รู้จักบ้านฉาง "Smart City" เมื่อ 5G ยกระดับเมืองอัจฉริยะตรวจจับมลพิษได้

รู้จักบ้านฉาง "Smart City" เมื่อ 5G ยกระดับเมืองอัจฉริยะตรวจจับมลพิษได้

ชุมชนบ้านฉาง จ.ระยอง คือ "Smart City" แห่งแรกในไทย ที่นำเทคโนโลยี 5G มาช่วยยกระดับให้เป็น "เมืองอัจฉริยะ" เพื่อแก้ปัญหา "มลพิษทางอากาศ" ในชุมชน รวมถึงใช้เชื่อมต่อกับโดรนเพื่อตรวจจับการเดินเรือผิดกฎหมาย

วันนี้เทคโนโลยี 5G ไม่ได้หยุดอยู่แค่เครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ใช้บนสมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี หรืออุปกรณ์ IoT ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังถูกนำมาพัฒนาต่อยอดสู่การเป็น "Smart City" ใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนได้

โดยชุมชนที่เป็นโมเดลนำร่องของการใช้เทคโนโลยี 5G มาพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะก็คือ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งถือเป็น "Smart City" แห่งแรกในไทย แล้วที่นี่มีความพิเศษอย่างไรบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปเจาะลึกเรื่องนี้ให้มากขึ้น

1. "บ้านฉาง" เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC

ชุมชนบ้านฉางเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ "ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" (EEC) ที่ทางภาครัฐกำลังเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสัญญาณ 5G แล้วเกิน 100% ของพื้นที่

โดยสิ่งที่เราจะได้เห็นแน่ๆ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์และแก้ปัญหาให้ภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะพื้นที่บ้านฉางที่เคยประสบปัญหา "มลพิษทางอากาศ" อย่างหนัก เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง ชุมชนจึงต้องการแก้ปัญหาจุดนี้อย่างเร่งด่วนและเห็นผลจริง

 

2. Smart City บ้านฉาง เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?

สำหรับชุมชนบ้างฉาง ได้เปิดตัวเป็น "เมืองต้นแบบ 5G" ไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมมือกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และภาคเอกชนหลายแห่ง ร่วมกันจัดหาเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลกมาเพื่อออกแบบ 5G Solution ที่ตอบโจทย์ระบบการบริหารจัดการเมือง เช่น

  • การจัดระเบียบการขนส่งและการจราจร
  • ข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ
  • พื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและระบบไฟทางอัตโนมัติ
  • ระบบกำจัดน้ำเสีย

โครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านบาท โดยแหล่งเงินสนับสนุนมาจาก 3 แหล่งใหญ่ แบ่งเป็น เทศบาล 30% , NT 30% และ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอีก 40%

 

3. 5G แก้ปัญหามลพิษใน "บ้านฉาง" ได้อย่างไร?

นอกจากการนำ 5G มาช่วยออกแบบระบบการบริหารจัดการเมือง ทั้งการจัดระเบียบการขนส่ง, การจราจร, รถโดยสารสาธารณะ, ระบบไฟทางอัตโนมัติ,  ระบบกำจัดน้ำเสียต่างๆ แล้ว ยังมีจุดเด่นที่นำมาช่วยแก้ไขปัญหา "มลพิษทางอากาศ" ได้ด้วย

โดยในระยะแรก NT ได้ทดลองติดตั้ง "เสาอัจฉริยะ (Smart Pole)" จำนวน 25 ต้นในเขตเทศบาล (จากเป้าหมายทั้งหมด 160 ต้น) 

ตัวเสาอัจฉริยะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สัญญาณ 5G ในพื้นที่ และมีฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย อาทิ

  • ปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตสาธารณะฟรี
  • เชื่อมต่อเซนเซอร์ตรวจจับมลพิษในอากาศและน้ำ 
  • เชื่อมต่อโดรนไร้คนขับที่บินสำรวจบริเวณหาดและท่าเรือตรวจจับการเดินเรือผิดกฎหมาย เรือจอดซ้อนคันและคนลักลอบเข้าเมือง 
  • มีปุ่มกดระบบขอความช่วยเหลือ (SOS) ไปยังหน่วยงานรัฐ เช่น เทศบาล สถานีตำรวจ โรงพยาบาล 

สิ่งที่เทคโนโลยี 5จี เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหลักที่สำคัญอย่างแรก คือ การแจ้งข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐถึงประชาชน จากที่ชาวบ้านเคยกังวลเรื่องปัญหามลพิษ ก็มีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจวัดระดับมลพิษทั้งในอากาศและน้ำ ซึ่งแสดงผลได้แบบ real time เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้านที่อยู่อาศัย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ด้วยว่าตอนนี้ระดับมลพิษไม่น่ากังวล

4. ประโยชน์อื่นๆ ที่ชุมชนได้จากเทคโนโลยี 5G

ไม่เพียงแค่ช่วยตรวจวัดค่ามลพิษได้เท่านั้น แต่เทคโนโลยี 5G ยังมีช่วยเสริมระบบด้านความปลอดภัย จากเมื่อก่อนชุมชนเคยมีแต่กล้องวงจรปิด แต่พอมี 5G เข้ามา ก็ช่วยเพิ่มการทำงานของ A.I. เกิดเป็นเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าได้ ทำให้ตำรวจทำงานง่ายขึ้น ใช้ตรวจจับคนทำผิดมาดำเนินคดีหรือใช้ตามหาคนหายได้

อีกทั้งความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ดีขึ้น ช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตง่ายขึ้น ทั้งยังต่อยอดในเชิงธุรกิจ เช่น การใช้ขายสินค้าออนไลน์ ได้ด้วย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน เพื่อเสริมสร้างระบบการจัดการให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากใครสนใจอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการนำ 5G มาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนเพิ่มเติม ต้องไม่พลาดงานสัมมนา 5G THAILAND BIG MOVE ในวันพฤหัสบดี ที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30 น. – 15.30 น. ลงทะเบียนได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/5GThailandBigMove สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 338 3000 กด 1