‘ไอบีเอ็ม’ เปิดมุมมองอนาคต โลกจะไว้ใจ ‘เอไอ’ ได้อย่างไร

‘ไอบีเอ็ม’ เปิดมุมมองอนาคต โลกจะไว้ใจ ‘เอไอ’ ได้อย่างไร

ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ วันนี้ “เอไอ” เข้ามาเปลี่ยนโลกแล้วในหลายมิติ “ไอบีเอ็ม” มองว่า อีกหนึ่งปีข้างหน้า องค์กรธุรกิจทั่วโลก จะวางแผนลงทุน เอไอ ทุกมิติ หากสิ่งที่ตามมาคือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของ “เอไอ” ธุรกิจจะไว้ใจ “เอไอ” ได้อย่างไร

ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ วันนี้ “เอไอ” เข้ามาเปลี่ยนโลกแล้วหลายมิติ ในไร่นาหลายแหล่งทั่วโลก “เอไอ” กลายเป็นตัวช่วยให้ชาวไร่ตัดสินใจได้ว่า จะปลูกพืชชนิดไหน หรือรดน้ำใส่ปุ๋ยเมื่อไหร่ ในทางการแพทย์ “เอไอ” กำลังช่วยให้แพทย์ และนักวิจัยทำความเข้าใจโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ซับซ้อนได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในธุรกิจค้าปลีก หลายองค์กรเริ่มนำ “เอไอ” เข้ามาช่วยบริหารจัดการสต็อกสินค้าและระบบซัพพลายเชน 

ผลสำรวจชี้ให้เห็นเทรนด์ลงทุนด้าน “เอไอ” ที่น่าสนใจ โดยการนำเอไอ มาใช้ด้านความปลอดภัยของข้อมูล (31%) คือ เป้าลงทุนอันดับหนึ่งขององค์กร ขณะที่การออโตเมทงาน และกระบวนการ (25%) รวมถึงการนำเอไอมาใช้สร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าผ่านงานดูแลลูกค้า (25%) และผู้ช่วยเวอร์ชวล (20%) คือ งานในอันดับต้นๆ ที่องค์กรเตรียมลงทุน

ในหนึ่งปีข้างหน้า องค์กรวางแผนลงทุน เอไอ ในทุกมิติ ตั้งแต่การเพิ่มทักษะบุคลากร การจัดซื้อเครื่องมือ ไปจนถึงการนำ เอไอ มาใช้กับกระบวนการทางธุรกิจ แต่สิ่งที่ตามมาอย่างต่อเนื่องไม่แพ้กันก็คือ การตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีเอไอ
 

จะเชื่อถือเทคโนโลยีเอไอได้แค่ไหน

เราเริ่มเห็นการตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า เอไอจะเข้ามาทำงานแทนที่คนหรือไม่ เนื้อหาที่ออกมาจากระบบเอไอขัดต่อกฎหมายหรือเชื่อถือได้แค่ไหน เอไอ กำลังนำสู่ความไม่เท่าเทียมในวงกว้างหรือไม่ และอื่นๆ อีกมากมาย หลายบริษัทเองก็เลือกที่จะชะลอการใช้เอไอ เพราะไม่มั่นใจว่าเชื่อถือเทคโนโลยีนี้ได้แค่ไหน

“สุรฤทธิ์ วูวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า “วันนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าองค์กรที่จะนำเอไอมาใช้ ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการผลักดันให้เกิดความน่าเชื่อถือในตัวเทคโนโลยีเอไอด้วย”

เช่น หลายต่อหลายครั้ง ความกังวลที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐลุกขึ้นมาวางมาตรการ และให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง ไม่นานมานี้ สหภาพยุโรปได้ประกาศกฎข้อบังคับเกี่ยวกับเอไอที่มีความยาวถึง 108 หน้า เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาทางสังคมที่มีสาเหตุมาจากการใช้เทคโนโลยีเอไอ รวมถึงกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงแก่องค์กรที่ไม่ปฏิบัติตาม และเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่มีการกำหนดหลักกฎหมายให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค (GDPR) ขึ้น กฎข้อบังคับที่มีผลบังคับใช้ในยุโรปย่อมส่งผลต่อประเทศอื่นๆ และกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

สุรฤทธิ์ เล่าว่า “วันนี้หลายประเทศเริ่มวางกลยุทธ์และนโยบายด้านเอไอแล้ว ที่ผ่านมาไอบีเอ็มมีส่วนเข้าไปร่วมให้มุมมองเรื่องดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐทั่วโลก ตั้งประเด็นคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอ และ call to action ที่ชัดเจนอย่างยิ่งในวันนี้คือ หลักการด้านจริยธรรมต้องถูกบรรจุอยู่ในกลไกทำงานหลักของเทคโนโลยีด้านข้อมูลและเอไอ พร้อมอีโคซิสเต็มที่เปิดกว้างเพื่อให้มั่นใจว่าเอไอจะสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง”

ความน่าเชื่อถือ-จริยธรรมของเอไอ

ไอบีเอ็ม เผยแพร่หลักการเรื่องความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของเอไอ ประกอบด้วยหลัก 3 ประการคือ วัตถุประสงค์เอไอ คือ ช่วยเสริมความเชี่ยวชาญ ดุลพินิจ และการตัดสินใจของคน ไม่ใช่แทนที่คน ข้อมูลและมุมมองเชิงลึกที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นของผู้สร้างข้อมูลเหล่านั้น ไม่ใช่ผู้ให้บริการไอที เทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างเอไอต้องโปร่งใส อธิบายได้ และปราศจากอคติที่เป็นภัยและไม่เหมาะสม 

สุรฤทธิ์ เสริมว่า “ภายในบริษัทเอง ไอบีเอ็มได้ปรับใช้หลักการด้านจริยธรรมและความโปร่งใสนี้ในการดำเนินงานทั่วโลก ผ่าน

AI Ethics Board ที่ตั้งขึ้น โดย Ethics Board จะทำหน้าที่สร้างการมีส่วนร่วม เผยแพร่แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ สร้างคอร์สเรียนเพื่อให้ความรู้ และสร้างความตระหนักให้พนักงาน รวมถึงมีส่วนในการทำงานกับกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทั่วโลก”

วันนี้ 5 สิ่งที่กำกับเทคโนโลยีด้านข้อมูลและเอไอของไอบีเอ็ม รวมถึงการทำตลาดเอไอทั่วโลกคือ ความสามารถอธิบายที่มาที่ไปของการตัดสินใจของเอไอได้ เทคโนโลยีที่เป็นธรรมเท่าเทียม เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่โปร่งใส และการเคารพความเป็นส่วนตัว 

ไอบีเอ็ม ยกตัวอย่างการนำมาตรฐาน และเครื่องมือด้านความน่าเชื่อถือของเอไอมาใช้บ้างแล้ว เช่น ด้านการสรรหาบุคลากร ที่หลายครั้งเกิดการตั้งคำถามว่า เราจะไว้ใจระบบสรรหาบุคลากรที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ที่สมัครงานได้มากแค่ไหน ล่าสุด ธุรกิจค้าปลีกแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกานำ IBM Cloud Pak for Data เข้ามาบริหารจัดการความถูกต้องและเป็นธรรมของโมเดลเอไอที่ใช้ช่วยให้ปัจจุบัน บริษัทแห่งนี้มอนิเตอร์การเกิดอคติในกระบวนการสรรหาบุคลากรได้ล่วงหน้า และทราบว่า เมื่อไหร่ควรเริ่มจัดการปัญหาเหล่านี้

ในมุมสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งหนึ่งได้เริ่มนำเทคโนโลยีเข้าตรวจอคติที่เกิดขึ้นในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ การฝึกสอนเอไอด้วยข้อมูลสินเชื่อย้อนหลัง 50 ปี ทำให้ธนาคารพบว่าผู้ชายมักได้รับอนุมัติสินเชื่อมากกว่าผู้หญิง แม้ว่าจะมีคุณสมบัติและบริบทเหมือนกันทุกประการ ธนาคารได้นำ Watson OpenScale เข้ามาช่วยตรวจจับและลดอคติ และปัจจุบันกำลังใช้ OpenScale ในการระบุว่าปัจจัยใดมีส่วนต่อการตัดสินใจอนุมัติหรือปฏิเสธสินเชื่อ 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับกลุ่มองค์กรชั้นนำในสิงคโปร์ในการออกแบบและนำร่องพัฒนาระบบเรตติ้ง ซึ่งจะช่วงให้บริษัทต่างๆ สามารถประเมินธรรมาภิบาลข้อมูล รวมถึงนโยบายและกระบวนการ การควบคุมต่างๆ ได้ โดยเรตติ้งดังกล่าวได้รับการสร้างขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลและเอไอให้กับองค์กรธุรกิจ

สุรฤทธิ์ ทิ้งท้ายว่า “วันนี้ประโยชน์ของการนำเอไอมาใช้กำลังทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยหนุนมาจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมหาศาล และเทคโนโลยีก้าวล้ำอันทรงพลัง และในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ การสร้างเอไอที่น่าเชื่อถือจึงไม่ใช่เรื่องขององค์กรใดองค์กรหนึ่งอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องของทุกองค์กร และสังคมในวงกว้าง”

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์