เปิด 10 เทรนด์เทคฯ จีไอเอส กุญแจสู่อนาคตมุมมองใหม่

เปิด 10 เทรนด์เทคฯ จีไอเอส กุญแจสู่อนาคตมุมมองใหม่

“อีเอสอาร์ไอ” เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยีจีไอเอส (GIS) ปี 2565 เพื่อการประยุกต์ใช้วิเคราะห์ หาสาเหตุ และแนวทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ชี้กุญแจสู่การบริหารจัดการยุคดิจิทัล

“อีเอสอาร์ไอ” เปิด 10 เทรนด์ เทคโนโลยีจีไอเอส (GIS) ปี 2565 เพื่อการประยุกต์ใช้วิเคราะห์ หาสาเหตุ และแนวทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ชี้กุญแจสู่การบริหารจัดการหน่วยงาน พร้อมเดินหน้าพัฒนา ArcGIS โซลูชั่นเรือธงสู่เครื่องมือทรงประสิทธิภาพ หนุนการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมและสมบูรณ์แบบทุกด้าน

“ธนพร ฐิติสวัสดิ์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งจุดย้ำเหตุการณ์สำคัญทำให้ประชากรโลกตระหนักถึงการเผชิญกับสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่มีปัญหาหลากหลาย และมีความซับซ้อนมากขึ้น 

"เทคโนโลยี จีไอเอส จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แน่นอนว่าปัญหาในภูมิทัศน์โลกนี้ยิ่งทวีความซับซ้อน ทำให้เราต้องการเครื่องมือที่น่าเชื่อถือ รวมถึงองค์ความรู้เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ การหาทางรับมืออย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นที่มาการนำเทคโนโลยี จีไอเอส ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญมาประยุกต์ใช้ในการรวมรวบ จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล (Data Integration, Spatial Analysis, and Collaboration) เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ ช่วยในการตัดสินใจ และรับมือกับปัญหาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ" 

ขณะที่ การพัฒนาอินฟราสตรัคเจอร์ โครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงบุคลากร หน่วยงาน และภารกิจเข้าด้วยกัน โดยใช้ Location intelligence หรือความสัมพันธ์เชิงพื้นที่เป็นตัวเชื่อมโยง ตลอดจนการบูรณาการทั้งระบบข้อมูล เทคโนโลยี และความร่วมมือ สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางแก้ไขได้ถูกต้อง นำไปสู่การบริหารจัดการประเทศองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกทุกมิติ

จีไอเอสยุคใหม่ มากกว่าแสดงแผนที่ 

จีไอเอส เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เป็นมากกว่าการแสดงผลและการแสดงแผนที่ทั่วไป คือความสามารถคิดวิเคราะห์เชิงพื้นที่ขั้นสูง มองเห็นรูปแบบข้อมูลได้แม่นยำ วิเคราะห์คาดการณ์อนาคต ทั้งสามารถประมวลผลแบบเรียลไทม์และแสดงผลได้ในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ วิเคราะห์ในรูปแบบบิ๊กดาต้า ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรง การนำความสามารถของบิ๊กดาต้ามารวมกับจีไอเอสทำให้เห็นความสัมพันธ์ใหม่ ๆ บนข้อมูลที่มีอยู่เดิม 

สำหรับ 10 เทรนด์เทคโนโลยี จีไอเอสที่เป็นไฮท์ไลต์ปี 2565 ประกอบไปด้วย

1. Spatial Analysis, Data Science & Geo AI วิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เป็นหัวใจสำคัญของนักจีไอเอส ในการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาด้านต่างๆ ประยุกต์ใช้ หาทำเลที่เหมาะสม หรือการทำงานด้านดีพเลิร์นนิ่ง แมชชีนเลิร์นนิ่ง และเอไอ

2. Ready-to-Use Contents ชุดข้อมูลพร้อมใช้งานที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มมิติการวิเคราะห์ ทั้งข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียม เช่น การหาภัยพิบัติ และภาพถ่ายย้อนหลัง รวมถึงข้อมูลเรียลไทม์ เช่น ค่า PM 2.5 จากเซ็นเซอร์ ทั้งยังมีข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่มีความละเอียดสูงสำหรับการวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพถ่ายในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และวิเคราะห์หาวัตถุที่สนใจบนภาพ

3. GIS in the Field เก็บข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต รองรับการทำงานภาคสนามแบบครบวงจร ด้วยแอพพลิเคชั่นพร้อมใช้งาน โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นการจ่ายงาน และรับงานต่างๆ รวมถึงแอพพลิเคชั่นสำรวจจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม

4. Codeless App Builders การสร้างแอพพลิเคชั่นโดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม เพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้นด้วยแอพพลิเคชั่นแบบพร้อมใช้งานที่สร้างเว็บแอพพลิเคชัน พร้อมสรุปข้อมูลในรูปแบบแผนที่ และกราฟต่าง ๆ ในรูปแบบแดชบอร์ดที่สวยงามเข้าใจง่าย

5. 3D & Geo BIM การทำงานด้าน 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงผลข้อมูล 3 มิติ ในรูปแบบต่าง ๆ และยังทำงานร่วมกับข้อมูลของ BIM หรือ Building Information Modeling สำหรับบริหารจัดการอาคารสิ่งปลูกสร้าง เช่น ข้อมูลความละเอียดสูงภายในอาคาร เป็นต้น

6. Imagery and Raster GIS การทำงานด้านภาพถ่ายแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล Imagery และ ข้อมูลภาพ Raster ตั้งแต่สร้าง ประมวลผล จัดการ วิเคราะห์ และแสดงผลภาพ สามารถใช้งานได้ทั้งบนเดสก์ทอป เซิร์ฟเวอร์ บนคลาวด์ 

7. Real-time & Big Data เพิ่มมิติเชิงพื้นที่ให้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และบิ๊กดาต้า ทำให้เห็นอินไซต์ที่น่าสนใจจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทันท่วงที ช่วยประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. Geo-Enabled Systems วิเคราะห์เชิงพื้นที่ที่ตอบโจทย์เวิร์คโฟลว์ การทำงานเฉพาะทาง ประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบผังเมืองและภูมิทัศน์ วิเคราะห์เชิงธุรกิจ และการทำงานภารกิจภาคสนาม บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน

9. Industry-specific Data Models การทำงานกับข้อมูลเฉพาะทางด้านต่างๆ เช่น บริหารจัดการข้อมูลแปลงที่ดิน การทำงานกับข้อมูลโครงข่ายด้านไฟฟ้า ประปา และท่อก๊าซ ฯลฯ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างและแก้ไขแปลงข้อมูลได้อย่างง่ายๆ

10. ArcGIS in the Cloud เพิ่มช่องทางใช้งานจีไอเอส ผ่านคลาวด์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งติดตั้งใช้งานบนคลาวด์ ติดตั้ง และใช้งานระบบเอ็นเตอร์ไพร์ซ จีไอเอสบน Kubernetes ในรูปแบบคลาวด์เนทีฟ ที่รองรับขยายตัวระบบได้แบบยืดหยุ่นเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่มากขึ้นได้ และชุดเครื่องมือการวิเคราะห์พื้นที่แบบง่ายๆ ผ่าน API สำหรับนักพัฒนาในแบบ Platform-as-a-Services (PaaS)