โทรคม ‘แสนล้าน’ เกมพลิก - จับตา เทเลนอร์ ทิ้งลงทุน

โทรคม ‘แสนล้าน’ เกมพลิก - จับตา เทเลนอร์ ทิ้งลงทุน

จับตาโทรคมไทย หลังดีล "ดีแทค-ทรู" นักวิชาการเชื่อ ระยะสั้นไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เหตุ "เอไอเอส" รุกหนัก อัดแคมเปญคงสถานะผู้นำ ชี้แม้รวมเบอร์ 2 และ 3 จะกินแชร์สูงโค่นแชมป์ได้ แต่หากมองคลื่นความถี่-สถานะการเงิน “เอไอเอส” ยังเหนือกว่า จับตาท่าที "เทเลนอร์" ทิ้งลงทุน

ครบ 1 สัปดาห์ดีลใหญ่แห่งปี และน่าจะใหญ่สุดในรอบหลายปีของอุตสาหกรรม โทรคมนาคม ไทยยังคงมีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง หลังจากประเด็นข่าว ดีลควบรวมกิจการ การเทคโอเวอร์ ที่เกิดขึ้นมาตลอด 2-3 ปี สุดท้าย “เทเลนอร์ กรุ๊ป” ประกาศต่อตลาดหลักทรัพย์ที่นอร์เวย์อนุญาตให้ “ดีแทค” บริษัทลูกเป็นพาร์ทเนอร์กับ “ทรู” บริษัทลูก เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี อันเป็นที่มาของการตั้งเป้าหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน หรือ Equal Partnership ส่งผลให้ เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น 

จากนี้ ทรู และดีแทค จะดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งจนแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ เบื้องต้น เราอาจได้เห็นแลนด์สเคปของอุตสาหกรรมโทรคมเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2566 

แหล่งข่าววงการโทรคม วิเคราะห์ว่า เกมแข่งขันนี้อาจไม่ง่าย และอาจไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่า ทรู และดีแทค ที่ผนึกกำลังร่วมกัน จะโค่นผู้นำอย่าง “เอไอเอส” ที่มีสถานะการเงินเหนือกว่า และแข็งแกร่งลงได้ง่ายๆ ยังไม่นับฐานลูกค้าของเอไอเอส ที่ได้ชื่อว่ามี Royalty สูงมาก 
 

ขณะที่ เป้าประสงค์ของปลายทางอภิดีล ที่ระบุว่า ต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศ ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนถึง “นวัตกรรม” หรือ “เทคโนโลยีใหม่” ในระดับที่จะก้าวไปแข่งในระดับโลกได้ ที่สำคัญท่าทีของ “เทเลนอร์” ไม่ชัดเจนว่า ต้องการทำตลาดไทยต่อไป หรือจะมอบสินทรัพย์ (คลื่นความถี่ เสาสัญญาณ) ที่มีทั้งหมดให้ “ทรู” บริหารจัดการ และจากนั้น ชื่อของเทเลนอร์จะค่อยๆ เลือนหายไปจากตลาดไทย 

หรือแม้แต่ความ “อิ่มตัว” ของอุตสาหกรรรมโทรคมในไทย ซึ่งหากวิเคราะห์กันในความเป็นจริง ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ บริการดิจิทัลไปมากแค่ไหน ซึ่งเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มากเลย เทคโนโลยีที่มีอยู่ยังขยาย และต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาลมากกว่านี้

อุตฯโทรคมคลายมนต์ขลัง

แต่หากจับใจความถ้อยแถลงของ "นายศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาค เข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น 

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การปรับโครงสร้างของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตอนนี้อยู่ในจุดที่เพิ่มมูลค่าได้น้อยมาก

"เราถูกเรียกว่า Dumb Pipe ทรูและดีแทค มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ เพราะเรายังคงเป็นผู้ประกอบการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมเป็นหลัก เราไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภค และประเทศไทยได้"

จากประเด็นดังกล่าว ย้อนกลับไปมองวิสัยทัศน์ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ เอไอเอส ที่ระบุว่า บริษัทยังมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในบทบาทผู้พัฒนาเครือข่าย และในบทบาทกลุ่มผู้บุกเบิก ร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบที่ช่วยสนับสนุน ยกระดับวิถีชีวิตประชาชน และรูปแบบการบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ 

เอไอเอส ยังคงมองว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังคงสร้างมูลค่าให้ทั้งกับตัวเองและเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับอุตสาหกรรมอื่นๆได้อย่างไร้รอยต่อ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่

จะเห็นว่า เอไอเอสเข้าเป็นพาร์ทเนอร์กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศบรรลุข้อตกลง และลงนามในสัญญาร่วมทุน จัดตั้งบริษัทในชื่อ “เอไอเอสซีบี” (AISCB) เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ต่อไป นับเป็นก้าวสำคัญในการผนึกกำลังสร้างฐานธุรกิจแห่งการเติบโตในรูปแบบใหม่ให้กับทั้งสององค์กรชั้นนำระดับประเทศ

มองหาเพื่อนข้ามอุตสาหกรรม

หากมองกลยุทธ์ของ "ทรู" ที่ควบรวมกับ "ดีแทค" ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับยุทธศาสตร์ของ "เอไอเอส" ที่ขยับและเดินหน้าไปเป็นพันธมิตรกับ “ผู้เล่น” ในเซ็กเตอร์อื่นๆ เอไอเอส ที่ประกาศร่วมทุนดังกล่าว ได้นำเอาจุดเด่นของพันธมิตรทั้งสอง คือ ความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ นวัตกรรมอันล้ำสมัย ตลอดจนศักยภาพในการให้บริการลูกค้าของเอไอเอส มาผสานเข้ากับความน่าเชื่อถือของแบรนด์ 

รวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลที่จะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนไทยได้มากยิ่งขึ้นท่ามกลางบริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ความร่วมมือระหว่าง “เอไอเอส” และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ที่บริษัทชั้นนำในสองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ Telco และสถาบันการเงิน ร่วมทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์คนในวงกว้าง โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ แน่นอนว่า ความร่วมมือนี้ คือ ส่วนสำคัญที่จะผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศท่ามกลางความท้าทายในปัจจุบัน

วัดกำลังขุมทรัพย์คลื่น-ลูกค้า

หากพิจารณา จำนวนฐานลูกค้า ธุรกิจที่ให้บริการอยู่ แน่นอนว่าแม้ "กลุ่มทรู" ดูจะครบเครื่องมากกว่า รองลงมา คือ "เอไอเอส" ที่เพิ่งโดดลงมาสนามอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และบริการโอทีที ผ่าน AIS playbox  ขณะที่ ดีแทค ยังคงทำธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเดียว

เมื่อเจาะดูขุมทรัพย์ของ "เอไอเอส" ที่ยังคงสถานะเป็นผู้นำอันดับ 1 ในขณะนี้ มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดรวม 1450 เมกะเฮิรตซ์ และมีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 43.7 ล้านเลขหมาย ลูกค้าบรอดแบนด์ 1.7 ล้านราย มูลค่าบริษัท 621,535 ล้านบาท ผ่าน 3 สายธุรกิจ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนท์ บริการไอโอที และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ตลอดจนขยายสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ อาทิ AIS eSports, AIS Insurance Service  ส่วนพารท์เนอรรายล่าสุด คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีสินทรัพย์รวม 3,202 พันล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 332,769 ล้านบาท

ขณะที่ ดีแทคมีมูลค่าบริษัท 107,143 ล้านบาท ลูกค้า 19.3 ล้านราย มีคลื่นความถี่ 330 เมกะเฮิรต์ ส่วนทรูมีมูลค่าบริษัท 153,832 ล้านราย แต่ก็มีหนี้สินสูงมากถึง 539,941 ล้านบาท มีลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวม 32 ล้านราย ลูกค้าบรอดแบนด์ 4.5 ล้านราย ถือครองความถี่ 1020 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น หากรวมจำนวนลูกค้าระหว่างเบอร์ 2 กับเบอร์ 3 จะมีมากถึง 51.3 ล้านราย ซึ่งจะสูงกว่าเอไอเอเอสที่มีในปัจจุบัน แต่ในด้านอื่นๆทั้งจำนวนการถือครองคลื่นความถี่หรือสถานะทางการเงิน “เอไอเอส” ก็ยังคงอันดับผู้นำอยู่เช่นเดิม

เทเลนอร์ฯกำลังจะบอกอะไร

ด้านนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า เทเลนอร์ มีประสบการณ์ขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่างๆ ในเอเชียมาแล้ว ดังนั้น ขณะที่เรายังพัฒนาต่อไป ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างคาดหวังบริการที่ล้ำสมัย และการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น 

"เราเชื่อว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย”

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่สำนักงาน กสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ไล่มาตั้งแต่ 4จี จนมาถึง 5จี ล่าสุด แผนการประมูลคลื่นของดีแทคไม่ได้ทำในเชิง “รุก” แต่กลับประมูลคลื่นในลักษณะ “ประคองตัว” จากลูกค้าที่มีอยู่ในมืออันดับ 2 จนถึงวันนี้ลูกค้าทยอยออกไปจนน่าใจหาย

ดังนั้น มาถึงวันนี้ หากมองว่า เทเลนอร์ ไม่ทิ้งไทยไปไหนเหมือนกับที่เคยที่ให้ข่าวไปก่อนหน้านี้ ก็คงเป็นตามนั้น แต่เทเลนอร์ฯ คงไม่ได้หวังให้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนของตัวเองโตไปมากกว่าแล้ว อยู่เพียงเพื่อทำธุรกิจและเก็บปันผลกลับไปยังบริษัทแม่ 

สารพัดปัญหาบีบรวมธุรกิจ

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การควบรวมกิจการในระยะสั้น ไม่น่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่การรวมตัวของทรูและดีแทค คือ การดึงจุดแข็งของทั้งคู่ที่มีอยู่มาสู้กับผู้นำ ทั้งด้วยภาพลักษณ์ทางการตลาดและการสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าในแง่ของเครือข่าย 

จุดแข็งของดีแทค อยู่ที่การตลาด และการเข้าถึงผู้ใช้ ที่สำคัญเทเลนอร์ ยังรู้จักตลาดภูมิภาค มองว่าเป้าหมายต่อไปของทางทรู ไม่ได้มองเฉพาะตลาดในประเทศ แต่ต้องการขยายบริการไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ในมุมของผู้บริโภคนั้น ลูกค้าทรูคงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก 

ส่วนลูกค้าดีแทค ได้รับการนำเสนอแพ็กเกจ 5จี ทรูที่ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมบัลเดิลบริการเสริม ทั้งบรอดแบนด์หรือคอนเทนท์ ทรูไอดี อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจกังวลว่า การรวมกันอาจทำให้ผู้บริโภคเหลือทางเลือกใช้บริการน้อยลง แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการคงไม่มีใครยอมใคร ทุกรายต้องพยายามพัฒนาบริการเพื่อช่วงชิงฐานลูกค้า ส่วนที่มองว่าผูกขาดนั้น ประเทศไทยไม่ได้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ยังมีเอ็นที มีฐานลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจไม่สูง แต่เป็นเจ้าของโครงข่าย เคเบิลใต้น้ำ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต

"แข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคม ใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ทั้งการประมูลคลื่นความถี่และการลงทุนขยายโครงข่าย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนระดับแสนล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนไม่สูงเหมือนในอดีต อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาโควิด ยังส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจ การปรับตัวไม่ได้เกิดเฉพาะโทรคมนาคม แต่อุตสาหกรรมอื่นก็มีการควบกิจการทั้งหมดเป็นเรื่องของการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง"

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มเทเลนอร์ ไม่ลงทุนประมูลคลื่นความถี่ในราคาสูง ขณะที่คู่แข่งขันทั้งทรู และเอไอเอส มีความแข็งแกร่ง ทั้งคลื่นความถี่ และอีโคซิสเต็ม ทั้งบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต บริการ 5จี ที่ครอบคลุมทั้งประเทศ บริการเสริมอื่นๆ

"หลังจากนี้ต้องจับตามองการเปลี่ยนแปลงวงการโทรคมนาคมต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ โดยฝั่งมีความแข็งแรงเรื่องซัพพลายเชน สินค้าเกษตร ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมีความแข็งแรง เรื่องพลังงาน ทั้งคู่มีความแข็งทั้งอินฟราสตักเจอร์ เงินทุน และต้องการขยายไปภูมิภาค เชื่อว่าต่อจากนี้แต่ละราย ต้องพยายามต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจไปตามที่ถนัด" นายสืบศักดิ์ กล่าว