"เอ็นไอเอ" ฉายภาพอนาคตสตาร์ทอัพไทย กับโจทย์มัดใจนักลงทุน

"เอ็นไอเอ" ฉายภาพอนาคตสตาร์ทอัพไทย กับโจทย์มัดใจนักลงทุน

“เอ็นไอเอ” เผยเทรนด์การลงทุนของนักลงทุน เลือกที่จะลงทุนกับสตาร์ทอัพขนาดเล็กแต่มีศักยภาพเติบโตสูง พร้อม 3 ปัจจัยสำคัญ การลงทุนจากคอร์ปอเรทไทย การลงทุนจากวีซีต่างประเทศ และการที่สตาร์ทอัพมีโนว์ฮาว เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเกิดของยูนิคอร์นไทย

สถานการณ์สตาร์ทอัพในไทย

หลังจากการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพยูนิคอร์นสัญชาติไทย 3 ตัว ส่งผลให้วงการสตาร์ทอัพเป็นที่จับตาและตื่นตัวมากขึ้น “กรุงเทพธุรกิจ” จึงได้มีการสัมภาษณ์ “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ เอ็นไอเอ ที่จะมาฉายภาพทิศทางสตาร์ทอัพไทยปี 65 และกลไกที่จะมาขับเคลื่อนให้มียูนิคอร์นตัวใหม่

โดย พันธุ์อาจ ได้เผยมุมมองว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพในปี 2565 ให้จับตา 3 สถานการณ์ใหญ่ คือ 1.rise of corporate led unicorn investment คือ บริษัทขนาดใหญ่ของไทยจะเริ่มลงทุน และจะมีการเปิดตัวยูนิคอร์นเป็นระลอกอย่างที่ผ่านๆ มา

2.การบูมของเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ ดีพเทค โดยสตาร์ทอัพจะเริ่มเปลี่ยนจากการทำแอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์ม สู่การพัฒนา เทคโนโลยีขั้นสูง อย่าง วัคซีน หรือ Metaverse ที่จะไม่ใช่การพัฒนาซอฟต์แวร์อีกต่อไป โดยจะมีทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ เกษตรแม่นยำ ไบโอเทคโนโลยีและการจัดการขยะ ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการขนาดเล็กแต่มีศักยภาพเติบโตสูงมาก

3.เทรนด์ Metaverse Go Rush เป็นเหมือนกระบวนการคัดเลือกของชีววิทยา จะไม่ใช่เรื่องของ Traditional Fintech หรือ สังคมไร้เงินสดอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของการกำเนิดของสินทรัพย์ดิจิทัลและการทำเรื่องของอนาคตอย่าง Meta

ส่วนแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนนั้นคอร์ปอเรทรายใหญ่จะมียูนิตที่สร้างบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเอง หรือเข้าถือสิทธิ์บริษัทสตาร์ทอัพทั่วโลก ซึ่งตอนนี้เริ่มเบนเข็มมาสู่ประเทศไทย และเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพที่เติบโตได้เร็ว หรือเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มพบการลงทุนกับสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น (early stage) หรือซีรีส์ B ปลายๆ 

สะท้อนถึงการปรับตัวของคอร์ปอเรทจากการซื้อของค่อนข้างแพงแต่ความเสี่ยงต่ำ ก็จะเริ่มหันมามองกิจการระยะเริ่มต้นแต่มีศักยภาพสูงมากขึ้น โมเดลนี้แม้จะยังไม่ใช่กระแสหลักแต่จะเห็นมากขึ้นในปี 2565

เอ็นไอเอกับการผลักดันสตาร์ทอัพ

จากสถานการณ์ข้างต้นจึงกลายเป็นบทบาทที่ว่า ทำไมเอ็นไอเอจะต้องเข้ามาช่วยในการเร่งกระบวนการเติบโต ผ่าน 3 แนวทางหลักคือ 

