สดร.เตือนภัย “พายุสุริยะ” แต่ไม่กระทบกับไทย และประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตร

สดร.เตือนภัย “พายุสุริยะ” แต่ไม่กระทบกับไทย และประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตร

สดร.เปิดเผยว่า องค์กรบรรยากาศและสมุทรศาสตร์แห่งสหรัฐฯ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) เตือนภัย “พายุสุริยะ” ที่อาจจะส่งผลต่อระบบไฟฟ้าในละติจูดสูง แต่ผู้อาศัยในประเทศไทยนั้นไม่ต้องเป็นห่วง

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ  NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า NOAA ได้ตรวจพบ “เปลวสุริยะ” (solar flare) ที่กำลังพุ่งตรงมายังโลก และจะปะทะเข้ากับโลกตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม ไปจนถึงวันที่ 12 ตุลาคม

"เปลวสุริยะ" นี้ เกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่บนดวงอาทิตย์ มักสอดคล้องกับจุดดับและการปลดปล่อยมวลโคโรนา (Coronal Mass Ejection - CME) โดยอนุภาคมีประจุบนดวงอาทิตย์จะถูกปลดปล่อยออกมา พุ่งข้ามอวกาศ และหากอนุภาคเหล่านี้ปะทะเข้ากับโลก จะส่งผลต่อการรบกวนสนามแม่เหล็กของโลก เกิดเป็นพายุสุริยะ (geomagnetic storm) ได้
 

ผลกระทบของพายุสุริยะเหล่านี้ จะรบกวนสนามแม่เหล็กของโลก อาจส่งผลต่อระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนโลก ซึ่งหากมีความรุนแรงอาจทำให้เกิดไฟฟ้าดับ หรือเกิดความแปรปรวนในการจ่ายไฟฟ้าได้

นอกจากนี้ หากสนามแม่เหล็กโลกที่เดิมคอยเบี่ยงทิศทางของอนุภาคมีประจุออกไปถูกรบกวน ก็อาจทำให้อนุภาคปะทะเข้ากับชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกได้ แต่เนื่องจากการชนเข้ากับชั้นบรรยากาศนี้เกิดในระดับความสูงที่สูงจากพื้นโลกเป็นอย่างมาก จึงไม่มีอันตรายต่อผู้อาศัยบนพื้นโลก แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้เป็นปรากฏการณ์แสงเหนือ หรือออโรร่า

อย่างไรก็ตาม ทั้งการรบกวนระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าและปรากฏการณ์แสงเหนือนั้น มักเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ประเทศในบริเวณละติจูดสูงๆ เมื่อมีพายุสุริยะที่ระดับความรุนแรงเกิดขึ้น ก็อาจจะส่งผลไปยังผู้สังเกตที่อยู่ในละติจูดต่ำลงไปได้ เช่นเหตุการณ์ Carrington Event ที่ถูกบันทึกเอาไว้ในปีค.ศ. 1859 ที่แม้กระทั่งผู้สังเกตที่อยู่ใกล้แถบศูนย์สูตรก็สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์แสงเหนือได้ แต่พายุสุริยะที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อ่อนแรงกว่านั้นมาก ผู้อาศัยในแถบศูนย์สูตรรวมถึงประเทศไทยจึงไม่ต้องเป็นกังวลและไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

สำหรับผลกระทบในส่วนอื่น พายุสุริยะที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก ผู้บังคับดาวเทียมทั่วโลกอาจจะต้องปิดระบบบางส่วน จนกว่าพายุสุริยะจะผ่านพ้นไป พายุสุริยะที่รุนแรงจึงอาจจะส่งผลต่อการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมได้

 

 


เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง:news.sky.com