5 องค์กร หนุนตั้ง “สมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย” หวังปั้นแพลตฯเอไอกลาง

5 องค์กร หนุนตั้ง “สมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย” หวังปั้นแพลตฯเอไอกลาง

5 องค์กร ตั้ง “สมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย” สร้างแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์กลางของไทย ยกระดับประเทศสู่อุตสาหกรรมใหม่ “เอนก” ลั่น ภายใน 10 ปี อว. จะเป็นองค์กรสำคัญขับเคลื่อนไทยไปสู่จุดสูงสุดในระดับสากล สอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติพาไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

5 องค์กร หนุนตั้ง “สมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย” หวังปั้นแพลตฯเอไอกลาง

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานร่วมกับนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดโครงการ Super AI Engineer Saeson 2 พิธีลงนามสมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AI Thailand Consortium) และพิธีมอบเหรียญรางวัลผู้มีความสามารถดีเด่นโครงการ Super AI Engineer Season 1 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด อว. 

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ว่า ในทุกปี ประเทศไทยมีนโยบายเศรษฐกิจและแผนกลยุทธ์ของชาติที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากของบุคลากร และองค์กรภายใน มีการเตรียมพร้อมที่จะขับเคลื่อนประเทศให้สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจภายในกับเศรษฐกิจโลก ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงาน

ซึ่งความเข้มแข็งภายในนี้ จะต้องสร้างขึ้นจากการยกระดับนวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งถือเป็นศาสตร์ทางดิจิทัลที่สำคัญ ที่หลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างให้ความสำคัญและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

 

 

ที่วันนี้ได้เกิดการรวมตัวกันของทุกภาคส่วนในการจัดตั้งสมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยหรือ AI Thailand Consortium ที่ประกอบไปด้วย 5 องค์กร ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. ในฐานะองค์กรภาครัฐ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะองค์กรภาคการวิจัย สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศไทย (CITT) ในฐานะองค์กรภาคการศึกษา สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ในฐานะองค์กรภาคเอกชน และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสร้างและบริหารจัดการทรัพยากรด้านปัญญาประดิษฐ์ร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการจัดทำแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์กลางของประเทศไทย (AI Thailand Platform) การสร้างทรัพยากรให้กับประเทศเพื่อใช้งานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยในอนาคต 

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ฯ ได้สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม อาทิ โครงการปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน หรือ AI for All ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรในทุกระดับชั้นให้มีความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือโครงการสุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากหลากหลายวงการ หลากหลายวัย โดยในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนถึง 5,400 คน มากกว่าปีที่แล้วถึง 2.5 เท่า ถือได้ว่าเป็นการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาผู้มีความสามารถ และนำไปสู่การสร้างชุมชนนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง 

 

 

“สิ่งที่สมาพันธ์ฯ ได้ก่อร่างสร้างขึ้นจะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหันมาสนใจด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ประเทศไทยต้องฝากความหวังไว้ที่สมาพันธ์ฯ อย่างมากในการขับเคลื่อนและพัฒนาบุคลากรไทยในทุกระดับชั้นเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ให้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน ศึกษาต่อยอดสู่สายการผลิต ตนเชื่อในศักยภาพของคนไทยว่าสามารถทำได้ทุกอย่าง ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือศาสตร์อื่นๆ จะเห็นได้ว่ามีคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญและเก่งในหลายๆ ด้านเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หวังว่าสมาพันธ์ฯ จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ สู่สังคมในวงกว้าง เกิดการพัฒนาจนคนไทยสามารถต่อยอดสายการผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิตได้ โดยรัฐบาลนี้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580 หรือในอีก 16 ปีข้างหน้า และในส่วนของ อว. จะขอเป็นแนวร่วมและกลไกหลักในการพัฒนาบุคลากรของประเทศไทย ตนมั่นใจว่าภายใน 10 ปี อว. จะเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่จุดสูงสุดในระดับสากล และยกระดับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของไทยให้ทัดเทียมกับต่างชาติให้ได้" เอนก  กล่าวทิ้งท้าย