1.การสร้างทรายเม็ดใหม่ หรือ การสร้างเทคสตาร์ทอัพ/ดีพเทคในสาขาแห่งอนาคต อาทิ ARI, ImmersiveTech, MedTech, FoodTech, AgTech และเรื่องของดีเฟนส์เทค หรือ สเปซเทค คนไทยอาจมองว่าไกลตัว แต่ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการลงทุนประเภทนี้จำนวนมาก 

ฉะนั้น หน้าที่หลักของเอ็นไอเอคือ ลงทุนลงแรงและเป็นพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัย พาร์ทเนอร์กับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำสตาร์ทอัพ พร้อมกับการสนับสนุนให้เกิดการตั้งบริษัท เพื่อให้ได้เงินลงทุนในช่วงแรก และพยายามปั้นสู่การเติบโต เมื่อถึงเวลาจะนำไปเชื่อมต่อกับนักลงทุน หรือ Angle Investor

2.บ่มเพาะสตาร์ทอัพเข้าสู่อีโคซิสเต็มโดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) บ่มเพาะสตาร์ทอัพไทยให้เก่งพอเพื่อคว้าเงินลงทุนของคอร์ปอเรท จะเห็นได้ว่างาน accelerator ของเอ็นไอเอมีความเข้มข้นที่สุดในประเทศ ขณะเดียวกันก็เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับกฤษฎีกา

3.พัฒนา Angle Investor ที่สามารถลงทุนกับสตาร์ทอัพในเมืองไทยได้ โดยการมีส่วนร่วมกับอีโคซิสเต็มของนักลงทุนผ่านการเจรจาและสร้างความร่วมมือ เพื่อพัฒนาให้เกิดการลงทุน พร้อมทั้งการจัดเก็บตัวเลข เพื่อที่เอ็นไอเอจะนำข้อมูลเหล่านั้นส่งต่อให้กับผู้ประเมินความเป็นนวัตกรรมของประเทศต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมประเทศไทยด้วยเช่นกัน และทำให้ตลาดการลงทุนของไทยเข้มข้นมากขึ้น

บอร์ดสตาร์ทอัพ-ร่างกฎหมายฯ

ในส่วนของสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฯ จะครอบคลุมในหลายประเด็นสำคัญ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและอื่นๆ ต่อวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ โดยเสนอให้มีการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนหุ้นวิสาหกิจเริ่มต้น เป็นระยะเวลา 5-10 ปี เพื่อจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนกับสตาร์ทอัพในประเทศไทยมากขึ้น 

รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การขอมาตรฐานต่างๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับกฤษฎีกาในการร่างพระราชบัญญัติวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ และจะเร่งนำเข้าสู่รัฐสภาให้พิจารณา

นอกจากนี้ยังระบุถึงการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมหรือ Regulatory Sandbox เพื่อเข้ามาดูแลสตาร์ทอัพที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ให้สามารถมาเข้าร่วมโครงการทดสอบก่อนได้รับการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย หรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมต่อไป

โอกาสเกิดยูนิคอร์นไทย

ขณะนี้ประเทศไทยมียูนิคอร์นเกิดขึ้นแล้ว 3 ราย และจะเห็นเพิ่มขึ้นในปีหน้า โดยจะต้องมี 3 ปัจจัยหลักสนับสนุนคือ การลงทุนจากคอร์ปอเรทของไทย ที่มีทั้งสถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ ที่เริ่มเปิดตัวการลงทุนในสตาร์ทอัพที่เติบโตได้ในระดับหนึ่ง, การลงทุนของ VC กองเงินต่างประเทศแต่เม็ดเงินลงทุนจะไม่มากเพราะส่วนใหญ่โฟกัสไปที่สิงคโปร์ และปัจจัยสุดท้าย การที่สตาร์ทอัพมีทรัพย์สินทางปัญญาหรือมีโนว์ฮาวของตัวเอง

ทั้งนี้ ศักยภาพของประเทศไทยมีครบทั้งสามปัจจัยนี้ ฉะนั้น ในปีหน้าจะได้เห็นการทยอยเปิดตัวยูนิคอร์นตัวที่ 4 และ 5 จะเป็นการพลิกโฉมการลงทุนและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยูนิคอร์นไทย