"17 องค์กรไทย" ผนึกความร่วมมือดัน "อุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์"

"17 องค์กรไทย" ผนึกความร่วมมือดัน "อุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์"

สอวช. ร่วมกับ 16 หน่วยงานลงนาม MOU เปิดตัวเครือข่ายความร่วมมือ ผลักดันด้าน "เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์" ในประเทศไทย ใต้การเปิดตัว "SynBio Consortium" พร้อมจัดทำแผนที่นำทาง มุ่งเป้าปั้นบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่

หนุนไทยสร้างเครือข่ายซินไบโอ

ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) เปิดเผยว่า สำหรับพันธกิจการจัดตั้งเครือข่าย Thailand Synthetic Biology Consortium ประกอบด้วย 1.เพื่อจัดตั้งเป็น Thailand Synthetic Biology Consortium เพื่อพัฒนาความร่วมมือทั้งในด้านงานวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 

2. เพื่อสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และการเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาและใช้เทคโนโลยี Synthetic Biology ในระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย 3.เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อน บีซีจี โมเดล ผ่านเครือข่าย Thailand Synthetic Biology Consortium 4.เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและกำหนดทิศทางร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Synthetic Biology 5.เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยในสาขาเทคโนโลยี Synthetic Biology ทั้งภายในและระหว่างประเทศเพื่อต่อยอดและสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้แพร่หลายต่อไป

ส่วนแผนที่นำทางที่จัดทำขึ้นเพื่อเป้าหมายร่วมในการพัฒนาขับเคลื่อน SynBio รวมถึงนวัตกรรม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแผนนี้มีผู้ร่วมให้ความเห็นทั้งในกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ บริษัทขนาดใหญ่ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย โดยพบว่าสำหรับประเทศไทย SynBio ยังมีโอกาสในการพัฒนาไปได้อีกมาก ส่วนสำคัญคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี ที่เป็นวาระสำคัญของไทย

แผนที่นำทางสู่ความร่วมมือ

ในส่วนของแผนที่นำทางทำขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกัน และมองเป้าหมายไปถึงปี 2030 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ในช่วงแรก (1-3 ปี) คือการสร้างขีดความสามารถ การมีแพลตฟอร์มความร่วมมือ รวมถึงพยายามแสดงให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ ในระยะกลาง (3-5 ปี) มองถึงการยกระดับโอกาสในการผลิตและมาตรฐานการผลิต ส่วนในระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) คาดหวังว่าจะสร้างดีพเทคสตาร์ทอัพ หรือ องค์กรด้านดีพเทคขึ้น เพื่อในอนาคตจะเป็นฐานสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่

“หลักหมุดหมายสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้นในระยะ 10 ปีนี้ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.การจัดตั้ง SynBio Academy ใช้จุดแข็งของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย อาทิ การทำหลักสูตร ,Training Course นำความรู้จากหลายศาสตร์มาทำงานร่วมกันและการเชื่อมโยงต่างประเทศ ที่สำคัญต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง SynBio สร้างการมีส่วนร่วมให้คนเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลในการสร้างความต้องการ และโอกาสทางการตลาดด้วย 2. Investment & Strategic Funding มองถึงการให้การสนับสนุนในการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ ที่เตรียมจะหารือกับ BOI ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 3. R&D Infrastructure เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หาโอกาสที่จะมี National Biofoundry ที่อาจไปเชื่อมโยงกับ Global Biofoundries Alliance รวมถึงการส่งเสริม Contract Development and Manufacturing Organization หรือ CDMO เป็นตัวกลางในเชื่อมโยงโจทย์ความต้องการจากการวิจัยไปสู่การผลิต และ 4. เรื่องระบบนิเวศ กฎหมาย กฎระเบียบ เกี่ยวกับ Biosafety/Biosecurity รวมถึงเรื่องสิทธิบัตร และการส่งเสริมให้เกิดการทำนวัตกรรมต่างๆ” กาญจนา กล่าว

'บางจาก' ขานรับชีววิทยาสังเคราะห์

ด้าน นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความยินดีกับการแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่จะขยายความร่วมมือ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศ ซึ่งประเทศไทย

พร้อมมองว่าการผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ สะท้อนถึงย่างก้าวสำคัญของประเทศไทยที่มีการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาศาสตร์สังเคราะห์

ทั้งยังได้กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีชีววิทยาศาสตร์สังเคราห์จะเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนโลกอีกอย่างหนึ่ง โดยที่สามารถตอบโจทย์ทั้งบีซีจีโมเดลซึ่งเป็นนโยบายของทางภาครัฐ หรือเรื่องของคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพและการรักษา อาหาร เครื่องสำอาง และสุดท้ายคือเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ โดยเราสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ในการย่นระยะเวลาการผลิตและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นแรงสำคัญในการผลักดันจนถึงจุดมุ่งหมายได้

“ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน มีความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบการเกษตร จึงมีความพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์จะสามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้ทั้งระบบ รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน”