ไอบีเอ็ม ชี้ ‘วิกฤติโลกร้อน’ เรื่องใหญ่ ปลุกธุรกิจดัน ‘เทคโนฯ-เอไอ’ รับมือ

ไอบีเอ็ม ชี้ ‘วิกฤติโลกร้อน’ เรื่องใหญ่ ปลุกธุรกิจดัน ‘เทคโนฯ-เอไอ’ รับมือ

"ไอบีเอ็ม" มองวิกฤติสภาพอากาศ โลกร้อน อากาศเปลี่ยน เรื่องใหญ่!! ถึงเวลาแล้วที่องค์กรธุรกิจไทย ต้องนำประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม เข้ามาอยู่ใน agenda ของธุรกิจอย่างจริงจัง หนุนดึงเทคโนโลยี เอไอ ช่วยรับมือ

ไอบีเอ็ม ชี้ ‘วิกฤติโลกร้อน’ เรื่องใหญ่ ปลุกธุรกิจดัน ‘เทคโนฯ-เอไอ’ รับมือ

เหตุน้ำท่วมใหญ่ ไฟป่า ภัยแล้ง คลื่นความร้อนเป็นประวัติการณ์ หรือแม้แต่การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก รวมถึงข้อมูลล่าสุดจากรายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติที่ว่าโลกจะมีอุณหภูมิสูงเกินเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส ในปี 2030 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์เมื่อ 3 ปีที่แล้วถึง 10 ปี เหล่านี้ล้วนกำลังย้ำเตือนเราว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในวันนี้

“ปฐมา จันทรักษ์” รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เปิดมุมมองเรื่องนี้กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วันนี้เรื่องของธุรกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ที่ผ่านมาเห็นข่าวคราวอยู่เป็นระยะถึงการที่หลายบริษัทต้องเผชิญการหยุดชะงักของระบบซัพพลายเชน และการดำเนินงาน รวมถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินอันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ

รายงาน “Global Risks Report 2021” โดย World Economic Forum ระบุว่า สภาพอากาศอันรุนแรง ความล้มเหลวการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ คือ ความเสี่ยงสูงสุดสามอันดับแรกของธุรกิจทั่วโลกในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ 
 

เมื่อธุรกิจ ชีวิต สวล.เชื่อมโยงลึกซึ้ง

ปฐมา เล่าว่า ที่ผ่านมา เริ่มเห็นองค์กรธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน ธุรกิจประกัน หรือแม้แต่อุตสาหกรรมค้าปลีก ตื่นตัวกับการนำประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ Environmental, Social, Governance หรือ ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดกลยุทธ์องค์กร รวมถึงปรับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพราะไม่เพียงบริษัทต่างๆ ต้องรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง ที่อาจมีต่อการดำเนินงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่ยังต้องสามารถอธิบายต่อผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น และหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ว่า การดำเนินงานของตนส่งผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ผลการศึกษาผู้บริโภคกว่า 14,000 คนใน 9 ประเทศ โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ยกระดับให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนในกลุ่มผู้บริโภค โดยสองในสามของกลุ่มคนวัยทำงาน (พนักงานบริษัท คนที่กำลังหางาน และนักศึกษาฝึกงาน) มีแนวโน้มเลือกทำงานกับองค์กรที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ขณะที่ เกือบครึ่งยอมได้เงินเดือนน้อยลง เพื่อแลกกับการทำงานในองค์กรเหล่านี้ ส่วน 55% ของผู้บริโภคที่สำรวจยังระบุว่า ประเด็นด้านความยั่งยืนคือปัจจัยที่สำคัญมากถึงมากที่สุดสำหรับพวกเขาในการตัดสินใจเลือกแบรนด์ ผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเอง เพื่อแลกกับอนาคตที่ยั่งยืน หรือเลือกวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า แม้ว่าจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
 

ไอบีเอ็ม ชี้ ‘วิกฤติโลกร้อน’ เรื่องใหญ่ ปลุกธุรกิจดัน ‘เทคโนฯ-เอไอ’ รับมือ

ปฐมา เสริมว่า ในอีกทาง 48% ของนักลงทุนรายย่อยที่สำรวจระบุว่า ได้เริ่มจัดการพอร์ตโฟลิโอการลงทุน โดยคำนึงถึงปัจจัยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และ 59% ยังคาดว่า ภายในปีหน้าจะเริ่มซื้อขายหลักทรัพย์ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับ ESG จะแตะมูลค่า53 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสามของสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการทั่วโลก

วิทย์-เทคโนกุญแจสำคัญรับมือ

ที่ผ่านมาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยรับมือวิกฤติต่างๆ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งการเร่งสปีดค้นพบวิธีการใหม่ๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาแนวทางดักจับคาร์บอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาแบตเตอรี่ที่ปราศจากโคบอลต์ และนิกเกิล ที่ชาร์จพลังงานได้รวดเร็วกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบทั่วไปแถมใช้งานได้นานกว่าและราคาถูกกว่า 

ปฐมา กล่าวว่า ไอบีเอ็มได้ประกาศลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี 2573 และล่าสุดได้พัฒนาเครื่องมือ Environmental Intelligence เพื่อช่วยองค์กรบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ มอนิเตอร์สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น สภาพอากาศที่รุนแรง ไฟป่า น้ำท่วม และคุณภาพอากาศ พร้อมแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบ การคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ การให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการหยุดชะงักของการดำเนินงาน ที่อาจเกิดขึ้น 

พร้อมจัดลำดับความสำคัญเรื่องที่ต้องตอบสนอง รวมถึงวัดผลและจัดทำรายงานเกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม และบัญชีคาร์บอน พร้อมแนวปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยก๊าซในระหว่างการดำเนินงานและการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ต่างๆ

“วันนี้ ธุรกิจต้องการมุมมองเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ แต่วิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีความยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากเป็นการทำงานแบบแมนวลที่ใช้คนจำนวนมาก ใช้เวลาเยอะ ต้องอาศัยคนที่มีทักษะด้านสภาพอากาศและวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมถึงต้องใช้พลังประมวลผลระดับสูง”

ทั้งนี้ ไอบีเอ็ม เชื่อว่า การช่วยแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ต้องอาศัยหลากหลายเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ทั้งข้อมูลสภาพอากาศจาก The Weather Company ผู้ให้บริการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำที่สุดในภาพรวม ร่วมกับข้อมูลการวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศขั้นสูง และนวัตกรรมใหม่จากศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม 

"นับเป็นครั้งแรกของการผสานศักยภาพของเอไอ ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเชิงลึก และความสามารถในการจัดทำบัญชีคาร์บอน เข้าด้วยกัน ช่วยให้องค์กรใช้ทรัพยากรในการบริหารจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนเหล่านี้น้อยลง สามารถจัดการความท้าทายด้านการดำเนินงานได้ทันท่วงที วางแผนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในยามที่ต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศรวมทั้งวางแผนและกลยุทธ์ในระยะยาวเพื่อรับมือ” ปฐมา อธิบาย

รับมือวิกฤติสภาพอากาศผ่านเลนส์อุตสาหกรรม

วันนี้หลายบริษัททั่วโลก เริ่มนำเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศ และเอไอ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักใน IBM Environmental Intelligence Suite เข้ามาช่วยในงานปฏิบัติการแล้ว เช่น สวทช. ที่ผนึกเทคโนโลยี เอไอ ร่วมด้วยข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำ ข้อมูลดาวเทียม และภูมิสารสนเทศ ข้อมูลความสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ รวมถึงข้อมูลเกษตร เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของอ้อย ความชื้นของดิน ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากโรคและศัตรูพืช การคาดการณ์ผลผลิตและดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย 

เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำยังช่วยให้ผู้ค้าปลีกรับมือการขนส่งสินค้าในจุดที่มีสภาพอากาศรุนแรง และประสบปัญหาเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ก็สามารถเห็นภาพมากขึ้นว่าระบบทำความเย็นกำลังมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาพรวมอย่างไร

ส่วนบริษัทด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เครื่องมือนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถคาดการณ์ตำแหน่งที่จะเกิดไฟป่า และทราบว่าอุปกรณ์สำคัญชิ้นใดที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ หรือกำหนดได้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าควรตัดแต่งต้นไม้ที่อยู่บริเวณรอบสายไฟในจุดไหน

ขณะที่ มุมมองความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเชิงลึก จะช่วยให้สถาบันการเงินให้คำแนะนำการลงทุนได้ตามความเสี่ยงของโซนหรือภูมิภาค นั้นๆ หรือเข้าใจการจัดทำรายงาน ESG ในฐานะส่วนหนึ่งของงบการเงิน และทราบว่าปัจจัยใดที่จะส่งผลต่อการจัดระดับ ESG ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

มุมขนส่ง เทคโนโลยีจะช่วยให้ธุรกิจรู้ข้อมูลการใช้พลังงานของรถแต่ละคัน และใช้ API ทำบัญชีคาร์บอน เพื่อคำนวณการปล่อยคาร์บอน รวมถึงผนวกข้อมูลยานพาหนะส่วนบุคคลเข้ามา เพื่อเห็นภาพทั้งระบบและ KPI ในมุมกว้างขึ้น ขณะที่สายการบินสามารถคาดการณ์อากาศแปรปรวนเพื่อปกป้องผู้โดยสารและพนักงานจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้

มุมผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค หรือวัตถุดิบการเกษตร มุมมองเชิงลึกย่อมนำสู่การคาดการณ์อุปทานตลาดที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศ คาดการณ์ผลผลิตเพื่อกำหนดแผนงานและโลจิสติกส์ได้แม่นยำขึ้น แม้แต่การมอนิเตอร์พืชผลจากระยะไกลเพื่อประมาณการด้านซัพพลายเชนอัตโนมัติ

ปฐมา ทิ้งท้ายว่า วันนี้ 40% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ทำให้การเพิ่มขึ้นระดับของน้ำทะเล กลายเป็นประเด็นสำคัญต่อทั้งการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง การรับมือและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องที่องค์กรจะเพิกเฉยหรือรับมือเพียงลำพังได้แล้ว

“ต้นปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มร่วมมือกับ Apple, Boeing, Cargill, Dow, PepsiCo, Verizon ฯลฯ ซึ่งเป็นสมาชิกเริ่มแรกของ MIT Climate and Sustainability Consortium (MCSC) เพื่อเร่งขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวงกว้าง ถึงเวลาแล้วที่องค์กรไทยต้องนำประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ใน agenda ของธุรกิจอย่างจริงจัง เพราะผลกระทบจากเรื่องนี้ ไม่เพียงผลต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่หมายถึงอนาคตของอุตสาหกรรม และอนาคตของพวกเราทุกคน”