'อีเอสอาร์ไอ’ ชี้ ‘ข้อมูลแผนที่’ อาวุธลับเพิ่มโอกาสธุรกิจ

'อีเอสอาร์ไอ’ ชี้ ‘ข้อมูลแผนที่’ อาวุธลับเพิ่มโอกาสธุรกิจ

การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงความต้องการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและความต้องการในโครงสร้างก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างกว้างขวาง

ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท อีเอสอาร์ไอ(ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูล “ข้อมูลแผนที่เชิงลึก (Location Intelligence)” เข้าไปมีบทบาทคู่ขนานกับการนำข้อมูลทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการก่อสร้าง หรือคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการกระจายตัวของประชาชนที่เกิดขึ้น

“ปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นนี้เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมตลาดข้อมูลแผนที่ขยายตัวขึ้นอย่างมาก สอดคล้องกับรายงานของฟอร์บส ที่พบว่า 53% ของผู้ประกอบการมองข้อมูลแผนที่เชิงลึกเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์”

คาดตลาดโต15%ต่อปี

มาร์เก็ต อนาไลซิส รีพอร์ท รายงานตลาด Location Intelligence ทั่วโลกในปี 2562 ว่ามีมูลค่า 10,600 ล้านดอลลาร์ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 15.2% ในช่วงปี 2563 – 2570

รายงานผลวิเคราะห์ยังกล่าวถึง ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการนำ Location Intelligence ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานธุรกิจต่างๆ อาทิ การบูรณาการข้อมูลโลเคชั่นกับข้อมูลทางธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ และการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ( Business Continuity Management)

รวมทั้งยังสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า (Situation management) เพื่อลดความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการและมอนิเตอร์สถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ อาทิ ภัยพิบัติ มลพิษ หรือสถานการณ์การระบาดของโรคในปัจจุบัน

นอกจากนี้การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีไอโอทีในหลายภาคธุรกิจ ยังผลักดันให้เกิดความต้องการการใช้งาน Location Intelligence ร่วมกับการวิเคราะห์อุปกรณ์ไอโอทีในรูปแบบของการวิเคราะห์ประมวลผลเชิงลึก (Geospatial Analytic) อาทิ ที่ตั้งอุปกรณ์ไอโอทีใกล้-ไกลพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ทำการคาดการณ์อายุการใช้งานและวางแผนการซ่อมบำรุง ป้องกันการเสียหาย เพื่อส่งผลที่ดีที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจภาพรวม

เธอกล่าวว่า การใช้ข้อมูลแผนที่เชิงลึก ควบคู่กับการใช้บิ๊กดาต้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร ช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ เห็นมุมมองทางธุรกิจได้ชัดเจน นับเป็นกุญแจการเดินเกมกลยุทธ์ทางธุรกิจในยุคที่ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจผันผวนและพลิกเปลี่ยนรวดเร็ว

นอกจากนี้ สามารถนำไปใช้ในการทำงาน Day-to-Day Operation รวมทั้งภารกิจที่สำคัญ (Mission Critical) อาทิ เหตุการณ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยภาครัฐบาลได้นจีไอเอสไปใช้ ในการบริหารจัดการและมอนิเตอร์สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ

ข้อมูลเรียลไทม์หนุนธุรกิจ

สำหรับอีเอสอาร์ไอ ทิศทางธุรกิจของในปี 2564 นี้ มุ่งพัฒนาโซลูชั่นเรือธง ผ่านเทคโนโลยีจีไอไอส เพื่อหนุน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ ธุรกิจค้าปลีก เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เพื่อเป้าหมายในการแก้เพนพอยต์แต่ละอุตสาหกรรม

เธอกล่าวว่า ค้าปลีก ด้วยการนําข้อมูลเชิงตําแหน่งและพื้นที่มาใช้ในการวิเคราะห์ และนําเสนอมุมมองใหม่ๆ ไปสู่การตัดสินใจทางกลยุทธ์ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนสูงสุด สามารถกำหนดขอบเขตให้บริการ พื้นที่ครอบคลุม หรือพื้นที่ทับซ้อน และรูปแบบการให้บริการ

ด้าน สมาร์ทซิตี้ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจําเป็นต้องมีข้อมูลเชิงตําแหน่ง (Location-based) เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางผัง ออกแบบ และวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม (AEC) โซลูชั่นที่นำเอาความสามารถของการทำงานเชิงพื้นที่ ประยุกต์ใช้สำหรับงานด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรมและการก่อสร้าง ช่วยลดความซ้ำซ้อนและอำนวยความสะดวกในการทำงาน เริ่มตั้งแต่การออกแบบ วางผัง และการจำลองอาคารในรูปแบบ 3 มิติ รวมถึงระบบวิศวกรรมการซ่อมบำรุง

นอกจากการให้บริการดังกล่าวให้กับลูกค้าในประเทศซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักแล้ว อีเอสอาร์ไอยังมีเป้าหมายในการขยายบริการ ข้อมูลแผนที่ไปยังตลาดต่างประเทศลาวและกัมพูชาภายในปี 2564 นี้ โดยมั่นใจว่าด้วยพลังของบิ๊กดาต้าซึ่งเป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์จะเป็นเครื่องมือที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนทุกธุรกิจของลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม