“อี๊ตแล็บ” คู่คิดธุรกิจร้านอาหาร วางแผนการตลาด​ด้วยเอไอ

“อี๊ตแล็บ” คู่คิดธุรกิจร้านอาหาร วางแผนการตลาด​ด้วยเอไอ

EATLAB สตาร์ทอัพสายฟู้ดดีพเทคที่บ่มเพาะมาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในด้านอาหาร โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้าและบล็อกเชนมาใช้ นำเสนอแผนทางการตลาด โปรโมชันและสร้างกำไรได้อย่างหลากหลาย

เมื่อข้อมูลคือการเข้าใจลูกค้า

ผศ.ชนิกานต์ ว่องวิริยะวงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอจาก EATLAB ดีกรีปริญญาเอกด้านเอไอ จาก MIT ผู้ต้องการเปลี่ยนเทคโนโลยีให้กลายเป็นพลังที่ดี โดยอัลกอริทึมเอไอของเธอมุ่งเน้นไปที่การจับภาพความสุขและเปลี่ยนให้เป็นข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจ พร้อมกับก่อตั้ง “อี๊ตแล็บ” ขึ้นในปี 2561 โดยมีภารกิจที่จะทำให้ทุกองค์กรมีกำไร และต่อมาก็เป็นอาจารย์ที่ มจธ.

สำหรับการเดินทาง เริ่มต้นด้วยการใช้เอไอกับการศึกษาเพื่อตรวจสอบการมีส่วนร่วมและความสุขของนักเรียน เธอเริ่มใช้เครื่องมือต่างๆ ในการจัดการวีดิโอข้อความและข้อมูลตัวเลข เมื่อพบว่านักเรียนของเธอหลายคนไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนของพวกเขาได้ เธอเริ่มมองลึกลงไปว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จนพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำอาชีพขายอาหารบนถนนหรือเปิดร้านอาหารขนาดเล็ก และพวกเขาต้องช่วยพ่อแม่ในการขายอาหาร เธอจึงเริ่มจัดระบบเครื่องมือและกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“อี๊ตแล็บ” ถือเป็น Virtual Data Scientist ที่ดึงความสามารถของเอไอมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล และคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของธุรกิจอาหาร เพื่อต่อยอดเป็นบริการฐานข้อมูลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งออกเมนูช่วงไหน ควรจัดโปรโมชันแบบใด ที่ทำให้วอลุ่มเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องกังวลกับข้อมูลพร้อมกับดูแลร้านให้ตลอด 24 ชั่วโมง

บริษัทฯ ทำการศึกษาข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียด ปรากฏว่าสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำกว่า 90% และล่วงหน้าได้ถึง 1 ปี จึงนำเอาความสามารถตรงนี้มาพัฒนาและปรับเป็นโมเดลธุรกิจ ช่วยผู้ประกอบการวิเคราะห์และคาดการณ์ทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมช่วยวางแผนการวางจำหน่ายสินค้า หรือการจัดโปรโมชันต่างๆ แม้กระทั่งช่วยให้ฝ่ายการตลาดของบริษัทลูกค้าสร้างสรรค์กลยุทธ์ เพื่อแข่งขันในตลาดอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับข้อมูล นอกจากนั้นยังช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย”

โฟกัสปัญหาลูกค้า

ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดให้บริการมาปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ประมาณ 85 ราย เนื่องจากเพิ่งเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาแต่กำลังระดมทุนเพื่อขยายตลาด เพราะคิดว่าบริษัทฯ มี product market fit คือช่วงที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดีมากๆ ต่อผู้ใช้ อยู่ในตลาดที่ใหญ่มากพอ และมี lifetime value มากกว่า customer acquisition cost ซึ่งอัตราการสูญเสียของร้านค้าที่ใช้อี๊ตแล็บ มีเพียง 2% กล่าวคือ ร้านที่มีอี๊ตแล็บ 98% อยู่รอดในช่วงโควิด

ขณะเดียวกันกลางเดือน พ.ย. จะเป็นการระดมทุนบนแพลตฟอร์มของสินวัฒนา เพื่อทำให้เทคโนโลยีของบริษัทฯ ไปถึงผู้คนในมุมกว้างมากขึ้น ส่วนภาพรวมการแข่งขันในตลาดตอนนี้ยังไม่มีคู่แข่งทางตรง หากมีจะเป็นในตลาดต่างประเทศ อาทิ Tenzo ในอังกฤษ หรือ Optimove ในสหรัฐ

ความท้าทายในมุมของนักวิจัยที่สปินออฟออกมาทำธุรกิจ เธอมองว่า ทุกวันนี้ยังไม่สามารถเรียกว่า “ประสบความสำเร็จ” ได้เต็มคำเพราะเป้าหมายยังห่างไกล แต่ขณะนี้มีความสุขที่ได้ทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งดีขึ้น ในฐานะนักวิจัยมองว่าไม่ได้ต่างอะไรกับการทำงานวิจัย เพราะคือการแก้ปัญหาให้ผู้คน รวมทั้งแก้ปัญหา market size ส่วนภาพรวมธุรกิจ food services ร้านอาหารมูลค่าอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท แต่คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น จากจำนวนร้านอาหารใน 2 ปีที่ผ่านมา ร้านอาหารเติบโตกว่า 2 เท่า หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด จากก่อนหน้านี้ที่เติบโตเพียง 10-15% เท่านั้น

มากกว่า SaaS แต่คือโซลูชั่น

“จากวิกฤติที่เกิดขึ้นบรรดาร้านอาหารต่างทยอยปิดตัวลง บริษัทฯได้ผ่านวิกฤติมาได้และในช่วงนี้ช่วยร้านอาหาร โดยเปลี่ยนให้เป็น Value กับคนหมู่มาก เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยีมีพลังที่จะมอบอำนาจให้กับคนได้ คือ สามารถที่จะให้พวกเขารู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตได้ด้วยเครื่องมือที่ตอบโจทย์ ซึ่งการนำข้อมูลมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจของผู้ประกอบการเป็นคีย์หลักในการทำให้ธุรกิจอยู่รอด จึงต้องโฟกัสการนำออโตเมชั่นมาใช้ทำให้สามารถลีนได้”

ส่วนแนวคิดสำหรับเส้นทางสตาร์ทอัพนั้น เธอมองว่า สตาร์ทอัพจะต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตที่พยายามจะดิสรัปตัวเอง แต่ไม่ค่อยเป็นเชิงบวกกับผลลัพธ์มากเท่าไรนัก ซึ่งเวลาที่ไม่มีข้อจำกัดยากที่จะหาไอเดียและตลาดใหม่ๆ ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้ คือ การทำให้โซลูชั่นมีศักยภาพพร้อมกับเข้ามาดิสรัปข้อจำกัดแบบเดิมๆ

“เราได้รับการสนับสนุนจาก AWS ในส่วนของเครดิตในโปรแกรม AWS Activate ในตอนที่เริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ทำให้เราไม่มีแรงกดดันในเรื่องของค่าใช้จ่าย และการทดลองที่อาจจะยังมีความไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือไม่ รวมถึงการที่ทีม AWS มาช่วยเหลือในเรื่องการเตรียมการสัมภาษณ์ และการขายงาน การเจรจาต่าง ๆ เกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดในระยะแรก ในฐานะที่เราวางตัวว่าเราเป็น SaaS ให้กับร้านอาหาร แต่เวลามองจริง ๆ เราเป็นโซลูชันที่แก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมร้านอาหารทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งพอเราวางตำแหน่งไว้เช่นนั้น ทำให้ขนาดตลาดเปลี่ยนไป มุมมองในการสร้างธุรกิจของเราก็เปลี่ยนไปด้วย”