"อัลจีบา" เอไอนับลูกสัตว์น้ำ พลิกโฉมสู่ประมงอัจฉริยะ

"อัลจีบา" เอไอนับลูกสัตว์น้ำ พลิกโฉมสู่ประมงอัจฉริยะ

อัลจีบา (Algaeba) เครื่องนับลูกสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และคอมพิวเตอร์แม่นยำสูง (Computer Vision) นวัตกรรมยกระดับมาตรฐานการนับจำนวนสำหรับอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พัฒนาโดยสตาร์ทอัพด้านการเกษตร (AgTech Startup) สัญชาติไทย

โดย อัลจีบา (Algaeba) ได้รับการสนับสนุนจาก Venture Capital ต่างประเทศ และทุน Open Innovation จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) ทำให้ประสบความสำเร็จในการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกสู่เชิงพาณิชย์

 พลิกโฉมสู่เกษตรอัจฉริยะ

กันย์ กังวานสายชล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลจีบา จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ก่อตั้งบริษัทเมื่อ 4 ปีที่แล้วว่า เกิดจากความสนุกและความท้าทายในการทำงานประจำเริ่มถดถอย จึงออกมาความท้าทายใหม่ๆ ด้วยการสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นโดยเริ่มนับหนึ่งจากเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กสำหรับอนุบาลลูกสัตว์น้ำ เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกร

กระทั่งมองเห็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคือ การนับจำนวนลูกสัตว์น้ำ ทั้งสุ่มนับจำนวนก่อนบรรจุลงถุง หรือลงถังขาย สุ่มนับระหว่างผลิต สุ่มนับเพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสายพันธุ์ ล้วนต้องใช้แรงงานคน ใช้เวลานานแถมยังมีความผิดพลาดสูง ทำให้เกิดการสูญเสีย 20% คิดเป็นมูลค่า 60,000-120,000 บาทต่อเดือนต่อโรงเพาะฟัก รวมทั้งเครื่องนับจำนวนในตลาดมีราคาสูงและไม่สอดคล้องกับกระบวนการภายในของโรงเพาะฟัก

เขาจึงประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์ทางเทคโนโลยีพัฒนาเครื่องนับลูกสัตว์น้ำในชื่อ Seathru Counter เน้นให้ใช้งานง่าย ไม่ต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและตอบเพนพอยต์ของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด เพียงแค่นำลูกสัตว์น้ำใส่อุปกรณ์บรรจุแล้วนำไปเข้าเครื่อง จากนั้นรอผล 6-15 วินาทีจากเดิมที่ใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมง

จุดเด่นของเครื่องฯ อยู่ที่กล้องดิจิทัลความละเอียดสูง ภายใต้สภาวะควบคุมทำให้ได้ภาพที่คมชัด ควบคู่กับระบบปัญญาประดิษฐ์ ทำให้สามารถระบุจำนวนสัตว์น้ำรายตัวได้ และสุดท้ายมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวมสัตว์น้ำมากกว่า 15 ชนิด อาทิ ลูกกุ้งขาว ที่มีความแม่นยำสูงสุดถึง 97% อีกทั้ง ไข่ปลานิล ปลาทับทิม ปลากะพง ลูกปูม้า การันตีความแม่นยำโดยรวมสูงกว่า 95% รวดเร็วกว่าวิธีการแบบเดิมที่ใช้คน 30-300 เท่า พร้อมกับมีหลักฐานการนับ ทำให้ได้กำไรกลับคืน 20% และคืนทุนในระยะเวลา 2-6 เดือน

ก้าวสู่การเป็นมือหนึ่งของการนับ

ปัจจุบันบริษัทฯ มีลูกค้าที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมมากมาย โดยลูกค้า 95% เป็นเอกชนรายใหญ่ อาทิ ซีพีเอฟ ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะผลักดันให้สามารถทำตลาดลูกค้ารายกลางและรายย่อยได้มากขึ้น ทำให้ในปี 2564 อัลจีบาสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของตลาดเครื่องนับลูกสัตว์น้ำได้ ทั้งนี้ทางฝั่งของลูกค้าภาครัฐถือได้ว่ายังมีน้อยมาก ได้แก่ กรมประมง

