’เอ็ตด้า’ เปิดแซนด์บ็อกซ์หนุนบริการดิจิทัล

’เอ็ตด้า’ เปิดแซนด์บ็อกซ์หนุนบริการดิจิทัล

“เอ็ตด้า” เปิดสนามทดสอบนวัตกรรม เทคโนโลยี มุ่งส่งเสริมภาครัฐ-ธุรกิจ พัฒนานวัตกรรมก่อนนำไปต่อยอดสู่การใช้งานจริง พร้อมรองรับโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ อย่างมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ตอบโจทย์การใช้งานภาคประชาชน

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า กล่าวว่า ดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “Digital Service Sandbox” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมเทคโนโลยีก่อนนำไปใช้งานจริง

โดยเปิดกว้างให้กับทั้งผู้ให้บริการ รวมถึงผู้ที่ประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ เอกชน สตาร์ทอัพ หรือเซอร์วิสโพรวายเดอร์ต่างๆ

เขากล่าวว่า แนวทางการทำงานมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในด้านต่างๆ โดยสามารถเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรม หรือบริการของตนก่อนการให้บริการจริงภายในสภาพแวดล้อมและการให้บริการที่จำกัด เพื่อให้สามารถรองรับโมเดลธุรกิจรูปใหม่ๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าร่วมทดสอบใน ประกอบด้วย 1. บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด

ขณะที่ 2. มีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีการนำมาใช้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด หรือแตกต่างจากบริการที่มีอยู่แล้ว ตลอดจนการร่วมกันเป็น Co-creation ในลักษณะของพาร์ทเนอร์ช่วยกันคิดหรือเสนอแนะไอเดีย

ทั้งนี้ เพื่อการส่งเสริมนวัตกรรม ร่วมต่อยอดการใช้งานกับหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายการดำเนินงาน รวมถึง สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของนวัตกรรม และผู้ประกอบการที่จะไปใช้บริการ

โดยทางเอ็ตด้า จะมีบทบาทเสมือนเป็นพี่เลี้ยงในการทำหน้าที่ คอยให้คำแนะนำ คำปรึกษาแก่เจ้าของนวัตกรรม ในการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือบริการดิจิทัลให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐาน กฎหมายที่มีอยู่เดิมหรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ฯลฯ

ปัจจุบัน เอ็ตด้ายังเปิดศูนย์ร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ในการช่วยเหลือประชาชน โดยมีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและ (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ต่อต้านข้อมูลข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับเรื่องราวร้องทุกข์และประสานส่งต่อปัญหาต่างๆไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“แซนด์บ็อกซ์ของเอ็ตด้าเกิดขึ้นจากความต้องการของการใช้งานและความพร้อมของเทคโนโลยี ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานที่เหมาะสม และมีโซลูชั่นที่สอดคล้องกับการใช้งานที่ถูกต้องตามกฏระเบียข้อบังคับ ทำให้ผู้ใช้งานคลายความกังวล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับ”