‘รอยัล เอนฟิลด์’ มัดใจสิงห์นักบิด ส่ง ‘สินค้าไลฟ์สไตล์’ บุกอีคอมเมิร์ซ

‘รอยัล เอนฟิลด์’ มัดใจสิงห์นักบิด ส่ง ‘สินค้าไลฟ์สไตล์’ บุกอีคอมเมิร์ซ

ท่ามกลางยุคโควิดที่ไม่มีอะไรแน่นอน การทำธุรกิจก็เช่นกันหากจะโฟกัสรายได้เพียงทางเดียวเห็นทีจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน “รอยัล เอนฟิลด์” เบนเข็มแตกไลน์ธุรกิจหันมาจับตลาด “เครื่องแต่งกาย” ผ่านการวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้อย่าง “ลาซาด้า”

วิมัล ซุมบ์ลี หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก รอยัล เอนฟิลด์ กล่าวว่า ปัจจุบันรอยัล เอนฟิลด์มีจำนวนดีลเลอร์ทั้งหมด 35 รายในเมืองไทย เป็นเบอร์ 3 ของตลาดมอเตอร์ไซค์ขนาดกลางในไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาด 7.8% การที่บริษัทมาตั้งถิ่นฐานในไทยเพราะมองว่าตลาดของไทยมีการเติบโต และบริษัทจะสามารถเติบโตได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้การที่บุกตลาดไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยแต่จะไปทั้งเอเชียแปซิฟิก โดยไทยเป็นเซ็นเตอร์ของเอเชีย

“ลูกค้าของเราชอบการขับขี่ ต้องการความเป็นพรีเมียม ซึ่งการที่รอยัลฯ เป็นแบรนด์ที่เอื้อมถึง ทำให้ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ในตลาดต่างประเทศปี 2562-2563 สูงถึง 96% มียอดขายกว่า 5 หมื่นคันต่อปี แม้จะมีวิกฤติโรคระบาดโควิดตั้งแต่ ม.ค._มิ.ย.ที่ผ่านมา ยอดขายรถรอยัลฯ ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกในไทยประมาณ 1,000 คัน”

ส่วนการที่จะเติบโตอย่างไรนั้น คือ 1.สินค้าของบริษัทสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งราคาและดีไซน์ที่เป็น old school 2.บริษัทมองไปถึงเรื่องการตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์ และเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ขับที่มีความโดดเด่น

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่สำคัญที่สุดสำหรับรอยัล เอนฟิลด์ การขยายเครือข่าย เครื่องแต่งกาย หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับรถจักรยานยนต์ของแท้ พิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของที่จะมอบสินค้า และการบริการชั้นหนึ่งสำหรับการขับขี่รถจักรยานยนต์”

รุกอีคอมเมิร์ซปั้นรายได้

ดังนั้น ด้วยความที่รอยัลฯ เป็นพรีเมียมแบรนด์ จึงต้องการที่จะให้ผู้บริโภครับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ในช่องทางอื่น เพื่อเป็นการผลักดันสู่การพัฒนาโปรดักท์ที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์ไซค์ให้มากขึ้น และเป็นการดึงให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อกับแบรนด์ได้ง่ายขึ้น โดยเสื้อผ้าทั้งหมดจะออกแบบให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภคชาวไทยให้อารมณ์เสมือนการขับขี่ ฉะนั้น คนที่ไม่มีมอเตอร์ไซค์ก็สามารถซื้อสินค้าของแบรนด์ได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ต่อแบรนด์ที่ดีที่อาจจะต่อยอดสู่การใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ในอนาคต

ปั้นสินค้าไลฟ์สไตล์ตอบโจทย์วิถีไบค์เกอร์

ทั้งนี้ รอยัล เอนฟิลด์ แอพพาเรล เริ่มต้นขึ้นในปี 2557 โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวคือ เพื่อสร้างกลุ่มสินค้า และบริการเพื่อการขับขี่รถจักรยานยนต์ให้สมบูรณ์แบบ และยกระดับประสบการณ์การขับขี่รถจักรยานยนต์ ความปลอดภัย โดยมีหลักสามประการ ได้แก่ การป้องกัน ความสบาย และสไตล์

ส่วนการที่บริษัทตัดสินใจนำสินค้าระดับพรีเมียมจากคอลเลคชั่น เช่น เสื้อยืด อุปกรณ์สำหรับขับรถ แก้วมัค อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ และกระเป๋าสำหรับเดินทาง วางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างลาซาด้า (Lazada) วิมัล ให้เหตุผลว่า ช่วงนี้ผู้คนไม่ค่อยออกจากบ้านด้วยสถานการณ์โควิด เด็กยุคใหม่ และเจเนอเรชั่นใหม่มักจะเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่าซื้อขายหน้าร้าน อีกทั้งมีการใช้เวลาอยู่บนโซเชียลมีเดียเยอะมากขึ้น และลาซาด้าก็เป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่มากอันดับต้นๆของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงตอบโจทย์และเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น โดยตามสถิติจำนวนนักช้อปในลาซาด้า สูงถึง 63 ล้านคนต่อเดือน

ส่วนวิธีการดึงดูดลูกค้าจะใช้เทคนิคทางการตลาดวิธีบอกเล่าแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) แพร่กระจายข้อมูลจากคนหนึ่งสู่คนอื่นรอบตัวติดต่อกันไปเรื่อยๆ โดยเน้นที่การบอกต่อจากดีลเลอร์และไรเดอร์ อีกทั้งช่องทางการตลาดที่มีการดีลกับกูเกิล เฟซบุ๊ก ไอจี และเว็บไซต์

‘ออนไลน์’เทคโนฯสู้โควิด

สำหรับการแข่งขันในประเทศไทยทั้งในฝั่งของมอเตอร์ไซค์ และเครื่องแต่งกาย สิ่งที่ทำให้รอยัลฯแตกต่างคือ มอเตอร์ไซค์มีหลายสไตล์โดยเน้นความเป็นคลาสสิก ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะขยายได้เยอะขึ้น ในฝั่งของเครื่องแต่งกายได้ดีไซน์ตามความคิดของไรเดอร์ 100%  ฉะนั้น ไลฟ์สไตล์จะถูกถ่ายทอดลงบนเสื้อผ้า

เซกเมนต์เครื่องแต่งกายอนาคตคาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 70% ของยอดขายทั้งหมด เนื่องจากเริ่มเห็นเทรนด์ที่คนเริ่มหันมาให้ความสนใจและซื้อเครื่องแต่งกายมากขึ้น

“การที่รอยัลฯ พัฒนาโปรดักท์ให้ครบวงจรจะสามารถสร้างจุดยืนให้กับบิซิเนส และเครือข่าย อีกทั้งการก่อตั้งโรงงานขึ้นในประเทศไทยแม้จะมีสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบ แต่ก็มีโอกาสด้วย เพราะบริษัทสามารถเติบโตได้เช่นกัน ฉะนั้น เมื่อเราเน้นออนไลน์มากขึ้นกระบวนการทำงานทั้งหมดจะง่ายขึ้น และสามารถรองรับลูกค้าที่บ้านได้ อาทิ นำรถไปส่งให้ถึงบ้าน บริการช่างที่ซัพพอร์ตถึงบ้าน การกรอกเอกสารไฟแนนซ์ ส่วนโรงงานที่จะทำการก่อตั้งในไทยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ในไตรมาส 3 ปีนี้”

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์สำคัญในช่วงโควิดจะโฟกัสลูกค้าเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะการจำหน่าย บริการหลังการขาย และแน่นอนว่าเมื่อมีวิกฤติแบรนด์จึงพยายามปรับตัวทำ DIY Video อาทิ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การดูแลรักษาโซ่ การดูแลรถ การรักษาความสะอาดรถ

ซึ่งเป็นการใช้เวลากับลูกค้าให้เยอะขึ้น เพราะลูกค้าคือคนสำคัญในการทำให้ธุรกิจเติบโตวัฒนธรรมการมุ่งลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด และหลังจากวิกฤติโควิดทิศทางตลาดจะเน้นดิจิทัลมากขึ้น ทุกอย่างผ่านอีคอมเมิร์ซออนไลน์ทั้งหมด

ทั้งนี้รอยัล เอนฟิลด์ เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ไอเซอร์มอเตอร์ส ลิมิเต็ด ดำเนินธุรกิจโดยมีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 921 ราย และ 638 สตูดิโอสโตร์ 638 แห่งทั้งในประเทศอินเดียและเมืองใหญ่ทั่วโลก