"เอ็นไอเอ" ดึงทาเลนท์กลุ่มมหาวิทยาลัยบ่มเพาะ 5 ศาสตร์ “STEAM”

"เอ็นไอเอ" ดึงทาเลนท์กลุ่มมหาวิทยาลัยบ่มเพาะ 5 ศาสตร์ “STEAM”

"เอ็นไอเอ" หนุนสร้างพื้นที่นวัตกรรมแบบพี่ช่วยน้อง ดึงทาเลนท์กลุ่มมหาวิทยาลัยร่วมบ่มเพาะ 5 ศาสตร์ “STEAM” ให้เยาวชนในเวทีสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ตั้งเป้าคัด 10 ทีม ที่เป็นนวัตกรรุ่นใหม่กว่า 10,000 ราย ร่วมเสนอโมเดลธุรกิจจริงกับนักลงทุนในเดือนธ.ค.นี้

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ดำเนินมาถึงช่วงปลายโครงการแล้ว ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัย ซึ่งในปีนี้ NIA ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมกับคณะอาจารย์ที่ปรึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เข้ามามีส่วนร่วมในการบ่มเพาะเยาวชนที่เข้าร่วมกว่า 10,000 ราย ซึ่งช่วยให้เยาวชนทั้งในกลุ่มมหาวิทยาลัยและระดับมัธยมศึกษาสามารถเรียนรู้เทคนิคระหว่างกันได้เป็นอย่างดี และยังเป็นโมเดลสำคัญในการสร้างพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านนวัตกรรมที่สามารถทำให้เกิดผลงานที่มีความแปลกใหม่ มีความแตกต่าง และมีความเชื่อมโยง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ผลงานที่มีมูลค่าและคุณค่าในอนาคต

พันธุ์อาจ กล่าวเสริมว่า การดึง 5 มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าว ยังเป็นการปูพื้นฐานความรู้ “STEAM” ซึ่งเป็นศาสตร์สำคัญสำหรับการเป็นนวัตกร และเป็นประสบการณ์การเรียนรู้จริงของนักศึกษาในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่จะแบ่งปันให้แก่น้องๆ ในโครงการฯ เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลงานนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยหลักสูตร STEAM4INNOVATOR นอกจากจะมีการบูรณาการองค์ความรู้หลายสาขาทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์แล้ว

ทั้งยังมีการบ่มเพาะ 4 ขั้นตอนสำคัญในการสร้างนวัตกร ได้แก่ 1. รู้ลึก รู้จริง (STEAM + Insight) 2. การสร้างสรรค์ไอเดีย (Wow! Idea) 3. แผนพัฒนาธุรกิจ (Business Model) และ 4. การผลิตและการกระจาย (Production & Diffusion) นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มทักษะและคาแรคเตอร์การเป็นนวัตกรตามแนวทาง 5i ประกอบด้วย 1. Inspiration เป็นคนที่มีแรงบันดาลใจ ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ มีความสนใจ สงสัย ระบุถึงปัญหา 2. Imagination เป็นคนที่มีจินตนาการที่ดี เกิดการค้นหาปัญหาได้ 3. Ideation เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดแก้ไขปัญหาได้อย่างตอบโจทย์ 4. Integration เป็นคนที่รู้จักบูรณาการวิชาการและความคิดสร้างสรรค์เข้ากับปัญหาได้ และ 5. Implement เป็นคนที่ลงมือทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะว่านวัตกรรมจะไม่สามารถเรียกว่านวัตกรรมได้ ถ้าไม่ลงมือทำ

“หากถามว่าผลงานนวัตกรรมของเด็กและเยาวชนในโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาขยะในสังคมได้แท้จริงนั้นไหม ขอแบ่งเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาต้นเหตุ ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ความคิดของคนรุ่นใหม่ ทำให้เด็กและเยาวชนตระหนักและเข้าใจความหมายของคำว่า ปัญหาขยะโลก ปัญหาพลังงานอย่างถ่องแท้มากขึ้น"

เพราะฉะนั้นสิ่งที่น้องๆ ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ การทำโครงการต่างๆ นั้นถือเป็นการตอกย้ำทำให้น้องๆ มีความตระหนัก ความรับรู้ และความเข้าใจต่อสิ่งที่มนุษย์โลกทุกคนกำลังเผชิญปัญหาขยะล้นโลกอยู่ขณะนี้อย่างเป็นระบบ จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตที่มีความตระหนักต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อม และประเด็นที่สองคือการนำไปสู่เรื่องไอเดีย และนวัตกรรม หลายผลงานยังเป็นไอเดียที่เริ่มต้น โดยจะเห็นว่าการที่น้องๆ มีแรงจุดประกาย มีความคิดสร้างสรรค์ มีการทำงานกันเป็นทีม ในอนาคตถ้าเราดูแลกันไปเรื่อยๆ เราจะมีนวัตกรรุ่นใหม่ที่ตอบคำถามนโยบายของประเทศ ที่มีชื่อว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy)

ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจโดยนำแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศและระดับโลกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตที่สร้างได้จริง

พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากการผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้แล้ว NIA ยังมีเป้าหมายในการเติมเต็มกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้ได้คัดเลือกผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพจำนวน 10 นวัตกรรมให้สามารถต่อยอดสู่การเป็นธุรกิจนวัตกรรม หรือโซลูชั่นที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับภาคสังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยในเดือนธันวาคมนี้ได้ดึงภาคส่วนสำคัญอย่างภาคการลงทุนให้ได้มีโอกาสเจอกับทีมเยาวชนผู้พัฒนา 10 นวัตกรรมด้านการจัดการขยะ เพื่อรับฟังการนำเสนอแผนธุรกิจ หรือแนวทางการนำไปต่อยอดจริงในเชิงพาณิชย์ การสร้างประโยชน์ต่อภาคสาธารณะ ซึ่งมั่นใจว่าทั้ง 10 นวัตกรรมที่ NIA และ กกพ. คัดเลือกมานั้นล้วนมีศักยภาพ และพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนและระดับประเทศ

ทั้งนี้ สามารถติดตามกิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง 10 INNOVATIONS LAUNCHED เปิด 10 ผลงานนวัตกรรมดีเด่น พร้อมประกาศ 5 ทีมผู้ชนะเลิศ ในวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 หน้าห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวตลอดโครงการได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/ หรือเว็บไซต์ https://electricplayground.nia.or.th/