จากการเข้าร่วมโครงการของสำนักงานนวัตกรรมฯ ได้พัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของโครงการ Agtech Connext คือ 1.ให้บริการเช่าที่สามารถทำได้ง่ายและคุ้มค่า 2.นำเครื่องนับลูกสัตว์น้ำไปต่อยอดในด้านอื่นๆ และสัตว์น้ำใหม่ๆ อาทิ ลูกพันธุ์ปลานิลชั้นนำของประเทศ ที่ทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานเร็วขึ้นถึง 60 เท่า และจากการเข้าร่วมโครงการทำให้ได้ดีลใหม่ 4 ดีล จำนวนโมเดลเพิ่ม 5 โมเดล และช่วยลดชั่วโมงการทำงานให้กับโรงเพาะเลี้ยงลงถึง 1 แสนชั่วโมง ทำให้โรงเพาะเลี้ยงได้ยอดขายที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนบาท

ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาการตรวจนับโมเดลสัตว์น้ำใหม่ๆ ร่วมกับลูกค้า อาทิ กุ้งกล้ามแดงที่เป็นตลาดใหญ่ในจีน และลูกค้าในสิงคโปร์ที่เพาะพันธุ์ปลาสวยงามประมาณ 4 ชนิด ซึ่งจัดซื้อแล้ว 1 ชนิด และพร้อมพัฒนาร่วมกันอีก 3 ชนิด

“สิ่งที่เกษตรกรจะได้รับคือ เมื่อมีข้อมูลที่แม่นยำจะส่งผลให้เกิดจุดเริ่มต้นของเกษตรแม่นยำ สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ อัตรารอดของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น และการติดโรคลดลง”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า แม้บริษัทฯจะอยู่ในตลาดที่ค่อนข้างเล็กก็จริง แต่ทั่วโลกยังคงต้องการเครื่องนับลูกสัตว์น้ำอีกจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งเมื่อนำเทคโนโลยีมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ถัดไปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการเพาะเลี้ยงกุ้ง การให้อาหารสัตว์น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้นและตรวจติดตามได้ และมีมูลค่าตลาดกว่า 4.5 แสนล้านบาททั่วโลก

ส่วนภาพรวมการแข่งขัน เขามองว่า ในตลาดโลกมีจีน เดนมาร์ก ฝรั่งเศส แต่ยังมาทำตลาดในไทยไม่ได้มากนัก และยังไม่มีจุดลงตัวระหว่างราคากับความคุ้มค่าในการใช้งาน จึงถือได้ว่า “อัลจีบา” เป็นเบอร์หนึ่งในประเทศไทยขณะนี้ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงได้ ทั้งนี้เบื้องต้นได้เจรจากับพันธมิตร เพื่อขยายสู่ตลาดต่างประเทศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์

ทุนส่วนตัวสู่การได้รับเงินทุน

ความท้าทายของบริษัทฯ ค่อนข้างชัดเจนว่า เนื่องจากทำสินค้าฮาร์ดแวร์ การขยายตลาดจึงไม่ง่ายเท่ากับการพัฒนาซอฟต์แวร์ อีกทั้งในช่วงแรกมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น จึงต้องนำข้อมูลของลูกค้ารายใหญ่มาอ้างอิง และทดสอบนับด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ จากการเริ่มต้นด้วยเงินทุนของตัวเอง ครอบครัว และนักลงทุนอิสระ จนกระทั่งได้รับเงินสนับสนุนจาก Venture Capital ต่างประเทศ และยังได้รับทุน Open Innovation จากเอ็นไอเอด้วยเช่นกัน ทำให้ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้

สุดท้ายนี้ กันย์ มองว่า การทำให้ธุรกิจสเกลได้และมั่นคง คือ 1.จำหน่ายให้ได้ในปริมาณที่มาก ซึ่งเครื่องนับจำนวนลูกสัตว์น้ำเป็นตัวที่สร้างรายได้พื้นฐานให้กับบริษัท จึงต้องพยายามทำตลาดให้ดี ส่วนความยั่งยืนต้องพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ใต้ราคาที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ปรับปรุงในส่วนของบิซิเนสโมเดล โดยรูปแบบที่กำลังพัฒนาสำหรับสินค้าตัวถัดไปคือ การเช่าใช้บริการ หรือการเข้าถึงข้อมูลบางชนิด โดยจะเป็นรูปแบบของการขายดาต้า หรือเซอร์วิสแพลตฟอร์มมากขึ้น