ “ทรู” บริหารจัดการ และจากนั้นชื่อของเทเลนอร์จะค่อยๆ เลือนไปจากตลาดไทย

หรือแม้แต่ความ “อิ่มตัว” ของอุตสาหกรรรมโทรคมในไทย ซึ่งหากวิเคราะห์กันในความเป็นจริง ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ บริการดิจิทัลไปมากแค่ไหน ซึ่งเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มากเลย เทคโนโลยีที่มีอยู่ยังขยายและต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาลมากกว่านี้

หากพิจารณา จำนวนฐานลูกค้า ธุรกิจที่ให้บริการอยู่ แน่นอนว่าแม้ “กลุ่มทรู” ดูจะครบเครื่องมากกว่า รองลงมา คือ “เอไอเอส” ที่เพิ่งโดดลงมาสนามอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และบริการโอทีที ผ่าน AIS playbox ขณะที่ ดีแทค ยังคงทำธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเดียว

เจาะขุมทรัพย์ค่ายมือถือ

เมื่อเจาะดูขุมทรัพย์ของ “เอไอเอส” ที่ยังคงสถานะเป็นผู้นำอันดับ 1 ในขณะนี้ มีคลื่นความถี่ให้บริการมากที่สุดรวม 1450 เมกะเฮิรตซ์ มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 43.7 ล้านเลขหมาย ลูกค้าบรอดแบนด์ 1.7 ล้านราย มูลค่าบริษัท 621,535 ล้านบาท ผ่าน 3 สายธุรกิจ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนท์ บริการไอโอที และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ตลอดจนขยายสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ พาร์ทเนอร์รายล่าสุด คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีสินทรัพย์รวม 3,202 พันล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 332,769 ล้านบาท

ขณะที่ ดีแทค มีมูลค่าบริษัท 107,143 ล้านบาท ลูกค้า 19.3 ล้านราย มีคลื่นความถี่ 330 เมกะเฮิรตช์

ส่วนทรูมีมูลค่าบริษัท 153,832 ล้านราย แต่ก็มีหนี้สินสูงมากถึง 539,941 ล้านบาท มีลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวม 32 ล้านราย ลูกค้าบรอดแบนด์ 4.5 ล้านราย ถือครองความถี่ 1020 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น หากรวมจำนวนลูกค้าระหว่างเบอร์ 2 กับเบอร์ 3 จะมีมากถึง 51.3 ล้านราย

‘เอไอเอส’ มองข้ามช็อตสู้

หันมาที่ฟาก “เอไอเอส” ยังยืนยันเจตนารมณ์ ไม่ใช่แค่โอเปอเรเตอร์ แต่มุ่งสู่ Cognitive Telco องค์กรอัจฉริยะ หลังเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสไม่เคยเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ในฐานะดิจิทัล ไลฟ์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ ด้านเทคโนโลยีเพื่อประเทศ และวันนี้พร้อมเข้าสู่ Cognitive Telco ส่งต่อความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนว่า โครงข่ายและบริการดิจิทัล จากเอไอเอส ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยสนับสนุนยกระดับวิถีชีวิตประชาชน และรูปแบบการบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่