‘ไอบีเอ็ม’ ชู ‘องค์กรเวอร์ชวล’ สูตรสำเร็จธุรกิจหลัง ‘โควิด’ - เปิด 6 ข้อธุรกิจต้องปรับ

‘ไอบีเอ็ม’ ชู ‘องค์กรเวอร์ชวล’ สูตรสำเร็จธุรกิจหลัง ‘โควิด’ - เปิด 6 ข้อธุรกิจต้องปรับ

เป็นเวลาปีกว่าแล้วที่การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลต่อการปิดตัวธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า “โควิด-19 ทำให้คนหลายล้านเรียนรู้วิธีการทำงานรูปแบบใหม่ในชั่วข้ามคืน อีกทั้งยังกระตุ้นให้องค์กรเกือบ 60% ทั่วโลกเร่งเครื่องเดินหน้าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน วันนี้จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าหลายองค์กรจะไม่กลับไปใช้วิธีการทำงานแบบเดิมๆ”

ปฐมา อธิบายว่า “จุดหมายใหม่สำหรับธุรกิจยุคหลังโควิดคือการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม และการจับมือกันเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน องค์กรจะเดินหน้าสู่ความเป็นเวอร์ชวลเต็มตัว โดยมีปัจจัยหกด้านที่จะช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จ”

การสร้างแพลตฟอร์มและอีโคซิสเต็มคู่ค้า การเปิดกว้างคือลักษณะสำคัญขององค์กรยุคเวอร์ชวล องค์กรจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับศักยภาพในการเติบโต โมเดลการสร้างรายได้ และความได้เปรียบในการแข่งขันจากแพลตฟอร์มธุรกิจของตน ขณะที่การจับมือเชิงกลยุทธ์คือแนวทางที่จะช่วยให้องค์กรต่อยอดสร้างนวัตกรรม สเกลธุรกิจ และคว้าโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในโลกที่เชื่อมกันมากขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือยารา หนึ่งในผู้ผลิตปุ๋ยและโซลูชันดิจิทัลฟาร์มมิงรายใหญ่ของโลก ที่สร้างแพลตฟอร์ม Atfarm/FarmX เชื่อมต่อเซ็นเซอร์ไอโอทีและข้อมูลสภาพอากาศแบบเจาะพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถตรวจไนโตรเจนในดิน บริหารจัดการน้ำ คาดการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดต่อพืชผล รวมถึงช่วงเวลาที่ควรเก็บผลผลิต ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่าสามล้านราย นำสู่ระบบเกษตรที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ช่วยประหยัดการใช้น้ำได้ 20% แถมมีการดึงธนาคารและผู้ให้บริการโลจิสติกส์เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มด้วยกัน

ปูทางนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และการใช้ข้อมูล วันนี้วิทยาศาสตร์และการค้นพบต่างๆ มีมูลค่ารวม 1,600 ล้านล้านบาทจากมูลค่าเศรษฐกิจโลก 2,700 ล้านล้านบาท การค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการเปิดกว้างช่วยเร่งการเข้าถึงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างเอไอ ไฮบริดคลาวด์ อินเทอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ (IoT) และควอนตัมคอมพิวติ้ง ที่ทำให้การประมวลผลในธุรกิจและอุตสาหกรรมเร็วขึ้นและเป็นไปได้แบบเรียลไทม์

คลีฟแลนด์คลินิก ผู้นำด้านการรักษาหัวใจอันดับหนึ่ง คือตัวอย่างของการจับมือระหว่างหน่วยงานเฮลธ์แคร์กับไอที นำพลังประมวลผลขั้นสูงอย่างควอนตัมคอมพิวติง รวมถึงเอไอ มาช่วยเร่งการวิจัยและจำลองโมเดลด้านพันธุกรรม การค้นพบยา หรือแม้แต่การวิจัยตัวยาสำหรับโควิด

เวิร์คโฟล์วการทำงานอัจฉริยะ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอไอและออโตเมชันได้กลายเป็นแกนหลักขององค์กร และถูกนำมาใช้กับกระบวนการสำคัญอย่างการผลิต ระบบซัพพลายเชน หรือแม้แต่การบริการลูกค้า ตัวอย่างเช่น ระบบ Procure-to-Pay ที่ใช้ระบบสัญญาอัตโนมัติบนบล็อกเชนในการแจ้งเตือนการชำระเงินเมื่อมีทริกเกอร์จากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นต้น หรือการสรรหาทาเลนท์

