เร่งปั้น คนไซเบอร์ 2 พันคน!! หนุนยุคดิจิทัลเฟื่องฟู

เร่งปั้น คนไซเบอร์ 2 พันคน!! หนุนยุคดิจิทัลเฟื่องฟู

“สกมช.” เร่งแผนพัฒนาคนไซเบอร์ มุ่งยกระดับศักยภาพบุคลากรตามแนวทางมาตรฐานสากล ชู 6 หลักสูตร หนุนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์องค์กรรัฐ-เอกชน เฟสแรกตั้งเป้าปั้นคนไอทีไซเบอร์ ป้อนอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 2,250 คน

นาวาอากาศเอกอมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า สกมช. เร่งผลักดันการพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ให้กับประเทศไทย ผ่าน 6 หลักสูตร ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรประกาศนียบัตรระดับสากล

โดยเป้าหมายหลัก มุ่งยกระดับทักษะ ศักยภาพ และขีดความสามารถของบุคลากรด้านไซเบอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และหน่วยสำคัญๆ ของประเทศ ให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานสากล ทัดเทียมกับการพัฒนาด้านนี้ของประเทศอื่นในภูมิภาค

 

ทั้งนี้ เช่น หลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับพื้นฐาน หลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับผู้เชี่ยวชาญ หลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ฯลฯ

“เราคาดหวังว่าคนที่เข้ามาอบรมจะได้รับความรู้ ทักษะ และความสามารถในการทำงานสนามจริง ที่ผ่านมาจึงมีการวัดผลอย่างเข้มข้นทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ด้านการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประกาศนียบัตรมีหน่วยงานที่เป็นมาตรฐานมาช่วยดูแลสนับสนุน ปีหน้ามีแผนจัดอบรมต่อเนื่องทั้งระดับทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านซิเคียวริตี้”

เขากล่าวว่า ปีนี้พบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลกว่า 26 เหตุการณ์ จากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่ระมัดระวัง หรือตั้งค่าผิดพลาดจนทำให้เกิดช่องโหว่ ไม่ใช่ที่ระบบหรือซอฟต์แวร์ ทั้งยังมีความเสี่ยงจากช่องโหว่ของพันธมิตรทางธุรกิจ ดังนั้นนอกจากการลงทุนซื้ออุปกรณ์ ที่สำคัญอย่างมากคือการพัฒนาศักยภาพของคน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงผู้บริหารควบคู่กันไป

พร้อมกันนี้ มุ่งสร้างการตระหนักรู้ วางมาตรการควบคุมมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์องค์กร เพื่อไม่ให้ความเสียหายส่งผลกระทบไปถึงประชาชน ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้น

พล.อ.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันโลกกำลังพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี 3 แนวทางหลักในการแก้ปัญหาประกอบด้วย คน กระบวนการ และเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือ คน เพราะหากคนมีความตระหนักรู้ มีความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหา จะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

ที่ผ่านมา สกมช. ได้ดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2564-2565 เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทำให้ประเทศไทยก้าวล้ำไปสู่โลกดิจิทัลได้อย่างมั่นคง มีความพร้อมในการป้องกันรับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรจำนวน 2,250 คน