ผ่าเส้นทางผลักดัน "นวัตกรรมไทย" ติดท็อป 30 ดัชนีโลก ใต้วิชชั่น "เอ็นไอเอ"

ผ่าเส้นทางผลักดัน "นวัตกรรมไทย" ติดท็อป 30 ดัชนีโลก ใต้วิชชั่น "เอ็นไอเอ"

"เอ็นไอเอ" ฉายภาพแผนการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อผลักดันนวัตกรรมไทยให้ก้าวสู่อันดับที่ 30 ของโลกในปี 2573 พร้อมชี้แผนการดำเนินงานใหญ่ที่ผ่านมาเน้นในเรื่องของการผลักดันให้ภูมิภาคมีการจัดตั้งธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น

ด้วยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2564 (Global Innovation Index 2021; GII 2021) ภายใต้ธีม ติดตามการปรับตัวระบบนวัตกรรมในภาวะวิกฤตโควิด-19 (Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมเสมือนมาตรวัดเปรียบเทียบเชิงเวลาและการเปรียบเทียบเชิงแข่งขันทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศกว่า 132 ประเทศทั่วโลก

ผ่าเส้นทางผลักดัน "นวัตกรรมไทย" ติดท็อป 30 ดัชนีโลก ใต้วิชชั่น "เอ็นไอเอ"
ในครั้งนี้ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 จากปี 2563 ที่อยู่อันดับ 44 ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ อันดับ 8 มาเลเซีย อันดับ 36 และแซงเวียดนามที่ตามมาในอันดับ 44 รวมทั้งปัจจัยสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2


โอกาสของไทยกับการเป็นชาติแห่งนวัตกรรม

ในครั้งนี้เองไทยก็ได้มีการตั้งเป้าหมายสูงสุดคือ การผลักดันประเทศสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” พร้อมกับติดท็อป 30 ของประเทศที่มีดัชนีชี้วัดทางนวัตกรรมชั้นนำของโลกภายในปี 2573


มาวันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ พร้อมกับเป็นกำลังสำคัญในการปลุกปั้นเหล่า “นวัตกร” ถึงทิศทางลมของแผนการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อผลักดันนวัตกรรมไทยให้ก้าวสู่อันดับที่ 30 ของโลก 
 

แผนดำเนินการที่ผ่านมา "ดันไทยติดลมบนท็อป 30"

โดยมีปัจจัยสำคัญหลายประการได้แก่ 1.การเพิ่มวิสาหกิจฐานนวัตกรรม (Innovation-based Enterprise, IBE) ที่เพียงพอต่อการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง “ระบบนวัตกรรม” โดยมีแนวทางหรือเครื่องมือในการสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการผ่านแผนการดำเนินงานใน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างและเพิ่มจำนวนนวัตกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ เช่น โครงการ Pioneering Innovator Network (PIN)

ถัดมาคือระยะเติบโต เครื่องมือส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม เช่น กลไกการสนับสนุนด้านการเงินผ่าน โครงการ Open Innovation หรือ Social Innovation

ส่วนระยะขยายการเติบโต โดยเป็นเครื่องมือทำให้ธุรกิจนวัตกรรมเกิดการขยายตัวหรือเติบโตขึ้น เช่น กลไกการสนับสนุนด้านการเงินผ่าน โครงการนวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย หรือเชื่อมโยงการลงทุนผ่านนักลงทุน นอกจากนี้ยังมีกลไกการสนับสนุนที่ไม่ใช้ด้านการเงินเช่น โครงการ “ม้านิลมังกร” ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาค โดยเอ็นไอเอ มุ่งหวังว่า 20 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างน้อย 3 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่ายอดขายรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 630 ล้านบาท พร้อมทั้งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30%
 

ผ่าเส้นทางผลักดัน "นวัตกรรมไทย" ติดท็อป 30 ดัชนีโลก ใต้วิชชั่น "เอ็นไอเอ"

2.การเพิ่มจำนวนนวัตกร (Innovator) ในระบบนวัตกรรมของไทยมีความเก่ง (Competency) และ ความเชี่ยวชาญ (Expertise) ในการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มต้น เครื่องมือในการสร้างและเพิ่มจำนวนบุคคลากรและองค์กรในฝั่งภาครัฐและภาคการศึกษา เช่น โครงการ Public and Private Chief Innovation Leadership (PPCIL) หรือ โครงการ Chief City Innovation Officer (CCIO) รวมทั้ง โครงการ Pioneering Innovator Network (PIN) 

ระยะเติบโต ที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กรนวัตกรรม เช่น โครงการประเมินศักยภาพองค์กรนวัตกรรม ส่วนระยะขยายผล จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการงานนวัตกรรม โดยเอ็นไอเอจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงาน และให้บริการการสนับสนุนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม เช่น Web Application ด้านข้อมูลเชิงพื้นที่และการบริการในด้านต่างๆ

3. การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมและการเข้าถึงบริการทางนวัตกรรมในทุกภาคส่วน โดยสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในการจัดกิจกรรมหรือโครงการ เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานให้ได้มากที่สุด เช่น โครงการม้านิลมังกร หรือการจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ (Certified Incubator) และสังคม (Social Innovation Driving Unit: SID)

