"บีซีจีเครื่องมือแพทย์" แรงหนุนสำคัญของอุตฯการแพทย์ไทย

"บีซีจีเครื่องมือแพทย์" แรงหนุนสำคัญของอุตฯการแพทย์ไทย

“ไพรัช” เผยอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยโตต่อเนื่อง ชงหนุนบีซีจีสาขาเครื่องมือแพทย์ สร้างการพึ่งพาตนเองเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลดูแลสุขภาพ และเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

หนุนอุตฯเครื่องมือแพทย์ไทย


จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกันผ่านโมเดล BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 


ซึ่ง “เครื่องมือแพทย์” ถือเป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งต้องการการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล จึงไม่แปลกที่จะเห็นหลากหลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญและเร่งผลักดันทางด้านนี้กันอย่างเต็มกำลัง

ภายใน “มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ หรือ BCG Health Tech Thailand 2021” ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจที่ผลิตนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์จากการวิจัยอย่างเต็มที่ พร้อมกับมียุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพตามนโยบาย BCG Economy Model เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะไปสู่เป้าหมายการเป็น "ศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน" ในปี 2570

โดยในงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “BCG Model สาขาเครื่องมือแพทย์ ความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย” ศ.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธาน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ เป็นผู้ปาฐกถาโดยมีใจความสำคัญที่ว่า BCG สาขาเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานคือ ประเทศไทยสามารถยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) แห่งเอเชีย ในการพัฒนาเครื่องมือ ชุดตรวจ อุปกรณ์ วัสดุ เวชภัณฑ์ และแพลตฟอร์มดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ 

ชู 3 มิติกลยุทธ์หลัก

ส่วนเป้าหมายได้แก่ 1.สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมมากกว่า 1 แสนล้านบาท 2.เพิ่มการจ้างงานมากกว่า 5 พันคน 3.เพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ให้ประชาชนในภูมิภาคและชนบทมากกว่า 1 ล้านคน 

มิติที่ 1 คือ สร้างการพึ่งพาตนเองเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงาน 6 คณะทำงาน โดยงานทั้งหมดจะเป็น Non R&D Support Mechanism  ส่วนมิติที่ 2 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ โดยจะเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์เพื่อลดความครอบคลุมของหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับและลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณะสุข ทั้งส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งจะมีแผนการทำงานโดยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำ Health Link การเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาล โดยปัจจุบันมีเครือโรงพยาบาลแสดงความจำนงเข้าร่วมรวม 100 แห่ง

อีกทั้งการผลักดันแพลตฟอร์มดิจิทัลในการเข้าถึงยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ อาทิ หมอพร้อม และสุดท้ายส่งเสริม health tech startup  ซึ่งจากการศึกษาโครงการนวัตกรรม 64 โครงการ พบว่าผู้ประกอบการรายย่อยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ และมีสัดส่วนการขยายผลมากที่สุด แต่ยังคงสร้างมูลค่าผลตอบแทนต่อเงินสนับสนุนได้น้อยที่สุดโดยสนับสนุนไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท ส่วนเปอร์เซ็นต์สำเร็จ 56% สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 300 ล้านบาท

ส่วนกลยุทธ์ดำเนินการมีดังนี้ 1.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ 5จี คลาวด์ เทคโนโลยีไอโอที บล็อกเชน เอไอ และ Data Analytics 2.พัฒนาแพลตฟอร์มแบบ DevSecOps หน่วยวิจัยพัฒนาร่วมกับหน่วยงานบริหารด้านสุขภาพ 3.ความยั่งยืนซึ่งจะเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน  
 

โควิดการลงทุนเครื่องมือแพทย์โต

และมิติที่ 3 เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกลไกการดำเนินงานมิติที่ 3 จะเป็นการทำงานร่วมกับ BOI ,EEC ,ตลาดหลักทรัพย์ โรงพยาบาลเอกชน กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

อย่างเช่นในช่วงสถานการณ์โควิดได้มีมาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและอยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการนี้ 50 โครงการ โดยบีโอไอได้อนุมัติไปแล้ว 42 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นตามเป้าหมายของรัฐบาล

ทั้งนี้นโยบายและยุทธศาสตร์จะเป็นการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้บรรลุเป้าหมาย สำหรับแนวทางการดำเนินงานโดยกลไกในมิติที่ 1 คือ 1.สร้างสินทรัพย์ทางปัญหาด้านนวัตกรรม และเสริมมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลนให้เป็นสากล 2.สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเครื่องมือแพทย์ไทยผ่านระบบกลไกกระบะทรายหรือ แซนบ็อกด์

3.เพิ่มประสิทธิกลไกบัญชีนวัตกรรมไทยและเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือแพทย์ไทย โดยจะเป็นการให้แต่ละหน่วยงานของภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรม อย่างน้อยในอัตราส่วนร้อยละ 30 ของความต้องการใช้งานทั้งหมดของหน่วยงานภาครัฐ  อาทิ การจัดซื้อแผ่นโลหะดามกระดูกซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ของบริษัท ออโธพีเซีย จำกัด ซึ่งอยู่ในรายการเครื่องมือแพทย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย

ขณะเดียวกันในปี 2563 ข้อมูลจากกรมบัญชีกลางระบุว่า ในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ประจำปีของภาครัฐสูงถึง 5.6 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งตอนสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผ่านมาของโควิดได้มีการกู้เงินและใช้งบครุภัณฑ์ประมาณ 6,219 ล้านบาท 
 

ทั้งนี้ตลาดอุปกรณ์การแพทย์ในอาเซียนมีทั้งหมด 6 ประเทศ แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้จากการศึกษาศักยภาพอุตสาหกรรมการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน พบว่า มีมูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ 5.2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1% ของตลาดโลก  มีการให้บริการทางการแพทย์เติบโตรวดเร็ว เพราะประชากรเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่เติบโต โดยอุปกรณ์การแพทย์ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐ จีน เยอรมันและญี่ปุ่น

รวมทั้งอาเซียนจะใช้กฎระเบียบเดียวกันในปี 2563 ส่วนไทยมีความต้องการอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ขยายตัวขึ้นจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประสบความสำเร็จ และจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนในปี 2564

ขณะเดียวกันในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีอัตราการส่งออกเติบโต 22.2% คิดเป็นมูลค่า 137,426 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2563 คาดว่าทั้งปี 2564 อุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตจากการส่งออกอยู่ที่ 29.6% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 205,664 ล้านบาท โดยอันดับหนึ่งจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนการนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นครุภัณฑ์ทางการแพทย์ น้ำยาและชุดวินิจฉัย

"สำหรับอันดับมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่เข้าข่ายเครื่องมือแพทย์ของไทยปี 2563 ไทยอยู่อันกับที่ 28 ของโลก อันดับ 6 ของเอเชีย และอันดับ 3 ของอาเซียน ส่วนอันดับมูลค่าการส่งออกไทยอยู่อันดับที่ 20 ของโลก อันดับที่ 7 ของเอเชีย และอันดับที่ 3 ของอาเซียน"


ทั้งนี้สิ่งสำคัญอีกหนึ่งประการคือ "ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย" ที่ถือเป็นพลังใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีจำนวน 24 ราย ซึ่งในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา “ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน” เป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด สะท้อนจากรายได้และกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พบว่า หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -14.2 และ -54.8 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่คาดว่าจะหายไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 ของจำนวน Medical Tourism ทั้งหมด


แต่ขณะเดียวกันด้วยกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวและการแข่งขันของตลาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้เงินสดเป็นหลักได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น กลุ่มประกันสังคม ข้าราชการ น่าจะประคับประคองรายได้ หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จับกลุ่มลูกค้าในเซกเมนต์อื่นๆ 

โดยทั้งหมดทั้งมวล บีซีจีโมเดลสาขาเครื่องมือแพทย์ ได้สร้างกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ใน 3 มิติ ได้แก่ การพึ่งพาตนเอง การลดความเหลื่อมล้ำ และการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อย่างมีเป้าหมายและตัวชี้วัดการทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดผ่านคณะทำงานต่างๆทั้ง 8 คณะภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจีโมเดลเครื่องมือแพทย์
 

ซึ่งประเด็นสำคัญของการดำเนินงานคือการประเมินผลสัมฤทธิ์ทุกไตรมาสว่าเข้าเป้าหมายหรือไม่และต้องปรับปรุงขนานกันไป การประเมินควรมีทั้งคุณภาพชีวิต พร้อมกับตัวเลขเศรษฐกิจ