ที่วันนี้ระบบเอไอจะคัดกรองโปรไฟล์ผู้สมัครให้ล่วงหน้า พร้อมใส่คำอธิบายประกอบ เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์มีข้อมูลที่ครอบคลุมสำหรับการสัมภาษณ์งาน หรือ we.trade ที่ดึงอีโคซิสเต็มของธนาคาร ผู้ซื้อ ผู้ขาย บริษัทประกัน และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เข้ามาอยู่ในเวิร์คโฟลว์อัจฉริยะด้วยกัน เพื่อสร้างความโปร่งใสและความรวดเร็วให้กับการค้าระหว่างประเทศ

พลังแห่งความยั่งยืน ผู้บริโภคเก้าใน 10 คนที่สำรวจยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนมุมมองในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมของตน โดยผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเพิ่ม หรือแม้แต่ยอมได้เงินเดือนน้อยลง เพื่อแลกกับอนาคตที่ยั่งยืน ขณะที่ 55% ของผู้บริโภคที่สำรวจยังระบุว่าประเด็นด้านความยั่งยืนคือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกแบรนด์ โดยแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบด้านการเงิน แต่ผู้บริโภค 54% ก็ยังพร้อมที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นให้กับแบรนด์ที่แสดงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ที่ผ่านมาประเด็นเกี่ยวกับสภาพอากาศ สุขภาพ ความปลอดภัย และความเท่าเทียม เป็นปัญหาท้าทายของธุรกิจ และการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจะมีผลต่อการตัดสินอนาคตของธุรกิจ

ผสานพลังมนุษย์-เทคโนโลยี คุณลักษณะที่เห็นได้ชัดขององค์กรเวอร์ชวล คือรูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างคนและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อไม่ได้ยึดติดกับสถานที่ โอกาสในการเข้าถึงทักษะและความสามารถต่างๆ ก็ทำได้จากทุกที่ทั่วโลก เรื่องนี้อาจเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสสำหรับคน กล่าวคือ บุคลากรที่มีทักษะหายากก็อาจทำงานให้กับองค์กรจากอีกมุมโลกได้ แต่ขณะเดียวกัน คนจากทั่วโลกก็สามารถเข้าถึงและเรียนรู้ทักษะหายากต่างๆ ได้ง่ายขึ้น องค์กรเวอร์ชวลจะเป็นตัวเร่งการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รวมถึงการสนับสนุนความหลากหลายในองค์กร

นอกจากนี้ยังจะเกิดการทำงานแบบไฮบริด ด้วยเครื่องมือใหม่ การเรียนรู้ทักษะใหม่ แนวทางใหม่ที่คนและบ็อตจะต้องทำงานร่วมกัน หรือแม้แต่การนำทีมด้วยสไตล์ที่ต่างออกไป

ไฮบริดคลาวด์แบบเปิดที่ปลอดภัย ความยืดหยุ่นคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัว คือคุณสมบัติสำคัญขององค์กรเวอร์ชวล โดยมีสถาปัตยกรรมแบบเปิดที่ปลอดภัยในรูปแบบไฮบริดคลาวด์เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ไม่ว่าข้อมูลจะอยู่ที่ไหน ระบบไฮบริดคลาวด์จะทำให้องค์กรเชื่อมต่อกับคู่ค้าได้อย่างเปิดกว้าง และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงสุดเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมได้ต่อไป

ดังตัวอย่างของชลัมเบอร์เจอร์ ผู้ให้บริการโซลูชันดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานโลก ที่สร้างแพลตฟอร์ม DELFI บนสภาพแวดล้อมคลาวด์แบบเปิด เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องไซโลและเปิดให้ลูกค้าสามารถเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานของเอไอ อนาไลติกส์ หรือออโตเมชันได้

ปฐมา ทิ้งท้ายว่า “แม้ว่าโลกจะฟื้นตัวจากโควิด แต่ก็จะไม่มีทางกลับไปเป็นโลกใบเดิมก่อนการแพร่ระบาด การหยุดชะงักของธุรกิจไม่ว่าจะเกิดจากภัยธรรมชาติ การโจมตีไซเบอร์ หรือแม้แต่การแพร่ระบาดอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้”

“ต่อจากนี้ไป พลังความร่วมมือของอีโคซิสเต็มและเครือข่ายทางธุรกิจ การนำเอไอและออโตเมชันมาใช้เพื่อสร้างเวิร์คโฟล์วอัจฉริยะ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวผลักดันสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน จึงเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรเวอร์ชวลในอนาคต”