4.การสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในระบบภูมิภาค เพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวของการทำนวัตกรรมที่มีอยู่แต่ในเมืองใหญ่ โดยการเพิ่มช่องทางและพื้นที่ในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ผ่านการจัดทำระเบียงเมือง และย่านนวัตกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานของเอ็นไอเอในภูมิภาค

5. การทำให้กฎระเบียบ และ นโยบาย เป็นเรื่องง่ายกับกระบวนการทางนวัตกรรม ด้วยการจัดทำภาพการอนาคตเชิงพื้นที่ (foresight) และแนวทางการแก้ไขปัญหา และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้กฎระเบียบหรือข้อกฎหมายที่มีปัญหา และยังรวมถึงโครงการจัดทำพื้นที่ทดลองต้นแบบ (City Lab) 

6. การเป็นชาตินวัตกรรมที่ “คนไทย” และ “นานาชาติ” ยอมรับ ด้วยการสร้างความร่วมมือทางด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างประเทศ ผ่านหน่วยการทูตนวัตกรรม (Innovation Diplomacy) รวมถึงการจัดตั้ง Startup Global Hub ที่ให้บริการด้าน Smart VISA ให้กับชาวต่างชาติ ที่ทำงานด้านนวัตกรรมในประเทศ

7. การทำให้ระบบนวัตกรรมไทย “ตอบสนอง” ต่อการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งเป้าไว้และพยายามใช้ประโยชน์จาก Innovation Thailand Network ทำในเรื่องของ Data driven Innovation ให้ชัดขึ้น ซึ่งต้องใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการ จึงได้มีการพยายามคุยกับประชาคมที่เป็นเจ้าของดัชนีในประเทศว่าจะต้องมีการส่งข้อมูลแบบใด โดยได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานไป 30 หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานเจ้าของข้อมูล 
 

ส่วนทางด้านภาพรวมนวัตกรรมตลอดปี 64 พันธุ์อาจ มองว่า ในปี 2564 การใช้นวัตกรรมเพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพของประเทศถูกให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 และยังส่งผลให้การแข่งขันในประเด็นดังกล่าวของประเทศไทยเป็นที่น่าจับตามองในหลากหลายด้าน ซึ่งกิจกรรมทั้งหลายล้วนไม่ได้ถูกโควิดกระทบมากมายนัก รวมทั้งดีพเทคสตาร์ทอัพก็มีพัฒนาการมากขึ้น ส่วนเมืองนวัตกรรมที่อยู่ในระดับภูมิภาคก็เริ่มเห็นการเติบโตที่มากขึ้นเช่นกัน ขณะที่การใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่กระนั้นทางด้านความท้าทายที่เห็นได้ชัดคือ นวัตกรรมโมเดลธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลถึงงบประมาณ กฎระเบียบ หลายกรณีพบว่าเป็นเรื่องของไอเดียและการพัฒนา ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพของการทำนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจ 

“เพราะฉะนั้นงานใหญ่ของเอ็นไอเอในคือ การทำเรื่องของ Deep-Tech Regionalization ทำให้ภูมิภาคมีการตั้งธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งในปี 65 เป็นปีที่ประเทศไทยจะมีการเปิดเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจะมีหลายเมืองที่เป็นศูนย์กลางของโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมมากมาย เราจะพัฒนาให้กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางเมืองนวัตกรรมเช่นกัน และทำให้โอกาสทางนวัตกรรมถูกกระจายไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี ธุรกิจเพื่อสังคม หรือสตาร์ทอัพ ไม่ต้องกระจุกตัวในกรุงเทพฯ โดยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค หรือ เศรษฐกิจพื้นฐานชุมชน หรือ Global Economy ด้วยนวัตกรรม และฐานของเมืองทั้งหลายที่สำคัญก็จะกลายเป็นเมืองนวัตกรรม ดังนั้นภายในปี 65 จะเห็นการทำงานในเชิงการพัฒนาเมืองนวัตกรรม ผู้ประกอบการที่อยู่ในฝั่งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคต่างๆ และมหาวิทยาลัยเยอะขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอให้จบการศึกษา ก็สามารถที่จะตั้งบริษัทได้ รวมทั้งก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนวัตกรรม” พันธุ์อาจ กล่าว

อันดับนวัตกรรม-สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างมั่นคง

ผ่าเส้นทางผลักดัน "นวัตกรรมไทย" ติดท็อป 30 ดัชนีโลก ใต้วิชชั่น "เอ็นไอเอ"

สุดท้ายนี้นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2564 (Global Startup Ecosystem Index 2021) ประเทศไทยครองอันดับที่ 50 และมีถึง 4 เมืองที่ติดใน 1,000 อันดับแรกของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด โดยกรุงเทพสามารถกระโดดขึ้น 19 อันดับจากอันดับ 71 สู่อันดับที่ 50 โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีการค้าปลีก เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่ 397 ภูเก็ต อันดับที่ 442 (พุ่งขึ้น 428 อันดับจากเดิม อันดับที่ 870) และสุดท้ายเมืองน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาติดอันดับเป็นปีแรกคือพัทยาที่อยู่ในอันดับที่ 833